CNA สื่อในสังกัดของรัฐบาลสิงคโปร์ยังคงติดตาม Land bridge ของไทยอย่างใกล้ชิด ล่าสุด มีรายงานพิเศษที่พาดหัวข่าวไว้ว่า "Land bridge ล้ำเส้นเกินไปหรือเปล่า? การฟื้นฟูโครงการกระเมกะโปรเจ็กต์ของประเทศไทยทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวท้องถิ่น" ซึ่งเป็นรายงานทั้งในรูปแบบของสกู๊ปพิเศษสำหรับอ่าน และคลิปรายงานข่าวที่เผยแพร่ในยูทูบ
สื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์รายงานถึงความขัดแย้งในหมู่คนในท้องถิ่นที่โครงการ Land bridge จะตัดผ่านไป โดยเฉพาะในพื้นที่ของ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร โดยระบุว่า "ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการยังไม่ได้รับการพิสูจน์และไม่มีการระบุตัวนักลงทุนรายใหญ่" ตรงกันข้าม โครงการนี้ "กำลังเป็นภัยคุกคามที่จะสร้างความแตกแยกในชุมชนท้องถิ่น"
CNA ได้ทำการสัมภาษณ์ประชาชนในท้องถิ่น เริ่มจากคนที่อยู่ในพื้นที่ของโครงการโดยตรง ซึ่งบางคนเป็นชาวเล ซึ่งสื่อสิงคโปร์ระบุว่า "ชาวประมงรายย่อยเหล่านี้ (ชาวเล) มีสิทธิน้อยกว่าคนไทยคนอื่นๆ ถือว่าเป็นผู้พลัดถิ่นและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นทางการ ความสามารถในการมีงานทำหรือที่ดินเป็นของตัวเองนั้นยังไม่ค่อยดีนัก" พร้อมกับชี้ว่า ชาวเลที่จะถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่เหล่านี้ จะหางานทำได้ยาก เมื่อที่ทำกินของพวกเขากลายเป็นโครงการ
ชาวประมงรายย่อยคนหนึ่งคร่ำครวญว่า “ฉันกลัวโครงการแลนด์บริดจ์ ... เราจะสูญเสียที่ที่เราหาเลี้ยงชีพ และเราไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนเพราะไม่มีที่สำหรับเรา”
สื่อสิงคโปร์ยังแสดงความเป็นห่วง "พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง" ซึ่งอาจจะได้รับการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวมีคุณค่าด้านชีวภาพ ประกอบด้วยป่าชายเลน ทางน้ำ และพื้นที่ทางทะเล ครอบคลุมพื้นที่ 30,000 เฮกตาร์ ได้รับการยอมรับและขึ้นทะเบียนให้ได้รับการคุ้มครองโดย UNESCO ในปี 1997 เป็นที่อยู่ของสัตว์และพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม มีฝ่ายที่สนับสนุนโครงการนี้ในพื้นที่ด้วย CNA ชี้ว่า จ.ระนอง "ประสบปัญหาขาดการลงทุนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเก่าๆ เช่น ป่าไม้และเหมืองแร่ได้ค่อยๆ ยุติลง และการท่องเที่ยวก็ถูกแหล่งท่องเที่ยวทางใต้อย่างภูเก็ตและกระบี่แซงหน้าหน้าไปอย่างมากมาย"
ดังนั้น "วงการธุรกิจ (ในระนอง) ต่างหิวโหยที่จะเห็นการลงทุนหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับ land bridge" และการเชื่อมต่อกับภูมิภาคที่ดีขึ้นเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว ก็อาจเปลี่ยนแปลงความเป็นไปใน จ.ระนอง ได้
มีประเด็นที่น่าสนใจที่ CNA ได้หยิบยกขึ้นมา จากการไปสำรวจความเป็นไปในชุมชนบางแห่งใน จ.ชุมพร โดยมีเสียงร่ำลือถึงการเก็งกำไรที่ดิน โดยมีผู้ก้านซื้อพื้นที่ขนาดใหญ่ในราคาถูกโดยมีเป้าหมายเพื่อขายทำกำไรในภายหลังเมื่อมูลค่าเพิ่มขึ้น CNA ระบุว่า "หลายคนยืนกรานว่าบุคคลสำคัญทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการผลักดันการซื้อที่ดินรอบโครงการ"
สื่อของสิงคโปร์รายงานว่า คนในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ดังนั้นจึงไม่อยากจะคิดที่จะขายที่ดินแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น
โดยสรุปแล้ว จากรายงานของ CNA มีภาพที่ตรงกันข้ามระหว่าง จ.ระนอง ซึ่งค่อนข้างขัดสน กับ จ.ชุมพร ที่มีกินมีใช้ตามวิถีชนบท ใน จ.ระนองบางพื้นที่ เช่น เกาะช้าง มีสภาพที่ยากจนและไม่มีสาธารณูปโภคครบถ้วน ทำให้คนท้องถิ่นบางคนบอกกับสื่อรายนี้ว่า บางทีโครงการ Land bridge อาจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาให้มีกินมีใช้มากขึ้น แม้ว่าอาจจะแต้องแลกมาซึ่งความสวยงามของธรรมชาติ
ในขณะที่คนใน จ.ชุมพรรายหนึ่งบอกว่า “รายได้ของเรามั่นคง รัฐบาลไม่สามารถหาข้ออ้างในการปรับปรุงชีวิตของเราด้วยการสร้างเมกะโปรเจ็กต์ได้"
และชี้ว่า “จริงๆ แล้ว พวกเขา (รัฐบาล) กำลังไล่คนออกจากบ้าน”
Phoro - NASA (Public domain)