'กรณีพิธากับพระตะบอง' เปิดแผนที่เก่าดินแดนประเทศสยาม สมัยที่ยังครอบครองมณฑลเขมร
เบื้องหลังเหตุการณ์
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกขุดโพสต์เก่าๆ ใน Instagram แอคเคาท์ @tim_pita ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยโพสต์ที่ว่านั้นลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2015 เป็นภาพของอาคารศาลากลางจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา พร้อมกับแคปชั่นภาษาอังกฤษกับภาษาไทยอีกนิดหน่อยว่า "my grand mother used to live in this house almost 1 century ago บ้านเก่าคุณยาย"
- เรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พิธา เกี่ยวข้องอะไรกับจังหวัดพระตะบอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'ตระกูลอภัยวงศ์' ตระกูลสำคัญทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ครอบครองอาคารศาลากลางจังหวัดพระตะบอง ก่อนที่ไทยจะพระตะบองให้กับฝรั่งเศส ซึ่งมอบให้กัมพูชาในเวลาต่อมา เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นวิวาทะทางการเมืองของไทยครั้งใหญ่
เรื่องนี้สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง "กรณีพิศวงของ 'พิธา' กับคุณยายที่เคยอยู่วังเจ้าเมืองพระตะบอง"
พระตะบองเคยเป็นของไทยสมัยไหน?
เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในหนังสือ "พงศาวดารเมืองพระตะบอง" เป็นพงศาวดารที่แต่งโดยเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สร้างศาลากลางจังหวัดพระตะบอง ที่พิธาอ้างว่าเป็นบ้านของคุณยายเขานั่นเอง
"พงศาวดารเมืองพระตะบอง" ได้บันทึกถึงการปกครองของไทยเหนือดินแดพระตะบองโดยผ่านตระกูลอภัยวงศ์ เรื่องเริ่มต้นจากการที่เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เกิดการโค่นล้มกษัตริย์ในกัมพูชาและแย่งชิงราชสมบัติกัน ผู้ที่ก่อนการคือ ขุนนางชั้นสูงในตำแหน่งฟ้าทะละหะ ชื่อ มู ขุนนางตำแหน่งพระยาจักรี ชื่อ ฟาง พระยาเดโช ชื่อ แทน เจ้าเมืองกะพงสวาย เป็นพี่น้อง 3 คน ร่วมกับพระยากลาโหม ชื่อ ชู ขุนนางเหล่านี้เห็นว่า กษัตริย์กัมพูชาในเวลานั้น คือ สมเด็จพระรามาธิบดีไม่มีความยุติธรรม จึงก่อการยึอำนาจแล้วจับ สมเด็จพระรามาธิบดีไปสำเร็จโทษ (ประหาร)
ในขณะที่ฝ่ายอำนาจใหม่โค่นล้มฝ่ายอำนาจเก่า พงศาวดารได้เล่าว่า "ฝ่ายพระยายมราช ชื่อ แบน และพระยาพระเขมรทั้งปวงซึ่งเป็นข้าสมเด็จพระรามาธิบดี ก็พากันหนีเข้ามา ณ เมืองพระตะบอง" จากนั้นก็หนีมายังกรุงธนบุรี ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช
จนกระทั่ง ถึงสมัยกรุงเทพฯ ในปี 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช แบน ที่มาลี้ภัยที่กรุงเทพฯ ออกไปปราบปรามกรุงกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว พระยายมราช แบน จึงส่งเชื้อพระวงศ์กัมพูชาเข้ามาในกรุงเทพฯ คือ นักองค์เอง นักองค์เมญ นักองค์อี นักองค์เภา เข้ามาณ กรุงเทพฯ เวลานั้น นักองค์เองยังเยาว์วัยอยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยายมราช แบน มีบรรดาศักดิ์เป็นฟ้าทะละหะ ให้อยู่รักษากรุงกัมพูชาธิบดี ตั้งทัพใหญ่อยู่ ณ เมืองอุดงมีไชย
ในปี 2337 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ อภิเษกให้นักองค์เองออกไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา พระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขอแยกเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ มาขึ้นแก่กรุงเทพฯ "แล้วโปรดให้ฟ้าทะละหะ แบน พาขุนนางพระยาพระเขมรพรรคพวกเข้ามาตั้งอยู่ ณ เมืองพระตะบอง โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ฟ้าทะละหะเป็นที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง"
ตระกูลอภัยวงศ์ผงาด ปกครองพระตะบอง
นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่พระตะบองถูกปกครองเป็นส่วนหนึ่งของไทย โดยมีผู้ปกครองคนแรกคือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน)
ต่อมาพงศาวดารบันทึกไว้ว่า "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นเจ้าเมืองพระตะบองได้ 16 ปี ถึงแก่กรรม ครั้น ณ ปีมะเมีย โทศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาพิบูลย์ราช แบน เป็นขุนนางในเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เป็นที่พระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง ทรงตั้งนายรศ มหาดเล็ก บุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ แบน เป็นพระวิเศษสุนทร ผู้ช่วยราชการ"
