เกิดอะไรขึ้นที่เอกวาดอร์? สรุปสถานการณ์ระอุ ในประเทศที่อาชญากรครองเมือง

เกิดอะไรขึ้นที่เอกวาดอร์? สรุปสถานการณ์ระอุ ในประเทศที่อาชญากรครองเมือง

เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567 ความขัดแย้งด้วยอาวุธได้ปะทุขึ้นในเอกวาดอร์ หลังจากที่รัฐบาลเอกวาดอร์ใช้มาตรการกวาดล้างกลุ่มอาชญากรหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชญากรลอส โชเนรอส (Los Choneros) ทำให้กลุ่มเหล่านี้ลุกฮือต่อต้านครั้งใหญ่ ประจวบเหมาะกับการที่ผู้นำกลุ่ม Los Choneros คือ โฮเซ อดอล์โฟ มาซีอัส บียามาร์ (José Adolfo Macías Villamar) หลบหนีออกจากคุกในเมืองกายาควิล ตามด้วยกาประกาศภาวะฉุกเฉินของประธานาธิบดี ดานิเอล โนโบอา ทำให้กลุ่มอาชญากรก่อเหตุครั้งใหญ่ไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับประกาศว่าจะทำ "สงคราม" กับประธานาธิบดีของประเทศ ผู้ที่มีแผนการที่จะทวงคืนการปกครองประเทศมาจากกลุ่ม "อาชญากรค้ายา" (narcoterrorists)

เบื้องหลังของสถานการณ์

  • นับตั้งแต่ประมาณปี 2561 เอกวาดอร์ประสบปัญหาวิกฤตด้านความปลอดภัยอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างองค์กรอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การผลิตใบโคคาได้เพิ่มขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างโคลอมเบียและเปรู โดยทั้งโคเคนและโคคาเข้าสู่เอกวาดอร์ทางบกและทางทะเล นอกจากนี้ การใช้เงินดอลลาร์สหรัฐของเอกวาดอร์ยังทำให้กลุ่มอาชญากรฟอกเงินได้ง่ายขึ้น
  • ความขัดแย้งระหว่างแก๊งเริ่มขึ้นหลังจากการฆาตกรรม ฮอร์เก้ ลูอิส ซัมบราโน (Jorge Luis Zambrano) ผู้นำกลุ่มอาชญากร Los Choneros เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในแก๊งที่เก่าแก่และอันตรายที่สุดในประเทศ การตายของของ ซัมบราโน ทำให้สมาชิกแยกตัวออกจากแก๊งค์และเริ่มทำสงครามกับกลุ่มอดีตผู้นำในแก๊งเพื่อควบคุมเรือนจำของประเทศ (ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของอาชญากร) และการค้ายาเสพติดผ่านการสังหารหมู่และอาชญากรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
  • ความรุนแรงไม่เพียงเกิดขึ้นทั่วไป แต่ยังมักเกิดขึ้นในเรือนจำ ซึ่งเป็นแหล่งสุมหัวของอาชญากรที่ถูกจับได้ ผลก็คือในเดือนกันยายนปี 2564 เกิดการจลาจลในเรือนจำกวายากิล ตามมาด้วยการสังหารหมู่ในเรือนจำที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ละตินอเมริกา โดยรวมแล้ว เฉพาะปี 2564 เพียงปีเดียว มีนักโทษถูกสังหารในประเทศนี้แล้ว 503 ราย

ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น

  1. เมื่อวันที่ 7 มกราคม โฮเซ บียามาร์ ผู้นำ Los Choneros หนีออกจากเรือนจำในเมืองกวายากิลในวันที่มีกำหนดย้ายเขาไปเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงสุด เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการรายงานในวันรุ่งขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ โดยมีการฟ้องร้องผู้คุมสองคนด้วย
  2. หลังจากการหลบหนี ประธานาธิบดี ดานิเอล โนโบอา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีผลเป็นเวลา 60 วัน  ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการระงับสิทธิของประชาชน และอนุญาตให้ทหารระดมพลภายในเรือนจำได้ ในเวลาเดียวกันนั้น เกิดการจลาจลเกิดขึ้นในเรือนจำหลายแห่งทั่วเอกวาดอร์
  3. สถานการณ์เริ่มเอาไม่อยู่ เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ถูกหมายหัว โดยในคืนวันที่ 8 มกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายถูกลักพาตัวในกรุงกีโต เมืองหลวงของประเทศ และเมืองเกเบโด
  4. เมื่อวันที่ 9 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น (ประมาณวันที่ 10 ตามเวลาประเทศไทย) กลุ่มติดอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกอาชญากรในเอกวาดอร์ออกคำขู่ว่าจะ "ทำสงคราม" ส่งผลให้ประธานาธิบดีของประเทศต้องประกาศสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในประเทศและอนุญาตให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อสู้กับกลุ่มเหล่านี้ได้ 
  5. ขณะเดียวกัน อาชญากรอีกกลุ่มหนึ่งจับตำรวจเป็นตัวประกัน โดยบังคับให้ตำรวจอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มว่าเป็นการตอบสนองต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินของโนโบอา นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ลักพาตัวเกิดขึ้นที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยกวายากิล และมีกลุ่มนักศึกษาต้องขังตัวเองอยู่ในห้องเรียน
  6. มีรายงานการโจมตีพลเรือนหลายครั้ง ที่ห้างสรรพสินค้าอัลบาน บอร์ฮา (Albán Borja) ในเมืองกวายากิล มีพลเรือนสองคนถูกยิงเสียชีวิต ในเรือนจำ สถานการณ์ก็กลายเป็นมิคสัญญี เมื่อมีการเผยคลิปวิดีโอทางออนไลน์แสดงให้เห็นผู้คุมในเรือนจำถูกประหารชีวิต ในขณะที่คนอื่นๆ ขอเจรจากับประธานาธิบดีโนโบอา ขณะเดียวกันก็ขู่ว่าจะฆ่าผู้คุมต่อไปอีก
  7. ขณะนี้ สถานการณ์ยังเลวร้าย ถึงขนาดที่ ธนาคาร ตลาด และร้านค้าต่างๆ ถูกปิดทั่วประเทศในเมืองต่างๆ เช่น กีโต กวายากิล และลอสบาเยส เพื่อปกป้องพ่อค้าและลูกค้าจากการโจมตีด้วยอาวุธ ส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ระงับชั้นเรียนแบบตัวต่อตัวและกำหนดให้มีการเรียนออนไลน์จนถึงวันที่ 12 มกราคม 
  8. ประธานาธิบดีโนโบอาประกาศว่าการขนส่งในกรุงกีโตจะหยุดดำเนินการ ยกเว้นรถไฟใต้ดินกีโตซึ่งจะให้บริการตามจุดหยุดและชั่วโมงที่จำกัด นอกจากนี้เขายังกล่าวด้วยว่าสนามบินนานาชาติมาริสกัล ซูเคร่ (Mariscal Sucre International Airport) ในกีโตจะยังคงเปิดอยู่ แต่จะเพิ่มการรักษาความปลอดภัย  

