สถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สหรัฐฯ กำลังเกิดวิกฤตการการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐเท็กซัส เนื่องจากเท็กซัสไม่ต้องการให้รัฐบาลกลางเข้ามาจัดการพรมแดนและผู้อพยพจากเม็กซิโกที่ทะลักเข้ามาในเท็กซัส การเผชิญหน้านี้ทำให้รัฐต่างๆ ที่มาจากพรรครีพับลิกันเข้าข้างรัฐเท็กซัส เนื่องจากแนวทางการพรรคนี้ก็คือกวดขันพรมแดนและผู้อพยพ และต้องการลดอำนาจของรัฐบาลกลางที่มีต่อมลรัฐต่างๆ การเผชิญหน้านี้จะนำไปสู้สงครามกลางเมืองหรือไม่หรือจะเกิดการแยกตัวของรัฐต่างๆ หรือเปล่า? ก่อนที่จะวิเคราะห์คำตอบ เราต้องมาสำรวจเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อน
ยุคบ้านเมืองแตกแยก V.1
สหรัฐฯ เคยแตกแยกรุนแรงมาแล้ว เหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดจนนำไปสู่ความพยายามแยกตัวจากความเป็น 'สหรัฐฯ' เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2403 และ พ.ศ. 2404 เมื่อรัฐทางใต้ 11 รัฐต่างประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา และเข้าร่วมเพื่อจัดตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกระบวนการและองค์กรที่รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธที่จะยอมรับ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลโดยชอบธรรม (ฝ่ายเหนือ) และรัฐบาลสมาพันธรัฐ (ฝ่ายใต้) การแยกตัวนี้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2408 ด้วยความพ่ายแพ้ของกองกำลังฝ่ายใต้
แต่ดินแดนของสหรัฐฯ เคยแยกตัวออกไปจริงๆ เหมือนกัน แต่เป็นการแยกตัวในทางเทคนิค ไม่ใช่การแยกตัวเพราะไม่อยากจะอยู่ร่วมเป็น 'สหรัฐ' ร่วมกันอีก กรณีที่ว่านั้นคือ ส่วนเล็กๆ ของลุยเซียนาเพอร์เชส (Louisiana Purchase ดินแดนตอนกลางของสหรัฐฯ ทั้งหมด) ทางตอนเหนือของเส้นขนานที่ 49 ทางเหนือ ซึ่งยกให้เป็นของแคนาดา โดยสนธิสัญญา พ.ศ. 2361 อีกครั้งคือการแยกตัวของเครือจักรภพฟิลิปปินส์ (Commonwealth of the Philippines ในยุคที่ฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมสหรัฐฯ) ซึ่งได้รับเอกราชหลังสนธิสัญญามะนิลา และปัจจุบันคือสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ยุคบ้านเมืองแตกแยก V.2
นั่นเป็นเรื่องของอดีต หลังจากนั้นสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งอย่างมากจนกลายเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก และยังมีการเมืองที่เป็นปึกแผ่น
จนกระทั่งหลังทศวรรษที่ 2000 การเมืองสหรัฐฯ เริ่มที่จะไม่เป็นอันหนึ่งอันเกียวกัน และสถานะการเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวยังถูกท้าทายจากมหาอำนาจใหม่ เช่น จีน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนเมื่อก่อน ปัจจุบันเหล่านี้ ทำให้มีความพยายามของบุคคลต่างๆ ที่จะแยกรัฐต่างๆ ออกจากความเป็น 'สหรัฐ' ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น
เท็กซัส: เท็กซัสเคยเป็นสาธารณรัฐเอกราชมาก่อนที่จะรวมกับสหรัฐฯ และยังมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ทำให้มีขบวนการเคบลื่อนไหวเพื่อแยกตัวมาระยะหนึ่ง
จนกระทั่งมันชัดขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เมื่อ ริก เพอร์รี ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส หยิบยกประเด็นการแยกประเทศขึ้นมาสู่สาธารณะ โดยกล่าวว่า "เท็กซัสเป็นสถานที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ... เรามีการรวมตัวเป็นสหภาพที่ดี ไม่มีเหตุผลที่จะต้องยแกตัวอย่างแน่นอน แต่ถ้าวอชิงตันยังคงไม่ให้เกียรติกับคนอเมริกันต่อไป ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากการทำแบบนั้น"
