'คนเท่ากัน' มันเป็นสัจธรรม หรือแค่คำเท่ๆ ที่ใช้ไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง 

'คนเท่ากัน' มันเป็นสัจธรรม หรือแค่คำเท่ๆ ที่ใช้ไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง 

ผมประหลาดใจที่คนในพรรคก้าวไกลบางคนรู้จักแต่คำว่า "คนเท่ากัน" และเอาแต่พูดคำนี้ออกมาเหมือนนกแก้วนกขุนทอง 

แม้แต่ในเวลาที่มีเกิดกรณีที่ "ตะวัน" ไประรานขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า (หรือที่คนไทยเรียกขานด้วยความรู้สึกใกล้ชิดว่า "พระเทพฯ") แทนที่คนในพรรคนี้จะพร้อมใจช่วยกันตะติง กลับยังมีบางคนตะแบงอยู่นั่นแหละว่า "คนเท่ากัน"

เช่น นายกรุณพล เทียนสุวรรณ หรือ "เพชร" สส.บัญชีรายชื่อ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ที่ถึงกับบอกว่าการกระทำของตะวันนั้น "ถือว่าเป็นการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้" 

แต่ในถ้อยคำต่อมานายกรุณพลก็กลับบอกว่า "แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหมิ่นเหม่ที่จะละเมิดข้อกำหนดในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ อีกทั้งยังได้สร้างความไม่สบายใจให้กับหลายท่านในสังคม เราจึงขอย้ำเตือนถึงการแสดงออกที่เหมาะสมและควรแก่เหตุ"

ตกลงแล้ว มันเป็นสิทธิเสรีภาพ หรือว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพกันแน่?

ยังไม่พอ คนๆ เดียวกันนี้ยังบอกด้วยว่า "เรายังคงยืนยันในหลักการคนเท่ากัน" แต่ประโยคต่อมากลับบอกว่า "และเราก็ยังยืนยันให้หลักการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน"

ผมอ่านแล้วผมบอกได้คำเดียวว่า ยังให้ท้ายการกระทำแบบนี้อยู่ เพราะถึงกับอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ และ "คนเท่ากัน" 

แต่ห้อยท้ายเสียหน่อยว่า "ไม่สบายใจ" เพราะไม่สามารถต้านทานกระแสสังคมตอนนี้ได้ ซึ่งล้วนแต่ต่อว่าตะวัน และลามไปถึงต่อว่าผู้ใหญ่ที่ให้ท้ายตะวัน" ซึ่งไม่ต้องบอกว่าใครบ้าง 

ผมอยากจะฝากพรรคก้าวไกลครับว่า อย่าทำให้ "หลักการ" กลายเป็น "หลักกู" อะไรที่ผิดก็ต้องรับว่าผิด ไม่ใช่ว่าจะทำให้สิ่งที่ผิดนั้นถูกให้ได้ เพียงแค่ต้องการจะปกป้องไม่ให้แนวทางของพรรคถูกตั้งคำถาม
 
แนวทางพรรคก็ "ไม่ได้ส่งแฟกซ์มาจากพระเจ้า" อะไรที่ไม่ถูกต้องจะดึงดันให้ถูกต้อง เท่ากับพยายามทำหลักการของพรรคให้โองการของพระเจ้าแล้ว นั่นไม่เท่ากับว่าคนไม่เท่ากันหรือ?"

ผมสงสัยครับ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่าคนในพรรคก้าวไกลชอบคำว่า "คนเท่ากัน" ผมคิดในทางกุศลว่าคงมีเจตนาดีที่จะทำให้ผู้คนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเท่าๆ กัน 

หลักการแบบนี้ผมเห็นด้วย แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการตะแบงคำว่า "คนเท่ากัน" โดยบอกไม่หมดว่าหลักการนี้มันใช้กับสังคมแบบร้อยเปอร์เซนต์ไม่ได้ 

ในทัศนะของผม "คนเท่ากัน" เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องกว่าคือคำว่า "คนเหมือนกัน" เพราะคนเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่มีสถานะทางสังคมต่างกัน เอาแค่ฐานะรวยกับจนก็ต่างกันแล้ว

