จากตอนที่แล้ว ผมเขียนถึงความไม่พอใจของชนชั้นกลางต่อการบริหารประเทศที่ไม่โปร่งใส่ เล่นพรรคเล่นพวก และไม่มีประสิทธิภาพก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ปัญหาโกงบ้านเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ "ชนชั้นปกครอง" แต่อีกปัญหาหนึ่งคือ ประชาชนคนชั้นกลางเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาควรจะปกครองตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่อยู่ใต้กำมือของ "ชนชั้นปกครอง" (ซึ่งในสายตาของพวกเขาบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ)
ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปถึงที่ปรึกษาชาวอเมริกันขอรัฐบาลสยาม คือ ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre) ทรงยอมรับว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 แล้ว ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
"กระทั่งถึงปลายรัชกาล (ที่ 5) ก็มีกลุ่มคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งเริ่มวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในหลายเรื่องแต่ไม่เปิดเผย ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุดไป (รัชกาลที่ 6) เรื่องต่างๆ เลวร้ายลงมาก ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องบอกท่าน เพราะท่านรู้ดีพอแล้ว กษัตริย์ได้กลายเป็นบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากใครก็ตามที่สามารถพูดกล่อมคนโปรด (ของกษัตริย์) ได้ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสงสัยว่ามีการฉ้อฉลหรือเลือกที่รักมักที่ชังไม่มากก็น้อย โชคดีที่พวกเจ้านายยังคงได้รับความเคารพในฐานะคนที่ซื่อสัตย์ สิ่งที่น่าเสียใจมากก็คือราชสำนักถูกรังเกียจอย่างมากในช่วงปีหลังๆ และก็จวนจะถูกล้อเลียนอยู่แล้ว การกำเนิดของสื่อเสรีที่ทำให้รุนแรงขึ้นยังมีอีกมาก ตำแหน่งกษัตริย์กลายเป็นความยากลำบากอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทางความคิดเห็นในประเทศนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสมัยแห่งการปกครองแบบเผด็จการกำลังหมดลงแล้ว ตำแหน่งกษัตริย์จะต้องมั่นคงยิ่งขึ้นหากราชวงศ์นี้จะคงอยู่ต่อไป ต้องมีการรับประกันบางอย่างไม่ให้มีกษัตริย์ที่ไม่ฉลาด (ขึ้นมาครองราชย์)" (อ้างอิง 3)
จะเห็นได้ว่าปัญหาความเสื่อมของราชสำนักมีมานานแล้ว และในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงตระหนักถึง แต่ก็ยังทรงเชื่อมั่นในพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างที่ตรัสว่า "เจ้านายยังคงได้รับความเคารพในฐานะคนที่ซื่อสัตย์" โดยที่ทรงไม่ตระหนักว่าพฤติกรรมส่วนตัวและการบริหารประเทศของพระบรมวงศานุวงศ์คือสาเหตุหนึ่งของความไม่พอใจของประชาชน
แต่อย่างน้อยทรงตระหนักว่า "สมัยแห่งการปกครองแบบเผด็จการกำลังหมดลงแล้ว" จึงทรงส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ ฟรานซิส บี. แซร์ ได้อ่านและแสดงความเห็นพร้อมกับคำถามของพระองค์เกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
ในร่างนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงถาม ฟรานซิส บี. แซร์ ว่า "สักวันหนึ่งประเทศนี้จะต้องมีระบบรัฐสภา แต่รัฐบาลรัฐสภาแบบแองโกล-แซกซัน (ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษและอเมริกัน) จะเหมาะกับคนตะวันออกจริงหรือ?"
และคำถามที่ 4 ทรงถามว่า "ประเทศนี้พร้อมที่จะมีรัฐบาลแบบตัวแทน (คือการเลือกผู้แทนราษฎรมาทำงานเป็นรัฐบาล) แล้วหรือยัง? โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้ามีข้อสงสัยในคำถามที่ 3 สำหรับคำถามที่ 4 ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าขอเน้นว่าไม่"
ในขณะที่ในหลวงทรงสงสัยว่าระบบรัฐสภาจะเหมาะกับประเทศของพระองค์หรือไม่? และทรงตอบเองเลยว่า "ไม่พร้อม" ที่ชาวไทยจะปกครองกันเองด้วยระบบการเลือกตัวแทน เวลานั้นประชาชน (คนชั้นกลาง) ก็เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องระบอบรัฐสภากันแล้ว
คนในยุคนั้นไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะรู้จักระบอบรัฐสภากันเอาเมื่อหลังยึดอำนาจ 2475 แล้ว แต่มีความต้องการกันมานานพอสมควร เช่น ในหนังสือสยามรีวิวรายสัปดาห์ ฉบับที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 มีภาพการ์ตูนล้อการเมืองเรื่อง "ความฝันของข้าพเจ้า" เป็นภาพชายหญิงคู่รักสนทนากัน ฝ่ายชายชื่อพลเมือง ฝ่ายหญิงชื่อสภาราษฎร
ฝ่ายชายบอกกับฝ่ายหญิงว่า "ฉันได้ลองพูดกับคุณพ่อเธอแล้ว ไม่เห็นว่าท่านว่ากระไร เปนแค่สั่นศีรษะ"
ฝ่ายหญิงตอบว่า "ถ้าเช่นนั้น มิเปนอันว่า หมดหวังในตัวดิฉันหรือคะ?"