หลังจากนั้น เจ้าเมืองพระตะบองก็เป็นคนในตระกูลอภัยวงศ์โดยมีคนนอกตระกูลเกป็นเจ้าเมืองพระตะบองในบางครั้ง ไล่มาตั้งแต่ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน อภัยวงศ์) ในรัชกาลที่ 1 ผู้รับตำแหน่งต่อมาคือ พระยาอภัยภูเบศร (แบน) สมัยรัชกาลที่ 2 คนนี้เคยเป็นขุนนางของท่านเจ้าเมืองคนแรก เมื่อพระยาอภัยภูเบศร (แบน) สิ่้นไปแล้ว ผู้รับตำแหน่งต่อมาคือ พระยาอภัยภูเบศร (รศ อภัยวงศ์) บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ในรัชกาลที่ 1 คนต่อมา คือ พระยาอภัยภูเบศร (เชด) ตามด้วยเชื้อพระวงศ์เขมร คือ สมเด็จพระศรีไชยเชฐ (นักองค์อิ่ม) คนต่อมาคือ พระยาอภัยภูเบศร (นอง อภัยวงศ์) ต่อมาคือ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) และ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายของไทย
พระตะบองของไทยเผชิญภัยคุกคาม
ในสมัยของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศไทยหรือสยามต้องเผชิญกับการคุกคามของประเทศล่าอาณานิคม คือ ฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาแทรกแทรงกิจการในกัมพูชา จน พ.ศ. 2410 ไทยจำเป็นต้นยกกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศราชให้กับฝรั่งเศส โดยกัมพูชามีฐานะเป็นรัฐอารักขา (Protectorate) ของฝรั่งเศส แต่ไทยยังคงขอสงวนเมืองพระตะบองและเสียมราฐไว้เป็นของไทย แลกกับการยกเลิกการเป็น "เจ้าอธิราช" หรือ "พระจักรพรรดิ" ผู้ปกครองเหนือกษัตริย์กัมพูชาและประเทศกัมพูชา
ในเวลานั้น ไทยหรือสยามต้องปฏิรูปการปกครองใหม่ เพื่อรับมือกับการคุกคามของนักล่าอาณานิคิม ทำให้มีการรวมเอาเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ เข้าด้วยกันเป็นมณฑลที่ชื่อว่า "มณฑลเขมร" เมื่อ พ.ศ. 2434 ตามนโยบายจัดตั้งมณฑลชั้นนอก 6 มณฑล เพื่อป้องกันการคุกคามภายนอก และเพื่อเป็นการทดลองระเบียบการปกครองแบบใหม่ โดยยังคงระบบเจ้าเมืองอยู่ แต่ส่วนหลางหคือกรุงเทพฯ ได้ส่ง "ข้าหลวง" ต่างปพระเนตรพระกรรณไปช่วยบริหารปกครอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัง โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลเขมร โดยตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองศรีโสภณ (เมืองที่เป็นจุดแยกที่จะเดินทางไปพระตะบอง ทางตะวันตก และเสียมราฐ ทางตะวันออก) ส่วนเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการเมืองพระตะบอง แต่ท่านกำลังป่วยหนัก
จนกระทั่งต่อมาได้ถึงแก่กรรม บุตรชายของท่านรับตำแหน่งแทน คือ ต่อมามณฑลเขมรเปลี่ยนชื่อมาเป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ในสมัยของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลเขมร เป็น"มณฑลตะวันออก" เมื่อ พ.ศ. 2442 และเป็น "มณฑลบูรพา" เมื่อ พ.ศ. 2443
แต่แล้วฝรั่งเศสยังคุกคามประเทศสยามอย่างหนัก จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยต้องยอมทำสัญญายกมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองตราดและเมืองด่านซ้าย (จังหวัดเลย) รวมถึงเกาะใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด มาเป็นของสยาม
นับจากนั้นพระตะบองก็ตกเป็นของรัฐอารักขากัมพูชาของฝรั่งเศส (Protectorat français du Cambodge) โดยมณฑลบูรพาของสยามเปลี่ยนชื่อเป็น Province de Battambang
อย่างไรก็ตาม ไทยกับฝรั่งเศสมีความขัดแย้งกันในกรณีที่เรียกว่า "กรณีพาทอินโดจีน" ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 – 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 เกิดสงครามกันขึ้นระหว่างสองฝ่ายและจบลงด้วยการเจรจาสงบศึก โดยที่ไทยได้พระตะบอง (รวมถึงเสียมราฐ และศรีโสภณ) มาครอบครองอีกครั้ง และตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพระตะบอง แห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งทำที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 หรือที่รู้จักในชื่อ ความตกลงวอชิงตัน มีผลให้อนุสัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกไป กลับไปสู่สถานะเดิม โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศส
เมื่อรัฐอารักขากัมพูชาของฝรั่งเศสได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศกัมพูชา พระตะบองก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาจนถึงทุกวันนี้