รู้จักคำว่า 'เกิดในสีม่วง' สีของราชวงศ์โบราณ สงวนไว้ให้ชนชั้นสูงห้ามสามัญชนใช้
ในวัฒนธรรมตะวันตกยุคโบราณ 'สีม่วง' เป็นสีที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น เรื่องจากสีม่วงเป็นสีที่ผลิตได้ยาก โดยเฉพาะสีม่วงที่เรียกว่า "สีม่วงไทเรียน" (Tyrian purple) ซึ่งต้องสกัดจากหอยทะเลชนิดหนึ่งจากเมืองไทร์ ประเทศเลบานอน เนื่องจากกระบวนการซับซ้อนมาก มันจึงมีราคาแพง หมายความว่าสิ่งทอย้อมสีม่วงกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะของคนรวยหรือชนชั้นสูงที่มั่งมี
โดยเฉพาะในสมัยจักรวรรดิโรมันถึงกับมีกฎหมายกำหนดให้คนชั้นปกครองเท่านั้นที่ใช้สีม่วงได้ โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 4 กฎหมายโรมันมีความเข้มงวดมากจนมีเพียงจักรพรรดิแห่งโรมันเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้สวมชุดสีม่วงไทเรียน ด้วยเหตุนี้ บางครั้ง 'สีม่วง' จึงถูกใช้เป็นคำนามหมายถึง "การดำรงตำแหน่ง" (เช่น วลีว่า 'ครองอาภรณ์สีม่วง' แปลว่า 'กลายเป็นจักรพรรดิ') และกลายเป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษว่า royal purple หรือ imperial purple ที่แปลว่า 'สีม่วงหลวง' หรือ 'สีม่วงจักรพรรดิ'
เมื่อถึงยุคของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) แนวติดเรื่องสีม่วงจักรรรดิยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยเกิดแนวคิดเรื่อง Porphyrogénnētos (ปอร์ฟีโรเกนนีตอส) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่แปลว่า "เกิดในสีม่วง" (ภาษาอังกฤษ คือ Born in the purple) เนื่องจากมีแต่สมาชิกของราชวงศ์เท่านั้นที่สวมเครื่องทรงสีม่วงได้ และยังใช้การประดับประดาจากหินปอร์ฟีรี (Porphyry) ซึ่งเป็นหินแกรนิตที่มีสีม่วง นิยมนำมาทำโลงพระศพของราชวงศ์ นำมาสร้างพระราชวัง และแกะสลักรูปเหมือนของราชวงศ์
ภาพประกอบ - จักรพรรดินีธีโอดอรา (Empress Theodora) แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงฉลองพระองค์ด้วยเสื้อคลุมสีม่วงที่ย้อมจาก Tyrian purple เป็นภาพโมเสกที่วิหาร Basilica of San Vitale ในเมืองราเวนนนา ประเทศอิตาลี (ภาพโดย Petar Milošević)
ยังมีอีกความนัยหนึ่งเกี่ยวข้องกับหินปอร์ฟีรี นั่นคือ ในสมัยไบแซนไทน์ มีห้องพิเศษในพระราชวังหลวงแห่งนครคอนสแตนติโนเปิลที่สร้างด้วยหินปอร์ฟีรี เรียกว่า Porphyra Chamber พระราชโอรสและพระราชธิดาที่เกิดในห้องนี้จึงเรียกว่า "เกิดในสีม่วง" เพราะเกิดในห้องสีม่วงหรือห้องหินปอร์ฟีรี เช่น เจ้าหญิงอันนา คอมนีเน (Anna Komnene) พระราชธิดาของจักรพรรดิไบแซนไทน์ พระเจ้าอเล็กซิออส ที่ 1 คอมนีนอส (Alexios I Komnenos) ประสูติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1083 ที่ห้องสีม่วงแห่งนั้น และทรงเขียนบันทึกเล่าไว้ว่า ผนัง พื้น และเพดานของห้องนี้ถูกประดับด้วยแผ่นหินปอร์ฟีรี ซึ่ง "โดยทั่วไปแล้วจะเป็นสีม่วงตลอดทั้งห้อง"
คำว่า Porphyrogénnētos มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น หมายถึงสมาชิกราชวงศ์ที่เกิดในรัชสมัยที่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงครองราชสมบัติอยู่ และจะใช้เรียกพระราชโอรส (เรียกว่า Porphyrogénnētos) และพระราชธิดา (เรียกว่า Porphyrogénnētē) ของจักรพรรดิเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะที่สูงส่ง และยังหมายความว่าพระโอรสที่ถูกเรียกว่าเป็น Porphyrogénnētos เท่ากับเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อพระราชบิดา แม้ว่าพระราชโอรสพระองค์นั้นจะมีพระชันษาอ่อนกว่าพระราชโอรสองค์อื่นๆ ก็ตาม แต่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าพี่น้อง เพราะ "เกิดในสีม่วง" หรือหลังจากที่พระราชบิดาทรงเป็นจักรพรรดิแล้ว
ภาพประกอบ - ประติมากรรมหินปอร์ฟีรีที่มีชื่อเสียงของโลก ชื่อว่า Portrait of the Four Tetrarchs เป็นรูปเหมือนของจักรรรดิโรมันองค์ต่างๆ ทำขึ้นในราวปี ค.ศ. 300 ปัจจุบันอยู่ที่วิหาร St Mark's Basilica เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี
เช่น ที่นครคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ มีพระราชวังแห่งหนึ่งชื่อว่า "พระราชวังของผู้ที่เกิดในสีท่วง" หรือ Palace of the Porphyrogenitus ซึ่งตั้งชื่อตามเจ้าชายคอนสแตนติน ปาลาโอโลกอส (Constantine Palaiologos) พระราชโอรสของจักรพรรดิไมเคิลที่ 8 ปาลาโอโลกอส (Michael VIII Palaiologos) เมื่อพระราชโอรสถือกำเนิดขึ้นมา จักรพรรดิจะทรงนำองค์รัชทายาทพระองค์แรกที่ประสูติในรัชกาล มาที่ระเบียงของพระราชวัง จากนั้นก็จะทรงประกาศสถาปนาให้เป็น Caesar Orbi (ไคซาร์ โอบิ) หรือ "ผู้ปกครองโลก"
ในเวลาต่อมาคำว่า "เกิดในสีม่วง" จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงรัชทายาทที่มีสิทธิสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ และต่อมายังรวมไปถึงลูกๆ ของชั้นสูงระดับรองๆ ลงมาด้วย ในกรณีของการใช้คำว่า "เกิดในสีม่วง" เพื่ออ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ก็เช่นกรณีของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (Henry I of England) ทรงถือว่าเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมที่สืบต่อจากพระราชบิดาคือ พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ (William the Conqueror) ทั้งๆ ที่ก่อนพระเจ้าเฮนรีจะมีพระเชษฐา (พี่ชาย) อีกพระองค์ที่อาวุโสกว่า คือ รอเบิร์ตที่ 2 ดยุกแห่งนอร์มังดี (Robert II of Normandy, Robert Curthose) แต่เพราะรอเบิร์ตที่ 2 ดยุกแห่งนอร์มังดี ไม่ได้ประสูติตอนที่พระราชบิดาทรงครองราชย์สมบัติ ทำให้พระองค์ไม่ได้มีสถานะ "เกิดในสีม่วง" นั่นเอง