บทวิเคราะห์ เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เอกวาดอร์ เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยถูกกลุ่มอาชญากรและแก๊งค้ายา เหมือนกัยอีกหลายประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนเหนือ หนึ่งในแก๊งใหญ่ที่สุดคึอ Los Choneros พวกเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำการขู่กรรโชก ฆาตกรรม ฆ่าตามสัญญา ค้ายาเสพติด และอาชญากรรมอื่น ๆ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งเอกวาดอร์ระบุ Los Choneros เป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มพันธมิตรชาวโคลอมเบียที่มีผลประโยชน์ภายในประเทศ สมาชิกหลายคนอยู่ในรายชื่อที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของเอกวาดอร์ 

ผู้นำคนปัจจุบันคือ โฮเซ่ บียามาร์ (เกิด 30 กันยายน พ.ศ. 2522) หรือที่รู้จักในนาม ฟีโต้ (Fito) เขาเข้ารับตำแหน่งผู้นำในปี 2663 หลังจากการฆาตกรรม ฮอร์เก ลุยส์ ซัมบราโน ผู้นำกลุ่มคนก่อน เขาถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี 2554 โดยก่อนหน้านี้ได้หลบหนีออกจากคุกและใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยในปี 2556  ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เขาหนีออกจากคุกอีกครั้ง ทำให้ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเอกวาดอร์เป็นเวลาหกสิบวัน 

นอกจาก Los Choneros แล้ว เอกวาดอร์ยังมีกลุ่มอาชญากรรมอีกมากมาย เฉพาะที่ถูกเอ่ยถึงในประกาศของประธานาธิบดีมีอยู่ 22 กลุ่ม โดยประธานาธิบดีโนโบอา ระบุว่ากลุ่มอาชญากรเหล่านี้เป็น "องค์กรก่อการร้ายที่เป็นคู่สงครามและผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐ" 

การใช้คำว่า "คู่สงคราม" (belligerent ) และ "ผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐ" (non-state actors) หมายถึงสถานะของกลุ่มเหล่านี้ที่มีศักยภาพทางอาวุธและกำลังพอที่จะโต้ตอบรัฐได้ เหมือนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือศัตรูจากต่างรัฐ

แต่เรื่องนี้อาจมีเงื่อนงำกว่าการปะทะระหว่างรัฐกับแก๊งอาชญากร นักวิเคราะห์ข่าวกรองเชื่อว่าการโจมตีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการ  Operation Metastasis ซึ่งเป็นการสืบสวนความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลสำคัญทางการเมือง เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และแก๊งอาชญากร ซึ่งนำไปสู่การจับกุมจำนวนมากในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

และเพราะความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจทางการเมือง จึงทำให้แก๊งอาชญากรพวกนี้เหิมเกริมได้ถึงขนาดนี้ 

ทั้งนี้ ในเอกสารโทรเลขทางการฑูตปี 2009 เฮเทอร์ ฮอดจ์ส เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "การทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งชาติเอกวาดอร์แพร่หลายและเป็นที่รู้กันดี"  

Photo - TOPSHOT - ประชาชนได้รับการช่วยเหลือออกจากพื้นที่ของสถานีโทรทัศน์ TC ของเอกวาดอร์ หลังจากมือปืนไม่ทราบชื่อบุกเข้าไปในสตูดิโอโทรทัศน์ของรัฐที่ออกอากาศสดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2024 ในเมืองกวายากิล ประเทศเอกวาดอร์ หนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีดานิเอล โนโบอา แห่งเอกวาดอร์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังจากการหลบหนีจากคุกของหัวหน้านักค้ายาเสพติดที่อันตราย  (ภาพโดย STRINGER / AFP)


 

TAGS: #เอกวาดอร์