ประเทศอื่นเขามีปัญหากับกฎหมายแบบ 'ม.112' เหมือนเมืองไทยกันบ้างหรือเปล่า?

ประเทศอื่นเขามีปัญหากับกฎหมายแบบ 'ม.112' เหมือนเมืองไทยกันบ้างหรือเปล่า?

ไม่ว่าอนาคตของพรรคก้าวไกลจะได้ไปต่อหรือเจอทางต้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาก็จะยังเดินหน้ากับวาระหลักของพรรคต่อไป คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย

เรียกกันสั้นๆ ว่า ม.112 

การแก้ไข ม.112 เหมือนธงนำของ "ฝ่ายก้าวหน้า" แต่เป็นของแสลงของ "ฝ่ายอนุรักษ์นิยม"

ก้าวไกลมองว่าควรจะมีการแก้ไข ม.112 เพราะถูกใช้ในทางการเมือง และอาจกระทบต่อสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์

และเพราะก้าวไกลคือพรรคที่ทรงพลังในการเมืองไทยในเวลานี้ มันจึงทำให้วาระที่พวกเขาผลักดัน กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติไปด้วย นั่นหมายความว่าความขัดแย้งระหว่างก้าวหน้าและอนุรักษ์นิยมจะยิ่งเข้มข้นขึ้น

นี่คือปัญหาทางการเมืองของไทย บางครั้งมันดูเหมือนจะใหญ่กว่าปัญหาปากท้องเสียอีก 

ผู้เขียนคิดว่า เพราะพรรคการเมืองอย่างก้าวไกลคิดว่าปัญหาทั้งหมดทั้งมวลมาจากการใช้ ม.112 ผิดๆ  ถ้าแก้ ม.112 ทุกปัญหาย่อมคลี่คลายไปด้วย 

จึงขอบัญญัติคำศัพท์ใหม่ว่า Lèse-majesté-centric นั่นคือ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือศูนย์กลางจักรวาลของทุกปัญหา" ในสายตาของคนกลุ่มหนึ่ง

ถามว่ามันเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองไทยหรือเปล่า? ตอบว่าไม่ใช่!

ยังมีบางประเทศที่จักรวาลการเมืองหมุนวนอยู่รอบๆ กฎหมาย Lèse-majesté อยู่เหมือนกัน

หลายคนเริ่มจะสงสัยว่าทำไมต้องใช้คำฝรั่งว่า Lèse-majesté แทนที่จะใช้ว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

นั่นก็เพราะ Lèse-majesté ไม่ได้ใช้กับ "พระบรมเดชานุภาพ" เท่านั้นแต่ยังใช้คุ้มครองอำนาจประมุขในระบอบสาธารณรัฐด้วย 

และต้องบอกว่ามันมีแนวโน้มที่ Lèse-majesté จะถูกใช้กับประมุขรัฐในระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐมากขึ้น 

ทั้งๆ ที่คำว่า Lèse-majesté ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสนั้น แปลว่า ละเมิด (Lèse)  พระเกียรติยศหรือพระราชอำนาจ (majesté)

นั่นหมายความว่ากฎหมายทำนองนี้ถูกใช้เพื่อคุ้มครองเกียรติยศของประมุขรัฐมากขึ้น 

เช่น ในอิตาลี มีบทลงโทษหากมีผู้ใดทำให้เกียรติหรือศักดิ์ศรีของประธานาธิบดีอิตาลีต้องแปดเปื้อน มีโทษจำคุก 1-5 ปี

แล้วเขาก็ใช้โทษนี้กันจริงๆ จังๆ ดังเช่น กรณีของอดีตผู้นำสันนิบาตภาคเหนือ (Lega Nord) อุมแบร์โต บอสซี ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี 15 วัน หลังใช้ถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติประธานาธิบดี จอร์โจ นาโปลิตาโน เรื่องนี้เกิดปี 2018

