ตอนที่ 1 ของการค้นหาความจริงอีกด้านของการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ทำไมถึงต้องเขียนถึง '2475'? บางคนอาจจะถามแบบนี้ในใจ เพราะเรื่องมันก็ผ่านมาสามสี่ชั่วคนแล้ว
สาเหตุก็เพราะตอนนี้มีวิวาทะเกี่ยวกับภาพยนต์การ์ตูน '2475 Dawn of Revolution' ที่อธิบายการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีนั้น ด้วยมุมมองของฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจสถาบันพระมหากษัตริย์ และโจมตีผู้ก่อการ คือ คณะราษฎร
เรื่องนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านกรณี 2475 จึงทำให้ผมต้องเขียนเรื่องนี้ เพื่อจะช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นภาพชัดขึ้นว่า "ทำไมต้องมี 2475?"
"ทำไมต้องมี 2475?" ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องมี แต่หมายความว่าสถานการณ์อะไรที่ทำให้มันเกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดขึ้นเพราะอะไร? มีคำตอบให้กับคำถามนี้มากมาย ขึ้นอยู่กับว่ามองเหตุการณ์ด้วย 'แว่น' แบบไหน?
บางคนใส่แว่นฝ่ายซ้าย ก็อาจจะมองเห็นว่า 2475 เกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่ต้องการถูกกดขี่จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก และนี่คือการปลดแอก
คนใส่แว่นฝ่ายขวา อาจจะมองว่า 2475 คือการชิงปล้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่พระองค์เตรียมจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และนี่คือแผนการของพวก 'บอลเชวิก'
คนใส่แว่นนักเศรษฐศาสตร์มองว่า 2475 ต้องมี เพราะผู้คนทนไม่ไหวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และโทษรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ว่าไม่มีประสิทธิภาพ
ส่วนคนใส่แว่นนักรัฐศาสตร์มองว่า 2475 เกิดขึ้นเพราะการชิงโอกาสของคนที่อยากมีอำนาจเพื่อเปลี่ยนโลกตามที่ตัวเองต้องการ
มีร้อยคนก็มองได้ร้อยมุมมอง ดังนั้น ผมจะไม่มองด้วยแว่นของใครทั้งสิ้น เพราะใส่ไปก็ไม่มีทางมองเหมือนชาวบ้านเขา ผมจะอธิบายการเกิดขึ้นของ 2475 ด้วยวิธีการของผมเอง นั่นคือการสิ่งที่เรียกว่า "มุมมองประวัติศาสตร์ประชาชน"
ภาษาอังกฤษเรียกว่า People's history
นั่นคือมองเหตุการณ์ผ่านสายตาคนธรรมดา คือพลเมือง ราษฎร คนชั้นกลาง ตาสีตาสา ไม่ได้อธิบายประวัติศาสตร์ที่เอา 'ผู้นำ' เป็นศูนย์กลาง
เพราะถ้ามองจากผู้นำไม่ว่าจะฝ่ายไหน เราจะแค่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง (เอ็งผิด ข้าถูก) แต่ถ้ามองจากคนกลางๆ อย่างพลเมือง มันจะได้ภาพที่แตกต่างออกไป
ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือพิมพ์ยุคเก่า (ส่วนหนึ่งเพราะทำงานอาชีพหลักเป็นนักข่าว และมีอาชีพรองเป็นนักเขียนหนังสือประวัติศาสตร์) และยังชอบหนังสือยุคเก่าๆ โดยเฉพาะประวัติของผู้คนในยุค Modern Siam ซึ่งบรรยายให้รู้ว่าคนยุครัชกาลที่ 6-7 เขาอยู่ เขาคิด เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร
ผมไม่ชอบอ่านประวัติศาสตร์แบบทางการที่เล่าเฉพาะวีรกรรมและวีรเวรของ 'ผู้นำ' ไม่กี่คน เช่น 2475 ก็จะเล่าเฉพาะมุมมองของในหลวงรัชกาลที่ 7 หรือมุมมองของคณะราษฎรแค่ไม่กี่คน
แต่เพื่อให้ภาพชัดเจน ควรจะรู้ว่าประชาชนในสมัยนั้นเขาคิดกันอย่างไรกับรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพราะผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะราบรื่นขนาดนั้นไม่ได้ (อย่าน้อยก็ในปีแรกกับปีที่สามเป็นต้นไป) ถ้า "ชนชั้นกลาง" ไม่สนับสนุน หรืออย่างน้อยไม่ลุกฮือต่อต้าน
แต่คนชั้นกลางพวกนี้ไม่ได้ต่อต้านอะไร แม้จะไม่สนับสนุนอย่างออกนอกหน้าต่อการปฏิวัติ
ชนชั้นกลางในยุคนั้นก็คือพ่อค้าที่ไม่รวยนัก ข้าราชการชั้นผู้น้อย ทหารยศต่ำๆ ครูที่พออยู่พอกินแบบเดือนชนเดือน ไปจนถึงเสมียนที่หาเช้ากินค่ำ และคนทำงานหนังสือและงานข่าว
คนเหล่านี้ รู้หนังสือและติดตามความเป็นไปของโลก เป็นพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวได้ถ้าผลประโยชน์ของพวกเขาเสียหาย ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ของชาติที่เป็นกสิกรที่อ่านไม่ค่อยออกเขียนได้ไม่ค่อยได้ แถมไม่รู้เรื่องการเมือง อย่างที่เล่ากันว่าพอปฏิวัติ 2475 แล้ว ชาวบ้านถามกันใหญ่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ หรือไง?"