แม้แต่ในระบบที่บางคนเชื่อว่าคนเท่ากัน คือระบอบสาธารณรัฐนั้นคำว่า "คนเท่ากัน" ก็ยังไม่สมเหตุสมผล

ไหนๆ บางคนก็ชอบหลักการสาธารณรัฐเสียเหลือเกิน ผมจะขออธิบายหลักบางอย่างของระบอบบนี้สักหน่อย เพราะมันไม่ใช่แค่ "คนเท่ากัน" 

ถ้าจะเอาแค่คนเท่ากัน คนป่าคงดงบางเผ่าก็อยู่เท่าๆ กันโดยไม่มีหัวหน้าเหมือนกัน แล้วเราจะอยู่กันแบบนั้นหรือ? 

ในประวัติศาสตร์ระบอบสาธารณรัฐของโลกตะวันตก เขายึดหลักอยู่อย่างหนึ่งเป็นภาษาลาตินว่า Princeps แปลว่า "ได้มาซึ่งอันดับแรก" หรือ "รากฐานอันแรก" นั่นคือ ในความเท่ากันของพลเมืองในสาธารณรัฐโรมัน จะมีคนๆ หนึ่งที่เป็นตัวแทนประชาชนที่ได้รับเลือกมา และเข้าสภาแล้วสภาก็จะเลือกคนๆ นั้นให้เป็นผู้นำสภาหรือการปกครองบ้านเมือง

ปัจจุบัน มักจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The First Citizen หมายถึง "พลเมืองคนแรก"

คนแรกไม่ใช่เพราะเกิดก่อน แต่ได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น

คำว่า Princeps ต่อมาเป็นบรรพบุรุษของคำว่า Prince ที่หมายถึง "เจ้า" เพราะในยุคต่อมาสาธารณรัฐโรมันถูกยุบไปแล้วปกครองด้วยระบบจักรพรรดิ จักรพรรดิก็ยังทรงถือตัวว่าเป็น Princeps (พลเมืองคนแรก) อยู่เช่นเดิม เพราะทรงกลัวว่าประชาชนรังเกียจคำว่า Rex (พระราชา) เพราะรากศัพท์ของคำนี้แปลว่า "เผด็จการ" 

เพียงแต่นานวันเข้าความหมายเดิมของ Princeps ก็แปรเปลี่ยนกลายเป็น "เจ้าผู้ปกครองที่มีอำนาจสิทธิขาด" มากขึ้นทุกที

ปัจจุบัน แทบไม่มีที่ไหนในโลกที่ Prince หรือ Princess จะมีอำนาจบาตรใหญ่แล้ว ล้วนแต่กลับไปเป็นเหมือนสมัยโรมันตอนต้น คือ ให้รัฐสภา (และรัฐบาล) ปกครองบ้านเมือง ส่วน Prince/Princess ก็เป็นบุคคลที่มีเกียรติที่สังคมยกย่องว่าเป็น "คนเหมือนกันกับเรา แต่เรายินยอมยกให้เขามีสถานะสูงกว่า" 

แม้แต่ในระบอบสาธารณรัฐในปัจจุบันก็ยังไว้หลักการนี้ เช่น เมื่อขบวนรถของประธานาธิบดีสหรัฐ (ที่ถือเป็น Princeps แบบสาธารณรัฐ) ผ่านมา ขบวนนั้นจะได้รับอภิสิทธิ์ในการวิ่งไปก่อนและยังต้องรับการคุ้มครองอย่างดี 

หากมีผู้เข้าใกล้ขบวนรถของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มากเกินไป เจ้าหน้าที่จะเข้ามาสกัด บางครั้งการสกัดอาจทำด้วยความรุนแรง เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของผู้นำ 

นี่คือเรื่องจริงของระบบคุ้มครอง Princeps ทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้นำของสหรัฐฯ นั้นมีอำนาจบารมีในฐานะ "เจ้าโลก" (Princeps mundi) อภิสิทธิ์ยิ่งจะเหนือกว่าเจ้านายที่เป็น  Prince/Princess โดยสายเลือดเสียอีก 