ต้องเข้าใจก่อนว่า มีพวกภูมิภาคนิยมภาคเหนือในอิตาลีที่คิดว่าพวกอิตาเลียนภาคใต้ล้าหลังและยากจน พาลคิดว่าคนใต้เกาะคนเหนือที่รวยกว่า จึงมักจะดูหมิ่นกันแรงๆ 

แรงขนาดที่ว่า ประธานาธิบดีเป็นคนปักษ์ใต้ยังโดนด่าว่าเป็น "ไอ้พวกบ้านนอก" (Terrone)

จะเห็นว่ากรณีนี้ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แต่เป็นด่ากันเต็มๆ 

อีกกรณีหนึ่งเกิดกับประธานาธิบดีคนเดียวกัน เมื่อปี 2007 เมื่อวุฒิสมาชิกในขณะนั้น คือ ฟรันเชสโก สโตราเช ตำหนินักการเมืองหญิงคนหนึ่งด้วยถ้อยคำรุนแรง ทำให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ คือ จอร์โจ นาโปลิตาโน ต้องเข้าแทรกแซง และตำหนิ สโตราเช ว่า "ไม่มีค่า" แต่ สโตราเช สวนกลับว่า "ถ้ามันจะมีสิ่งไหนที่ไม่มีค่า ก็เห็นจะเป็นประมุขแห่งรัฐ

แน่นอนว่า สมาชิกรัฐสภาคนนี้ถูกรายงานว่าผิดฐานดูหมิ่นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ (vilipendio al presidente della Repubblica) และต้องรับโทษจำคุก 6 เดือน 

กรณีนี้ไม่ใช่ด่าด้วยซ้ำ แต่เป็นวาจาที่หมิ่นเกียรติยศของประมุขรัฐ

ถามว่าที่อิตาลีมีเสียงเรียกร้องให้แก้ไข 'ม.112' ของเขากันบ้างไหม? เพราะโทษก็ค่อนข้างแรง และคนที่โดนก็ยังเป็นนักการเมือง เสี่ยงที่จะถูกปั่นเป็นประเด็น 'กลั่นแกล้งทางการเมือง'

ตอบว่าก็มีบ้าง เท่าที่เห็นคือตำหนิว่าเป็นการปฏิบัติแบบบพวกฟาสชิสม์ (Fascismo) หรือเผด็จการ แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นแค่การเย้ยหยัน เพราะทั้งประมุขและรัฐบาล (ผู้ฟ้องร้องคดีแบบนี้คือกระทรวงยุติธรรม) ล้วนแต่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย

เช่น เบปเป กริลโล นักการเมืองและนักแสดงตลกที่บอกว่า “ประมุขแห่งรัฐจะยังเป็นพลเมืองคนแรก แต่เขาก็ยังคงเป็นพลเมืองอยู่ เขาไม่สามารถจะเกินหน้าเกินตาความเท่าเทียมกันมากกว่าคนอื่นๆ ตามกฎหมาย” 

นั่นหมายความว่า แม้ประมุขของรัฐจะมีสถานะอันทรงเกียรติ คือเป็น 'พลเมืองคนแรก' (il primo dei cittadini) หรือเป็นหัวหน้า (ประมุข) ของพลเมืองทุกคน แต่ก็ยังเป็นคนธรรมดาอยู่ดี ไม่ควรได้รับการปกป้องจากกฎหมายที่เขาคิดว่ามีปัญหา

เขากล่าวว่ากฎหมายที่มีปัญหานั้น "มาจากประมวลกฎหมายร็อคโคในช่วงทศวรรษที่ 20  (อันป็นยุคของฟาสชิสม์) ในเวลานั้น ประมุขคือกษัตริย์และมุสโสลินี และตั้งแต่ช่วงหลังสงคราม คือ ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐก็ได้รับการคุ้มครองจากความผิดฐานหมิ่นเดชานุภาพ (ภาษาอิตาเลียน คือ lesa maestà)"

