เบื้องหลังของเหตุการณ์นี้
เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567 ในระหว่างพิธีรำลึกถึงการลอบสังหารคาเซม สุไลมานี นายทหารชาวอิหร่านที่หลุมศพของเขาในเมืองเคอร์มาน ประเทศอิหร่าน จู่ๆ ก็เกิดโจมตีด้วยระเบิด 2 ครั้ง การโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย และบาดเจ็บอีก 284 ราย ต่อมากลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีดังกล่าว
อยาตุลลอฮ์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ให้คำมั่นว่าจะ "ตอบโต้อย่างหนัก" ต่อการโจมตีดังกล่าว และประกาศว่าผู้ที่รับผิดชอบ "จะเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนของการปราบปรามและการลงโทษอย่างยุติธรรมนับจากนี้เป็นต้นไป"
สรุปเหตุการณ์ช่วงแรก
- "การลงโทษ" ของอิหร่านเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567 อิหร่านได้ดำเนินการโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธและด้วยโดรนหลายครั้ง โดยเป้าหมายการโจมตีอยู่ภายในอิรักและซีเรีย อิกหร่านอ้างว่าได้กำหนดเป้าหมายไปที่สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของหน่วยข่าวกรองอิสราเอล คือ "มอสสาด" ซึ่งเป็นศัตรูของอิหร่าน และยังโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายหลายแห่งเพื่อตอบโต้เหตุระเบิดเคอร์มานเมื่อวันที่ 3 มกราคม ซึ่งกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ประกาศความรับผิดชอบในฐานะผู้โจมตี
- เมืองเออร์บิล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานของอิรัก ตกเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธ 11 ลูกจากทั้งหมด 15 ลูกที่ถูกยิงมาจากอิหร่าน โดยอิหร่านอ้างว่าเพื่อโจมตีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล ได้คร่าชีวิตพลเรือนไป 4 คนและบาดเจ็บอีก 17 คน การโจมตีในเมืองเออร์บิลมุ่งเป้าไปที่ที่อยู่อาศัยของ เปชรอ ดิซายี ซีอีโอ CEO ของ Empire World ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ดิซายี เสียชีวิตพร้อมกับลูกสาว รวมถึงแม่บ้านของพวกเขา และนักธุรกิจ คารัม มิคาอิล ซึ่งอิหร่านอ้างว่าที่อยู่อาศัยของ เปชรอ ดิซายี คือฐานที่มั่นของสายลับยอิสราเอล
- ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอิรัก คาซิม อัล-อาราจี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนด้านความมั่นคงระดับสูงไปยังเมืองเออร์บิล เพื่อประเมินผลพวงของการโจมตีของอิหร่านในเมืองหลวงของชาวเคิร์ด หลังจากตรวจสอบสถานที่เป้าหมายแล้ว เขาสรุปข้อกล่าวอ้างเรื่องฐานทัพหน่วยสายลับมอสสาดของิิสราเอลในเมืองเออร์บิลนั้น “ไม่มีมูลความจริง”
- แต่อิรักไม่ใช่ที่เดียวที่ถูกถล่ม ยังมีขีปนาวุธที่เหลืออีก 4 ลูกมุ่งเป้าไปที่เขตผู้ว่าการอิดลิบของซีเรีย โดยกำหนดเป้าหมายไปยังพื้นที่ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียกำลังยึดครองอยู่ และเป็นฐานของกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย เช่น IS โดยอิหร่านเผยว่ายิงขีปนาวุธเป็นระยะทางไกลถึง 1,200 กิโลเมตร เพื่อทำลายเป้าหมาย
- แต่การโจมตีครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายที่ขยายวงจากตะวันออกกลางเข้ามาในเอเชียใต้แล้ว และต้องจับตาว่ามันจะทำให้ภูมิภาคเหล่านี้ลุกเป็นไฟหรือไม่
ลุกลามเข้าในเอเชียใต้
- หนึ่งวันหลังจากการโจมตีในอิรักและซีเรีย อิหร่านได้ปฏิบัติการโจมตีด้วยขีปนาวุธหลายครั้งเข้าใมาในปากีสถาน โดยอ้างว่าได้กำหนดเป้าหมายไปที่ Jaish ul-Adl ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในแคว้นบาโลชิสถานของปากีสถาน ที่อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอิหร่านเมื่อปี 2019
- รัฐบาลปากีสถานประณามการโจมตีเหล่า และสั่งขับไล่เอกอัครราชทูตอิหร่านออกจากกรุงอิสลามาบัด และระบุว่าการโจมตีดังกล่าวได้คร่าชีวิตเด็กสองคนในแคว้นบาโลชิสถาน ต่อมารัฐบาลปากีสถานได้ให้คำมั่นว่าจะตอบสนองต่อการละเมิดของอิหร่านต่อน่านฟ้าของปากีสถาน
- ต่อมาวันที่ 18 มกราคม ปากีสถานทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่อิหร่าน สองวันหลังจากการโจมตีของอิหร่านทำ โดยปากีสถาน ระบุว่า การโจมตีดังกล่าวได้โจมตี “ที่ซ่อนของผู้ก่อการร้าย” ในจังหวัดซิสตาน-โอ-บาโลชิสถานซึ่งมีพรมแดนติดกัน ขณะที่สื่ออิหร่านรายงานว่าผู้หญิง 3 คนและเด็ก 4 คนถูกสังหาร
- การโจมตีตอบโต้ของปากีสถาน เรียกว่าปฏิบัติการ Operation Marg Bar Sarmachar ที่แปลว่า “ความตายจึงมีแก่นักสู้กองโจร” โดย “ที่ซ่อนของผู้ก่อการร้าย” ที่อ้างถึงนั้น คือกลุ่มที่เรียกว่า "แนวร่วมปลดปล่อยบาโลชิสถาน" (Baluch Liberation Front) ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในอิหร่านและปากีสถาน
- ทั้งปากีสถานและอิหร่านต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธมายาวนานในภูมิภาคบาโลชิสถานที่ทั้งสองประเทศมีแนวพรมแดนติดต่อกั 900 กิโลเมตร แต่นอกจากทั้งสองประเทศจะไม่ร่วมมือกันแล้ว ยังกล่าวหากันว่าช่วยอุ้มชูกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อกันและกัน เช่น ปากีสถานกล่าวหาว่าอิหร่านให้ที่กบดานกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวปากีถสาน
- ส่วนอิหร่านมีปัญหากับ Jaish ul-Adl หรือกองทัพแห่งความยุติธรรม เป็นกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ปฏิบัติการทั้งสองด้านของชายแดนสองประเทศ และก่อนหน้านี้เคยอ้างความรับผิดชอบต่อการโจมตีเป้าหมายในอิหร่าน และเป้าหมายของกลุ่มนี้คือแยกดินแดนของอิหร่าน ในส่วนของจังหวัดซิสตาน-โอ-บาโลชิสถาน
Photo - ภาพจากสำนักงานของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2024 ขณะที่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี กำลังทักทายนักการศาสนาชาวอิหร่านจากทั่วประเทศระหว่างการประชุมในกรุงเตหะราน (ภาพโดย KHAMENEI.IR / AFP)