สำหรับในประเทศไทย ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์จะเป็น "คนเหมือนกัน" กับประชาชนของพระองค์ แต่โดยขนบธรรมเนียมแล้ว ทรงได้รับการยกย่องโดยสถานะให้สูงกว่า เพราะทรงมีสถานะค้ำชูความเป็นชาติในทางวัฒนธรรม และยังทรงบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ จนประชาชนชื่นชมยกย่อง 

ดังนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ หรือ Prince/Princess แม้จะทรงรับสถานะมาโดยสายพระโลหิตตามขนบการปกครองแต่โบราณ แต่ตามหลักแล้วเพราะประชาชนยอมรับหรอก พระองค์จึงได้เป็น Princeps หรือพลเมืองคนแรกที่พึงได้รับเกียรติเช่นกัน 

นั่นก็เพราะบ้านเมืองเรานั้น ถือรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ รัฐธรรมนูญได้กำหนดสถานะของประเทศไว้ว่าเป็นราชอาณาจักรและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่รัฐธรรมนูญนั้นได้ผ่านการลงมติเห็นชอบโดยมหาชนแล้ว หลักการ Princeps จึงได้รับการรับรองไปโดยปริยาย 

ในเมื่อสมาชิกในพระบรมวงศ์เป็น Princeps ของบ้านเมืองแล้ว จะต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ จะมาอ้างว่าการหมิ่นเกียรติยศของ Princeps เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ 

เรื่องนี้คนที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวควรจะตระหนักหลักการ Princeps ให้ดี ไม่ใช่เอาแต่ท่องเป็นอาขยานว่า "คนเท่ากัน" 

แม้แต่ระบอบสาธารณรัฐยุคปัจจุบันก็ยังใช้อีกหลักการหนึ่งที่ย่้ำว่า "คนเท่ากัน แต่สถานะต่างกัน" เรียกเป็นภาษาลาตินว่า  Primus inter pares แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า first among equals

แปลว่า ในท่ามกลางมหาชนที่มีความเท่าเทียมกันกันนั้น สังคมนั้นยังยกย่องคนที่พวกเขาเห็นว่ามีบารมี (Charisma) มากกว่าคนอื่น ให้มีสถานะเหนือกว่าในด้านการปกครอง ได้รับเกียรติยศมากกว่าคนอื่น และถือเป็น "คนแรกที่ได้รับอภิสิทธิ์"

คำๆ นี้จะใช้ในสังคมประชาธิปไตยหรือในระบบสาธารณรัฐเป็นหลัก เพราะตัวแทนประชาชนที่ได้รับเลือกมาก็ล้วนแต่เป็นประชาชนเหมือนกัน แต่ในท่ามกลางคนเท่ากันนี้ จะมีการยกคนๆ หนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งให้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ได้รับเกียรติมากกว่าคนอื่น

คำว่าบารมีนี้ไม่ใช่เพราะชาติก่อนทำบุญมากกว่าคนอื่น เลยได้อภิสิทธิ์ แต่เพราะมี "ราศี" (Awe) ที่ให้ผู้คนยอมนอบน้อมด้วย แม้ผู้คนจะตระหนักว่าตัวเองกับคนๆ นั้นเป็นมนุษย์เหมือนกันก็ตาม 

"ราศี" ที่ว่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เหนือธรรมชาติ แต่เกิดจากการสั่งสม 

เช่น พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์นั้น ประชาชนนิยม รัก และทูนขึ้นมา เพราะเห็นว่าทรงปฏิบัติราชกิจต่างๆ นานาเพื่อประชาชน เป็นการยอมรับโดยไม่ได้ผ่านการโหวตใดๆ แต่ก็ถือเป็น Princeps ไปโดยปริยายแล้ว 

นักการเมืองก็เช่นกัน บางคนอาจจะแพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะเสียยิ่งกว่าคนที่ชนะการเลือกตั้งเสียอีก เพราะเขาคนนั้นสั่งสมบารมีและราศีมามากกว่า 

การเลือกตั้งจึงเป็นการเลือกตัวแทนที่เข้ามาทำงานแทนประชาชนเท่านั้น 

แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ประชาชนแสดงความนิยมชมชอบโดยไม่ต้องยืนยันด้วยการกาบัตรลงคะแนน

บทความทัศนะ โดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo by Jack TAYLOR / AFP