ทำไมมังกรคือความโชคดี
มังกรจีน หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า "หลง" หรือ "เล้ง" (龍) ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลังอันทรงพลังและเป็นมงคล มังกรจีนจึงมีความหมายที่แตกต่างจากมังกรยุโรปอย่างมาก เพราะในวัฒนธรรมยุโรป มังกรเป็นสัตว์พ่นไฟและมีความหมายแฝงถึงความก้าวร้าว ในขณะที่มังกรจีนเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและโชคดี ตลอดจนการบันดาลให้เกิดฝน ซึ่งช่วยทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ผลผลิตที่สมบูรณ์ และตามมาด้วยความั่งคั่งรุ่งเรือง และมังกรยังเทพผู้ส่งเสริมความสามัคคี
มังกรยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจตามความเชื่อของจีน และประเทศที่รับวัฒนธรรมจีน คือ เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยในอดีต มังกรจีนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสถานะของจักรพรรดิแห่งจีน และใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจของจักรวรรดิ เช่น หลิวปัง หรือพระเจ้าฮั่นเกาจู่ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นอ้างว่าพระมารดาของพระองค์ฝันถึงมังกร แล้วให้กำเนิดพระองค์ นอกจากนี้ จักรพรรดิจีนยังมีฉลองพระองค์ที่มีลวดลายมังกรโดยเฉพาะมังกรห้าเล็บ
เกิดปีมังกรแล้วรุ่งจริงไหม?
มีงานวิจัยของ National Bureau of Economic Research ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ทีตั้งคำถามว่า "ความเชื่อเรื่องโชคลางสามารถสร้างคำทำนายที่บรรลุผลสำเร็จด้วยตัวมันเองได้หรือไม่?ผลการเรียนของเด็กที่เกิดปีมังกรในประเทศจีน"
งานวิจัยนี้ระบุว่า "ในวัฒนธรรมจีน ผู้ที่เกิดในปีมังกรตามปฏิทินนักษัตร เชื่อกันว่าจะมีวาสนาที่โชคดีและมีความยิ่งใหญ่ พ่อแม่มักอยากให้ลูกๆ ของตนเกิดในปีมังกร จากการใช้ข้อมูลระดับมณฑล เรา (นักวิจัย) สามารถบ่งชี้ให้เห็นก่อนว่าจำนวนการแต่งงานเพิ่มขึ้นในช่วงสองปีก่อนหน้าปีมังกร และอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นในปีมังกร"
แต่เด็กเกิดปีมังกรแล้วมั่งคั่งและยิ่งใหญ่จริงไหม? อาจจะจริงในแง่ชีวิตการเรียน นักวิจัยระบุว่า "ด้วยการใช้ชุดข้อมูลขนาดเล็กที่รวบรวมมาสามชุดจากประเทศจีนแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เกิดในปีมังกรมีแนวโน้มที่จะได้รับการศึกษาระดับวิทยาลัยมากกว่า และได้คะแนนสูงกว่าในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในทำนองเดียวกัน นักเรียนมัธยมต้นของจีนจะมีคะแนนสอบสูงกว่าหากเกิดในปีมังกร"
แต่งานวิจัยระบุว่า "เราพบว่าพ่อแม่ของลูกที่เกิดปีมังกร มีความคาดหวังต่อลูกสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพ่อแม่คนอื่นๆ และพวกเขาลงทุนมหาศาลกับลูกๆ ในแง่ของเวลาและเงิน"
มังกรและมะโรงเป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่ามังกรในภาษาจีน คือคำว่า "หลง" หรือ "เล้ง" (龍) คำๆ นี้มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า "มะโรง" ในภาษาไทยที่หมายถึงปีนักษัตร "งูใหญ่" โปรดสังเกตคำว่า "หลง" กับ "(มะ)โรง" ว่าคล้ายคลึงกันอย่างมาก และความเกี่ยวข้องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่พิสูจน์ได้ในทางภาษาศาสตร์
คำว่า "หลง" มาจากคำในตระกูลภาษาจีน-ทิเบตดั้งเดิม (Proto-Sino-Tibetan) คือคำว่า *m-bru(ŋ/k) แปลว่า มังกร หรือ ฟ้าร้อง ในภาษาทิเบตปัจจุบันคือคำว่า brug แปลว่ามังกร คำๆ นี้เมื่อเป็นภาษาจีนโบราณ คือคำว่า *bruːɡ หมายถึงฝนฟ้ากระหน่ำ
แม้คนทั่วไปจะอ่านออกเสียงคำโบราณเหล่านี้ได้ลำบาก แต่โดยรวมแล้วมันออกเสียนงคล้ายกันคือ "รุง" คำว่า "รุง" กลายเป็นคำที่เชื่อมโยงถึงสิ่งที่ควบคุมฝนฟ้าและโยงถึงมังกรในที่สุด เพราะคนโบราณเชื่อว่ามังกรคือผู้ควบคุมฝนฟ้า
คำว่า "รุง" ของภาษจีน-ทิเบต แพร่หลายมาถึงภาษาอื่นๆ ในอเชียตะวันออกเฉียงใตเ คือคำว่า *-roŋ ในภาษาม้งดั้งเดิม เป็นคำว่า *-roːŋ ในภาษาเวียดนามดั้งดิม และเป็นคำว่า roṅ ในภาษาเขมรโบราณ และ roong ในภาษาเขมรปัจจุบัน ซึ่งบางทฤษฎีเชื่อว่าเป็นที่มาของคำว่า มะโรง (má-roong) ในภาษาไทย
แต่ในล้านนาหรือภาคเหนือของไทย มีสัตว์ในตำนานที่ชื่อว่า "ลวง" ซึ่งมีลักษณะคล้ายมังกร คำว่า "ลวง" มีความคล้ายกับภาษาจีนพอสมควร อาจสะท้อนว่าลวงและ (มะ) โรง ในภาษไทยอาจจะรับมาจากภาษาจีนโดยตรง และทั้งหมดหมายถึง มังกรหรืองูใหญ่