นี่คือทัศนะของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นประมุขอิตาลี แต่การที่มันยังถูกใช้อยู่ ย่อมหมายความมันยังมีความสำคัญในฐานะกลไกป้องกันความมั่นคงแห่งรัฐ

เพราะประมุขคือ 'พลเมืองคนแรก' เมื่อประมุขถูกย่ำยี พลเมืองคนที่สอง สาม สี่ และคนที่สิบล้านย่อมถูกหมิ่นไปด้วย

ข้ามไปที่โปแลนเด์ เป็นการใช้กฎหมายนี้ถี่พอสมควร เช่น มีการพิพากษาลงโทษคดีที่เกี่ยวกับ 'ม.112' ของประเทศเขาอยู่หลายครั้ง โดยในเดือนธันวาคม 2020 ชายคนหนึ่งในเมืองทอรูนถูกตัดสินให้ทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลาหกเดือน เดือนละ 20 ชั่วโมงภายใต้ข้อหา 'หมิ่นเดชานุภาพ' ประมุขของประเทศ ฐานวาดภาพอวัยวะเพศชายบนโปสเตอร์ของประธานาธิบดี อันเดรย์ ดูดา 

ดูเหมือนว่าคนจะไม่ค่อยชอบ ดูดา พอสมควร เพราะหลังจากนั้นมีอีกหลายคนโดนข้อหาหมิ่นฯ กันเรื่อยๆ เช่น ในเดือนมีนาคม 2021 นักเขียนและนักข่าว ชื่อ ยาคุบ ซุลชิก ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระเดชของท่านผู้นำ ฐานเรียก ดูดา ว่าเป็น "คนปัญญาอ่อน"  

ในเดือนมีนาคม 2021 เช่นกัน มีนักเรียนสามคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นเกียรติประธานาธิบดี  โดยตัดทำลายโปสเตอร์ และใช้คำดูหมิ่นกับประธานาธิบดี หากมีความผิดจริง อาจต้องโทษถึง 3 ปี 

นี่คือโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เริ่มจะมีแนวโน้มเป็นรัฐอุดมการณ์ขวาจัดขึ้นมาเรื่อยๆ จากการต่อต้านเสรีนิยม ผู้อพยพ และกลุ่มหลากหลายทางเพศ

รัฐขวาๆ แบบนี้มักจะให้ความสำคัญกับผู้นำเป็นพิเศษ หรือไม่ก็ผู้นำพยายามยกระดับตัวเองให้สำคัญเกินความเป็น 'พลเมืองคนแรก'

ยังมีตัวอย่างอีกหลายประเทศที่ใช้ 'ม.112' ตามแบบฉบับของพวกเขา ซึ่งมากเกินกว่าจะนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ได้หมด

กฎหมายจำพวก 'ม.112' ของประเทศต่างๆ เหล่านี้ ใช้กันในประเทศที่ประชาธิปไตยเต็มใบด้วยกันทั้งสิ้น หรือแม้จะมีพระมหากษัตริย์ก็เป็นมีประชาธิปไตยที่ครบถ้วน ทว่า โทษที่ใช้นั้นหนักพอสมควร บางครั้งไม่ใช่คุกแค่ไม่กี่เดือน แต่ข้ามปีกันเลยทีเดียว 

แต่นี่ไม่ใช่การยกตัวอย่างเพื่อ 'สร้างความชอบธรรม' ให้กับ ม.112 ของไทย นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะแบ่งปัน เพียงแค่ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ รายงานสิ่งที่ต่างประเทศมีคล้ายๆ ไทย คือกฎหมายคุ้มครองประมุขของชาติ

แต่การใช้กฎหมายประเภทนี้ของไทยหรือประเทศอื่นๆ เราจะยังไม่อภิปรายกัน เพราะมีความซับซ้อนอย่างมาก และเสี่ยงที่จะทำให้คนทะเลาะกันมากกว่าที่จะลงรอยกัน