แต่คนชั้นกลางรู้ว่าการปกครองคืออะไร พวกเขารู้ว่าการปกครองยุคนั้นมีปัญหา ไม่ใช่แค่รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 7) แต่มีปัญหามาตั้งแต่รัชกาลที่ 6
ยังไม่นับปัญหาปากท้อง เพราะโลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ Great Depression ในทศวรรษที่ 1930 จนรัฐบาลต้องปลดข้าราชการครั้งใหญ่ เพื่อรักษางบดุลการใช้จ่าย ข้าราชการที่ถูกปลด (หรือที่เรียกว่า "ถูกดุลย์") มักจะเป็นข้าราชการระดับชนชั้นกลาง
อย่างที่นักเขียนคนหนึ่งในยุคนั้นเสียดสีว่า “มิใช่เจตนาของรัฐบาลในการดุลยภาพแต่เป็นการดุลยพวก” (อ้างอิง 2) คำกล่าวนี้สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ปลดคนของตัวเองเพื่อรักษาดุลยภาพของงบประมาณแผ่นดิน แต่รักษาพวกของตัวเองไว้
ดังนั้น ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ควรจะทราบก่อนว่าผู้คนจำนวนหนึ่งในบ้านเมืองไม่พอใจ "ชนชั้นปกครอง" ซึ่งไม่ได้มีแค่ในหลวงรัชกาลที่ 7 แต่มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีอำนาจปกครองประเทศ ขุนนางชั้นสูง นายทุนทั้งจีนและไทยที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
"ชนชั้นปกครอง" เหล่านี้แหละที่ถูกมองว่าลอยตัวอยู่เหนือปัญหา หรือถูกมองว่าเป็นตัวการที่ทำให้บ้านเมืองประสบปัญหาด้วยซ้ำ
เพื่อจะให้เข้าใจความรู้สึกของคนยุคนั้น ผมจะยกตัวอย่างการวิจารณ์ของสื่อในยุคนั้น ข้อมูลเหล่านี้มาจากงานวิชาการเรื่อง "ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย (พ.ศ. 2465-2475)" ของ ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (นักวิชาการนักวิชาการ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) และ "งานวิจัยการ์ตูนการเมืองสมัยรัชกาลที่ 7" ของสถาบันพระปกเกล้า
การ์ตูนล้อการเมืองที่วาดโดย 'แก่นเพ็ชร' (ชื่อจริงว่า เสม สุมานันท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง) ตอนหนึ่งเขียนภาพของตัวเขาเองกำลังไว้พระ พร้อมอธิษฐานว่า "โปรดเข้าฝันให้พบนายดีๆ เถอะเจ้าประคุณ" แต่ก็มีเสียงออกมาจากพระพุทธรูปบอกเขาว่า "เจ้าจงระวัง! นายเดี๋ยวนี้โกงโดยมาก" (อ้างอิง 1)
การ์ตูนของ 'แก่นเพ็ชร' ตอนนี้ถือว่าเบาแล้ว เพราะเขาขึ้นชื่อเรื่องวิจารณ์ 'นาย' หนักมาก แต่ตอนนี้มันสะท้อนว่าข้าราชการหรือผู้ปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 คอร์รัปชั่นกันมาก ยังไม่นับข้อครหาที่รัชกาลนี้มีการใช้พระบรมวงศานุวงศ์มากกว่าข้าราชการที่มีพื้นเพเป็นสามัญชน
ตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องนี้คือกรณีที่หนังสือพิมพ์ตีแผ่เรื่องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการสำคัญออกไป 7 คน แล้วแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จนมีการกล่าวหาว่าพระบรมวงศานุวงศ์ในสยามแบ่งกระทรวงบริหารกันเองเพื่อเจ้านายและเกียรติยศ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตร (ซึ่งมีพื้นเพมาจากตระกูลชนชั้นสูง) ใช้อำนาจในทางที่ผิดเรื่องการโอนที่ดินและไม้ซุงจำนวนมาก จึงถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากหนังสือพิมพ์ และหนังสือพิมพ์ยังกล่าวหาว่า เจ้าพระยาพลเทพและบุตรชายทุจริตเงินของรัฐบาลมานานหลายปี ทำให้เจ้าพระยายมราช ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ของกรุงเทพฯ 5 ฉบับ ในปี พ.ศ. 2469 ซึ่งในการพิจารณคดีนั้นสื่อรายงานว่าเป็น "สัญลักษณ์ของความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับบรรดานักหนังสือพิมพ์รักชาติซึ่งมีผลประโยชน์ของชาวไทยอยู่เต็มหัวใจ" (อ้างอิง 2)
