ภูฏานไม่โรแมนติกอีกต่อไป? คนหนุ่มสาวตกงานจนต้องหนี ปัญหาปากท้องท้าทาย'ความสุขแห่งชาติ'

ภูฏานไม่โรแมนติกอีกต่อไป? คนหนุ่มสาวตกงานจนต้องหนี ปัญหาปากท้องท้าทาย'ความสุขแห่งชาติ'

ราชอาณาจักรภูฏาน อาณาจักรในเทือกเขาหิมาลัยที่งดงามราวภาพวาด จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันอังคารที่ 9 มกราคม 2024 พร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ทำให้เกิดคำถามถึงนโยบายที่มีมายาวนานของภูฏานในการจัดลำดับความสำคัญของ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" มากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ

มีพรรคการเมืองสองพรรคที่แข่งขันกันในการเลือกตั้ง ต่างมุ่งมั่นที่จะยึดหลักปรัชญาของรัฐบาลทกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งวัดความสำเร็จของประเทศโดยใช้ "ความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน" เป็นมาตรฐาน

ผู้ลงคะแนนเสียงบางส่วนถูกคาดหวังให้เดินทางเป็นเวลาหลายวันเพื่อลงคะแนนเสียงในประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและมีประชากรเบาบาง ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับสวิตเซอร์แลนด์

สิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของหลายๆ คนคือการต่อสู้ดิ้นรนของคนรุ่นใหม่ในภูฏานที่ต้องเผชิญ กับการว่างงานเรื้อรังของเยาวชน และปัญหาสมองไหลจากการอพยพไปต่างประเทศ

“เราไม่ต้องการถนนหรือสะพานใหม่อีกต่อไป” คินลีย์ วังชุก เกษตรกรวัย 46 ปี บอกกับสำนักข่าว AFP  “สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คืองานที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาว”

อัตราการว่างงานของเยาวชนในภูฏานอยู่ที่ 29% ตามข้อมูลของธนาคารโลก ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวแบบกระปริบกระปรอยโดยเฉลี่ย 1.7% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

พลเมืองวัยหนุ่มสาวมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์เดินทางออกจากประเทศเพื่อการค้นหาโอกาสทางการเงินและการศึกษาที่ดีขึ้นในต่างประเทศนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยที่ออสเตรเลียเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ

รายงานข่าวท้องถิ่นรายงานว่า ชาวภูฏานประมาณ 15,000 คนได้รับการอนุมัติวีซ่าที่ออสเตรเลียในช่วง 12 เดือนถึงเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าช่วง 6 ปีที่ผ่านมารวมกัน และเกือบ 2% ของประชากรราชอาณาจักรภูฏาน

ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับทั้งสองพรรคการเมืองโต้แย้งกันในการเลือกตั้ง

เพมา เชวัง จากพรรคภูฏานเทนเดรล (BTP) ซึ่งมีอาชีพข้าราชการ กล่าวว่าประเทศกำลังสูญเสีย "หัวกะทิของชาติ"

“หากแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ เราอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ของหมู่บ้านที่ว่างเปล่าและประเทศที่ถูกทิ้งร้าง” เชวัง วัย 56 ปีกล่าวเสริม

ฝ่ายตรงข้ามของเขา คืออดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (PDP) เชอริง ต็อบเกย์ วัย 58 ปี ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและการอพยพของมวลชนครั้งใหญ่” ของภูฏาน

แถลงการณ์ของพรรคเขาอ้างสถิติของรัฐบาลที่แสดงให้เห็นว่า หนึ่งในทุกๆ แปดคนในภูฏาน “ดิ้นรนเพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานด้านอาหาร” และความจำเป็นอื่นๆ

คำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจ
การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนแบ่งเล็กๆ ของเศรษฐกิจภูฏานแต่เป็นผู้สร้างรายได้หลักจากเงินตราต่างประเทศ ยังไม่ฟื้นตัวจากการหยุดชะงักของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลได้ตัดค่าธรรมเนียมรายวันจำนวนมากที่ก่นหน้านี้กำหนดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องจ่ายเป็นค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อให้มั่นใจว่าอุตสาหกรรมนี้ยังคงมีความยั่งยืนและป้องกันความเสียหายต่อระบบนิเวศ

แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 มีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยว 316,000 คนที่ไปเยือนเมื่อ 4 ปีก่อน

รัฐบาลชุดก่อนได้ดำเนินโครงการหลายโครงการเพื่อกระจายเศรษฐกิจ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนอินเดีย และวางแผนร่วมกับบริษัทในสิงคโปร์เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการขุดเหมือง cryptocurrency

ทั้งสองฝ่ายได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการลงทุนครั้งใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก

แถลงการณ์ของพรรค BTP ระบุว่า กำลังการผลิตพลังน้ำที่ประเทศมีอยู่ในเวลานี้ถูกใช้เพียง 10% ของศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยพรรค PDP ให้คำมั่นว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ที่จะจัดหางานที่มีความจำเป็นมาก

หุบเขาบนภูเขาของภูฏานและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ได้สร้าง "เงื่อนไขที่เหมาะสม" สำหรับการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำและการส่งออกไปยังอินเดีย ตามข้อมูลของธนาคารโลก

ประเทศเนปาลที่อยู่ใกล้เคียงในสัปดาห์นี้ลงนามข้อตกลงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำไรเพื่อจัดหาพลังงาน 10,000 เมกะวัตต์ในทศวรรษหน้าให้กับอินเดียที่กำลังหิวโหยพลังงาน ซึ่งต้องพึ่งพาถ่านหินอย่างท่วมท้น แต่กำลังดำเนินการเบื้องต้นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ปราบปรามการเคลื่อนไหว
ภูฏานจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี 2008  (พ.ศ. 2551) หลังการปฏิรูปการเมืองจัดตั้งรัฐสภาสองสภาไม่นานหลังจากเริ่มรัชสมัยของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแห่งนี้ มักถูกปราบปรามมาโดยตลอด โดยมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดซึ่งกำหนดให้สื่อการเลือกตั้งต้องโพสต์บนกระดานประกาศสาธารณะเท่านั้น

การแข่งขันขั้นต้นในเดือนพฤศจิกายน จำกัดการแข่งขันให้เหลือเพียง 2 พรรค โดยทั้งฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลชุดก่อนและอดีตฝ่ายค้านถูกตกรอบ

พรรคของอดีตนายกรัฐมนตรี โลเทย์ เชอร์ริง (ซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำงานเป็นแพทย์ศัลยกรรมในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อ "คลายเครียด" จากแรงกดดันในที่ทำงานในทำเนียบ) ได้รับการสำรวจเพียง 13%

ภูฏานมีประชากรประมาณ 800,000 คน และตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่มีประชากรมากที่สุด 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย

เพื่อนบ้านทั้งสองกำลังเฝ้าดูการลงคะแนนเสียงด้วยความสนใจ ขณะที่พวกเขาจับตาดูเขตชายแดนที่มีความขัดแย้งทางยุทธศาสตร์

“ข้อตกลงความร่วมมือ” ได้รับการลงนามระหว่างภูฏานและจีนในเดือนตุลาคม หลังจากการพูดคุยเรื่องพรมแดนทางตอนเหนือที่เป็นข้อพิพาทระหว่างกัน แต่เรื่องนี้จุดประกายความกังวลในอินเดีย

รัฐบาลอินเดียถือว่าภูฏานเป็นรัฐกันชนมายาวนานภายใต้อิทธิพลของอินเดีย และเคยเป็นผู้รับหน้าที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศแทนราชอาณาจักรภูฏานจนถึงปี 2007

(หมายเหตุ - หลังจานั้น ภูฏานก็ตั้งระบอบการปกครองแบบรัฐสภาและตั้งรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว แทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบเบ็ดเสร็จเหมือนแต่ก่อน)
 
Report - Agence France-Presse

Photo - ผู้ศรัทธาเดินเวียนไปที่วัดอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ขณะสวดมนต์ในเมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2019 (AFP / Lillian SUWANRUMPHA)