นับจากนั้น พวกรีพับลิกันในเท็กซัสยิ่งผลักดันแนวคิดนี้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2563 พวกรีพับลิกันในเท็กซัสไม่พอใจที่ศาลสูง (ของรัฐบาลกลาง) ไม่ยมรับคำร้องของพวกเขาเรื่องผลการเลือกตั้งที่ทำให้ โจ ไบเดน ชนะเป็นประธานธิบดี ทำให้ อัลเลน เวสต์ ประธานพรรครีพับลิกันแห่งเท็กซัสกล่าวว่า "บางทีรัฐที่เคารพกฎหมายควรรวมตัวกันและจัดตั้งสหภาพของรัฐที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ" บางคนตีความการกล่าวเช่นนี้ว่าเป็นการสนับสนุนการแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 ในพรรครีพับลิกันแห่งเท็กซัสเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติจัดทำการลงประชามติเรื่องการแยกตัวออก ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2566 สมาชิกสภารัฐรายหนึ่งได้เสนอร่างกฎหมายที่จะเพิ่มการลงประชามติเรื่องความเป็นอิสระในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี พ.ศ. 2567
แคลิฟอร์เนีย: การแยกตัวออกจากรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือที่รู้จักในชื่อ "Calexit" เคยเป็นแค่ขบวนการระดับรากหญ้าและกลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆ มาก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่เรียกร้องให้รัฐแยกตัวออกจากสหรัฐฯ แต่มันมีพลังมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี คนในรัฐได้ทำให้แฮชแท็ก #calexit กลายเป็นเทรนด์บน Twitter โดยต้องการให้แยกประเทศเพราะไม่ต้องการให้ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี คนแคลิฟอร์เนียเหล่านี้ชี้ว่ารัฐของพวกเขามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และมีผู้อยู่อาศัยมากกว่ารัฐอื่นๆ กระแสนี้แรงถึงขนาดที่ว่า ชาวแคลิฟอร์เนีย 32% และพรรคเดโมแครตในแคลิฟอร์เนีย 44% เห็นด้วยกับการแยกตัวออกจากรัฐแคลิฟอร์เนียในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560
ออริกอน: เช่นเดียวกับรัฐแคลิฟิร์เนีย หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ชาวเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน จำนวนหนึ่งได้ยื่นคำร้องเพื่อขออนุญาตลงคะแนนเสียงที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นคำร้องต้องถอนคำร้องออกไปหลังจากนั้นไม่นาน โดยอ้างว่าเกิดการจลาจลและถูกขู่ฆ่า
มอนแทนา: มีการเคลื่อนไหวในช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 เกิดขึ้นในรัฐมอนแทนา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะแยกตัวจากสหรัฐ โดยความพยายามนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการเลือกตั้งอย่างน้อย 60 คน สาเหตุมาจากการที่ศาลสูงรับคำร้องให้พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติที่ 2 ของแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Second Amendment) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกสิทธิในการถือครองอาวุธปืนโดยเสรีของชาวอเมริกัน
ฮาวาย: ขบวนการอธิปไตยของฮาวายมีกลุ่มเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม พวกเขาค่อยๆ เคลื่อนไหวเพื่ออธิปไตยของฮาวาย (ซึ่งเคยเป็นประเทศเอกราชมาก่อน แล้วถูกผนวกเข้ามาเป็นดินแดนของสหรัฐฯ) การผลักดันของขบวนการนี้ทำสำเร็จอยู่หนึ่งเรื่อง คือ ให้รัฐถอดคำว่า "สนธิสัญญาผนวก" ดินแดนของฮาวายมาเป็นดินแดนของสหรัฐฯ ออกจากกฎหมาย ในปี พ.ศ.2554