ภาพนี้มีความหมายว่า 'พลเมือง' ต้องการสภาราษฎร แต่ 'บิดา' หรือ 'ผู้ปกครอง' ไม่อนุญาต (อ้างอิง 1)
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการวิจารณ์ 'นาย' โดยประชาชนชนชั้นกลาง แค่สองเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลในหลวงรัชกาลที่ 7 มีปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง และยังมีความคาดหวังของคนชั้นกลางให้รัฐบาลมอบอำนาจให้ประชาชนปกครองกันเองด้วย
นอกจากการ์ตูนล้อการเมือง ยังมีบทความในทำนองเดียวกันด้วย เช่น บทความชื่อ "ราษฎรตื่นแล้ว” ในหนังสือพิมพ์สยามรีวิวฉบับประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2470 ในบทความวิชาการเรื่อง "งานวิจัยการ์ตูนการเมืองสมัยรัชกาลที่ 7" ของสถาบันพระปกเกล้า ได้สรุปมีสาระสำคัญบอทบทความนี้เอาไว้ว่า "เรียกร้องให้มีรัฐสภา แต่มีข้อความบางตอนที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นการยั่วยุให้พลเมืองคิดกบฏ เช่น มีการยกตัวอย่างเรื่องการปฎิวัติในประเทศรัสเซีย ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เลือดกับเหล็ก” เป็นการบรรยายถึงนัยยะความรุนแรงถึงขั้นมีการลอบปลงพระชนม์ประมุขของประเทศ บทความเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่รัฐบาลมาก ผลคือมีการสอบสวนหนังสือพิมพ์สยามรีวิวเกี่ยวกับตัวผู้เขียนและเจ้าของหนังสือพิมพ์ เพื่อมิให้ข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แพร่หลายไปในหมู่ประชาชน" (อ้างอิง 2)
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กังวลกับการเคลื่อนไหวแบบ 'บอลเชวิก' หรือขบวนการปฏิวัติรัสเซียที่อิงกับแนวคิดคอมมิวนิสต์อย่างมาก และเราจะเห็นว่าแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ จะถูกกล่าวหาว่าเป็นบอลเชวิกและคอมมิวนิสต์หลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งคนที่กล่าวหาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั่นเอง
อีกตัวอย่างของเรื่องนี้ก็คือการ์ตูนในสยามรีวิวรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2470 เขียนภาพในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงแสดงท่าทางห้ามสตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียต โดยมีคำบรรยายภาพว่า "พวกแกอย่าเข้ามาอีก ฉันเกลียดนัก" (อ้างอิง 1)
เราจะเห็นว่า แนวคิด 'ล้มเจ้า' แพร่หลายในหมู่คนชั้นกลางและปัญญาชนอยู่หลายปีแล้วก่อนที่จะมี 2475 เสียอีก
ความต้องการล้มเจ้ามาจากไหน? บทความเรื่อง "งานวิจัยการ์ตูนการเมืองสมัยรัชกาลที่ 7" น่าจะตอบได้ชัดเจนกว่าที่จะให้ผมตอบ เพราะมันจะต้องอาศัยการอ้างอิงที่ซับซ้อน ดังนั้นผมจะขอยกข้อสังเกตจากบทความดังกล่าวมาให้อ่านกันว่า "เพราะอะไรถึงต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง (หรือล้มเจ้า)"
"รัฐบาลใหม่ (รัชกาลที่ 7) ถูกมองว่าสนใจที่จะควบคุมพฤติกรรมของข้าราชการไม่มากไปกว่ารัฐบาลที่แล้ว (รัชกาลที่ 6) ดังนั้นกลางปี พ.ศ. 2469 ปัญญาชนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวในราชสำนักก็ถูกประณามอย่างเปิดเผยรุนแรงอีกครั้งในฐานะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อการสถาปนาความยุติธรรม ความเท่าเทียม และความสามัคคีของคนในชาติ ยิ่งกว่านั้นยังมีนักเขียนจำนวนมากขู่ว่าอาจเกิดปฏิวัติจากคนชั้นล่าง ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงหลังปี พ.ศ. 2469 กองบรรณาธิการปากกาไทย ตีพิมพ์ชุดบทความเกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซีย เพื่อชี้นำให้ราชสำนักให้ปฏิรูปทางการปกครอง บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยโต้ตอบการกล่าวหาความชั่วร้ายของพรรคบอลเชวิค นักเขียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ความคิดแบบบอลเชวิคที่กำลังแพร่ออกไปทั่วโลกมิได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมดและเพิ่มเติมว่า ประชาชนจะเชื่อลัทธิใดๆก็ตามที่ให้ความยุติธรรมและความสุขมากกว่าระบอบการปกครองปัจจุบัน นักเขียนอีกคนเห็นว่าความไม่เข้าใจของตนที่มีต่อแนวคิดของความเสมอภาค ตามที่เขาและเพื่อนเข้าใจว่าดี แต่กลับเป็นความชั่วร้ายที่สืบทอดกันมาโดยคนที่เห็นแก่ประโยชน์ของชนชั้นสูงซึ่งคิดว่า “ตนเองมีสิทธิ์ในการเหยียบอยู่บนหัวของเพื่อนร่วมชาติ”" (อ้างอิง 2)
นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่ราษฎร ในช่วงหลายปีก่อนที่คณะคนหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'คณะราษฎร' จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เขียนมาถึงขนาดนี้แล้วควรจะพอได้แล้ว เพราะยาวเกินไป ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นหนังสือ "ประวัติศาสตร์ประชาชนเมื่อปี 2475" ซึ่งเป็นหนังสือที่น่าจะรุ่ง ผมไม่หวงชื่อถ้าใครจะเขียนมันขึ้นมา
เป็นเรื่องที่ดีเสียอีกที่เราจะรู้ว่า 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นแค่การยึดอำนาจของคณะราษฎร แต่มันเป็นผลมาจากรัฐบาลที่ไม่ดี มาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลที่ไม่ดี
ส่วนในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพยายามที่จะแก้ปัญหาต่างๆ นานา ทั้งเรื่องใหญ่ๆ อย่างการคดโกงในรัฐบาล ไปจนถึงเรื่องใหญ่มากๆ อย่างการร่างรัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง
ความคิดที่จะมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนสยามของในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ยังมี "ปัญหา" บางอย่าง ปัญหานั้นสะท้อนมาจากทัศนะของพระองค์ต่อประชาชนของพระองค์เอง นั่นคือทรงไม่เชื่อว่าคนไทยจะเหมาะกับระบบรัฐสภาและไม่พร้อมกับรัฐบาลที่เลือกมาจากตัวแทนประชาชน
ดังนั้น ในหลวงจึงทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่สำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นมาเสียก่อนในปี 2475
ป.ล. แต่หลังจากปฏิวัติ 2475 แล้วเกิดเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง ปรากฏว่า 'รัฐบาลของราษฎร' กลับสั่งปิดหนังสือพิมพ์และเซ็นเซอร์อย่างหนัก รุนแรงเสียยิ่งกว่ายุคของ 'รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว' เสียอีก หลังจากนั้น แถมปัญญาชนคนชั้นกลางต้องอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะกลัวว่าผูัมีอำนาจในบ้านเมืองจะเล่นงาน ซึ่งต่างจากยุคก่อนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะในยุครัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว แม้จะมีการปิดหนังสือพิมพ์เหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับคุกคามเอาชีวิตปัญญาชน และเซ็นเซอร์จนพูดอะไรไม่ได้ ตรงกันข้าม ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงตอบโต้กับพวกปัญญาชนด้วยงานเขียนไม่ใช่ด้วยการจับกุมหรือปิดสำนักงานด้วยซ้ำ
นี่คือสภาพของราษฎรชนชั้นกลางที่แตกต่างกันในยุคก่อนและหลัง 2475
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการสำนักข่าว The Better
อ้างอิง
- ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, "ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย (พ.ศ. 2465-2475)", วารสารศิลปกรรมศาสตร์วิชาการวิจัยและงานสร้างสรรค์, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2557.
- "งานวิจัยการ์ตูนการเมืองสมัยรัชกาลที่ 7", สถาบันพระปกเกล้า, มกราคม 02, 2562
- Prajadhipok, "Draft Constitution of King Prajadhipok (1926)/Part 1", (1926)