แต่จะขอตั้งข้อสังเกตสักนิดว่า ในบรรดาประเทศที่ 'ม.112' หรือกฎหมาย Lèse-majesté กลุ่มที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มักจะเอาผิดน้อยครั้งกว่าและโทษรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่มีประมุขมาจากการเลือกตั้ง

ผู้เขียนคิดว่า ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ต้องระวังการใช้กฎหมายประเภทนี้พอสมควร เพราะอาจทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ในบางประเทศมักถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ อยู่แล้ว 

ในขณะที่พวกผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมักจะใช้กันอย่างหนักมือ ซึ่งคงเป็นเพราะตระหนักว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะใช้ ในฐานะได้รับเลือกมาจากมหาชน

และมีข้อสังเกตว่า ประเทศที่ถูกกล่าวหาใช้กฎหมายพวกนี้เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คือ กัมพูชา ซึ่งแม้จะมีกษัตริย์ แต่โดยปกติไม่ได้ใช้พระราชอำนาจที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองประเทศ (Royal prerogative) 

กัมพูชาเพิ่งจะผ่านกฎหมายประเภทนี้เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี่เอง คือ 2018 โดยมีระวางโทษจำคุก 1 - 5 ปี ด้วยความน่าสงสัยว่า ในเมื่อกษัตริย์ปราศจากพระราชอำนาจในเชิงการเมือง และยังไม่ตกเป็นเป้าโจมตี แล้วทำไมจะต้องมี Lèse-majesté ด้วย

ปรากฎว่ามันถูกเฉลยในเวลาต่อมาว่า Lèse-majesté ไม่ได้ใช่แค่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ แต่ยังไปคุ้มหัวผู้นำรัฐบาลด้วย ดังจะเห็นว่าฝ่ายค้านในกัมพูชาถูกดำเนินคดีในข้อหา 'หมิ่นควบ' เมื่อปี 2023

หมิ่นควบมันยังไง? ก็คือวิจารณ์การที่อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ปราฏตัวในงานพิธีเปิดซีเกมส์กับพระมหากษัตริย์ แต่ ฮุน เซน ดันมี 'กลด' หรือร่มกางกั้นติดตามไปด้วย ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าไม่เหมาะสม เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของพระบรมราชวงศ์ 

พูดง่ายๆ คือวิจารณ์ฮุน เซน นั่นเอง แต่โยงถึงธรรมเนียมปฏิบัติของพระบรมวงศ์ ซึ่งคนระดับ ฮุน เซน ไม่ควรได้รับการปฏิบัติแบบนั้น

แต่ ฮุน เซน มัดรวมไปเลยว่าคนเหล่านี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งที่จริงก็คือจะเล่นงานฐานหมิ่นตัวเขานั่นเอง แต่อ้างพระมหากษัตริย์ 

กรณีหมิ่น ฮุน เซน นั้นต้องเรียกว่าเป็นการ  'หมิ่นเดชานุภาพ' ของจริง เพราะ 'ท่าน' นั้นใหญ่คับแผ่นดิน ขนาดมีราชทินนามว่า 'เดโช'

นี่คือความหลากหลายและซับซ้อนของการใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพของผู้นำประเทศ จะใช้สูตรเดียวกันในการแก้ปัญหาไม่ได้ และยิ่งตีขลุมอย่างสุดโต่งไม่ได้ว่ามันเลวร้ายหรือดีเลิศ

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ก่อนที่จะอภิปราย วิวาทะ หารือ ประเด็นนี้ เราควรจะเปิดหูเปิดตากันก่อนว่า ที่อื่นในโลกเขามีปัญหากับกฎหมายแบบ 'ม.112' หรือไม่ และเขาทำอย่างไรกับมัน

รู้เขารู้เรา แล้วกลับมามองตัวเอง ว่าสิ่งที่เราและทำกับ Lèse-majesté นั่นเกินเลยจากที่ประเทศอื่นๆ เขาหรือไม่ 

บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better 

Photo by Jack TAYLOR / AFP

TAGS: #ม.112 #ก้าวไกล