นักหนังสือพิมพ์ยังประกาศว่า "แต่ในขณะที่ตนยังไม่เคยคิดวางแผนที่จะแบ่งแยกผู้ปกครองประเทศ พวกตนกลับรู้สึกเกลียดบรรดาขุนนางที่ใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมล่อลวงประชาชนและพระมหากษัตริย์ด้วยแผนการร้ายๆ ขอให้ดูก็แล้วกันว่าพฤติกรรมของตำรวจนั้นเหมาะสมหรือน่านับถือหรือไม่" และประกาศกร้าวว่า "แน่นอนถ้ามีทางเดียวที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อชาติได้โดยมีผลตอบแทน คือ การเข้าคุก หนังสือพิมพ์ปากกาไทยก็จะทำ และหากการกระทำแบบนี้แล้วถูกจับ พวกที่เหลืออยู่ก็จะรับช่วงต่อจนกว่าขุนนางกังฉิน หรือไม่ก็พวกเราจะถูกกำจัดให้หมดไป"
โปรดสังเกตว่านักหนังสือพิมพ์ผู้นี้คิดว่าพระมหากษัตริย์ก็ทรงตกเป็นเหยื่อของพวกข้าราชการเหมือนประชาชนทั่วไป อย่างที่เขาบอกว่า "บรรดาขุนนางที่ใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมล่อลวงประชาชนและพระมหากษัตริย์ด้วยแผนการร้ายๆ"
ปรากฏว่าเจ้าของและบรรณาธิการถูกพระเจ้าแผ่นดินเรียกตัวไปประชุมปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2469 ซึ่งแสดงว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงรับฟังเสียงของประชาชน แต่ปัญหาอาจอยู่ที่ "ผู้อยู่รอบตัวพระมหากษัตริย์"
เช่น หนังสือพิมพ์สยามรีวิวแฉว่า "คนที่เจ้านายโปรดปรานนั้นหาได้เป็นคนดีทั้งหมดไม่ คนชั่วก็ทรงโปรดเหมือนกัน เพราะหลักวิธีโปรดของเจ้าใหญ่นายโตนั้น ท่านไม่ค่อยจะมีหลักเกณฑ์แน่นอน อาจจะทรงโปรดเพราะผู้นั้นเข้าใจ “ยอ” ก็ได้ ฤาอาจทรงโปรดเพราะ ....ก็ได้ คุณหลวงบุณยวิทวิจารณ์ ข้าราชการกรมรถไฟ โกงเงินไป 12,000 บาท นั่นเขาว่าเป็นคนโปรดของกรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ส่วนนายพันตรีหลวงพิษณุแสน โกงเงินไปอีก 6,000 บาท นัยว่าเป็นคนโปรดของนายพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ อธิบดีกรมตำรวจ" (อ้างอิง 2)
โดยเฉพาะกรณีของ 'พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน' กรมรถไฟ ซึ่งเป็นกรมสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่เจ้ากรมกลับมีเรื่องไม่โปร่งใสหลายเรื่อง เช่น คนใกล้ชิดของกรมหลวงฯ คือหลวงบุณยวิทวิจารณ์ที่ยักยอกเงินของกรมรถไฟไปซื้อแหวนเพชรให้เมีย โดยที่ "หลวงผู้นี้เป็นบุคคลที่เสด็จในกรมรถไฟทรงรักใคร่โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง ได้อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดีที่สุด" (อ้างอิง 2)
ไม่ใช่แค่ 'ลูกน้องของเจ้านาย' แต่หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มยังได้วิพากษ์วิจารณ์กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธินโดยตรงว่า
“เฉพาะแต่คราวที่ เสด็จในกรมหลวงกำแพงเพ็ชรฯ ไปดูการรถไฟในต่างประเทศเท่านั้น จะน้ำตาไหลไปตามๆกัน พระองค์ท่านใช้เงินของการรถไฟเสียอร่อยเหาะ เสด็จทั้งลูกทั้งเมียจะไม่ให้เปลืองจะเปลืองเมื่อไร เงินของรัฐบาลสยามนั้นถ้าใครมีวาสนาขึ้น เขาว่าท่านผู้นั้นก็มีสิทธิใช้ได้เต็มที่ เพราะสยามขาด ปาเลียเมนต์ สภาผู้แทนราษฎร...” (อ้างอิง 2)
เราจะเห็นสื่อหรือตัวแทนประชาชนชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของชาติในเวลานั้นเป็น "เพราะสยามขาด ปาเลียเมนต์ สภาผู้แทนราษฎร"
แต่ราษฎรรู้จัก 'ปาเลียเมน' (Parliament) ดีแค่ไหน? โปรดติดตามตอนต่อไปอีกไม่นานเกินรอ
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
อ้างอิง
- ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, "ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย (พ.ศ. 2465-2475)", วารสารศิลปกรรมศาสตร์วิชาการวิจัยและงานสร้างสรรค์, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2557.
- "งานวิจัยการ์ตูนการเมืองสมัยรัชกาลที่ 7", สถาบันพระปกเกล้า, มกราคม 02, 2562