อลาสก้า: พรรคอิสรภาพของอลาสก้าเคยผลักดันการแยกตัว แต่ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 แต่ศาลสูงระบุว่าการแยกตัวออกจากสหรัฐฯ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และปฏิเสธที่จะอนุญาตให้เสนอต่อชาวอลาสกาให้มีการลงคะแนนเสียงแยกตัว แม้จะห้ามแยกตัว แต่พรรคอิสรภาพของอลาสก้ายังคงเป็นพรรคสำคัญในการเมืองของรัฐ
ยุคบ้านเมืองแตกแยก V.3
หลังยุคทรัมป์ การเมืองอเมริกันยิ่งแตกแยกมากขึ้น ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ Polarization นั่นคือมีความแตกแยกทางความคิดจนลงรอยกันไม่ได้ ระหว่างฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกัน (แนวคิดอนุรักษ์นิยมและทุนนิยม) และผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต (แนวคิดเสรีนิยมและเอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย)
จากตัวอย่างของความพยายามแยกตัวในรัฐต่างๆ ข้างต้น เราจะเห็นว่า มีทั้งค้องการแยกตัวเพราะรับไม่ได้ที่มีผู้นำแบบทรัมป์และพรรครีพับลิกัน และมีทั้งที่เตรียมจะแยกตัวเพราะไม่ยอมให้เดโมแครตแก้ไขสิทธิในการถืออาวุธปืน ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์นิยมถือว่าเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่รัฐจะแตะต้องไม่ได้
สิทธิ์การถืออาวุธปืนเป็นความขัดแย้งรุนแรงเรื่องหนึ่งในหมู่รัฐรีพับลิกันและรัฐเดโมแครต และทำให้บางรัฐเริ่มที่จะไม่พอใจความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญพื่อริดรอนอำนาจนี้ รวมถึงการแสดงท่าทีขัดขืนต่อรัฐบาลกลางที่มาจากพรรคเดโมแคตมากขึ้น กรณีที่ชัดเจนคือการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนสหรัฐฯ (USBP) ของรัฐบาลกลาง และกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติเท็กซัส (Texas’ National Guard) เรื่องการควบคุมพรมแดน และการเข้าเมืองผิดกฎหมาย
การเมืองที่ลงรอยกันไม่ได้ และการเผชิญหน้าเพราะขัดแย้งเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการพูดถึงเรื่องการปะทะกันในลักษณะ 'สงครามกลางเมือง' (Civil War) มากขึ้น และสื่อในสหรัฐฯ เองก็เอ่ยถึงคำนี้อยู่บ่อยๆ เพราะมันเกำลังจะก่อตัวเป็นวิกฤตที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากท่าทีที่แข็งกร้าวของนักการเมืองชั้นนำที่ไม่ยอมให้กัน
เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ สนับสนุนให้ “รัฐต่างๆ ที่มีความเต็มใจ ให้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาดินแดนไปยังเท็กซัสเพื่อป้องกันการเข้ามาของพวก (เข้าเมือง) ผิดกฎหมาย”
ทรัมป์ถึงกับบอกว่า “ชาวอเมริกันทุกคนควรสนับสนุนมาตรการที่มีสามัญสำนึกของเท็กซัส” นั่นก็คือการสกัดการเข้ามาของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่ามันจะหมายถึงการท้าทายอำนาจของรัฐบาลกลางก็ตาม
Photo - The Avenue in the Rain เป็นภาพวาดสีน้ำมันเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ชาวอเมริกัน ไชลด์ ฮัสซัม (Childe Hassam) เป็นภาพถนนฟิฟท์อเวนิวในนิวยอร์กซิตี้ท่ามกลางสายฝนที่ประดับด้วยธงชาติสหรัฐอเมริกา ภาพวาดนี้เป็นหนึ่งในหกผลงานของฮัสซัมในคอลเล็กชั่นงานศิลปะถาวรของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.