‘พิธา’ ยกคณะคุยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น 

‘พิธา’ ยกคณะคุยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น 
‘พิธา’ ยกคณะคุยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ลุยจัดการหลักสูตร กอส.

วันนี้ (8 มิ.ย. 2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นของพรรค ประกอบด้วย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล นายรังสิมันต์ โรม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนางสาวเบญจา แสงจันทร์ เดินทางเข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นำโดย นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ

นายพิธา กล่าวก่อนการหารือว่า ที่ผ่านมาก่อนทำงานการเมืองก็เคยมีโอกาสหารือร่วมกันกับองค์กรลักษณะนี้อยู่แล้ว จนได้มาเป็นนักการเมือง ก็เคยมีการขอข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา เพราะถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อส่วนรวม อาทิ เรื่องที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ โดยหลังจากที่เป็น ส.ส.มา ก็เห็นภาพเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นหลากหลายรูปแบบ 

ดังนั้นการมาหารือในวันนี้ก็จะมีการนำเสนอ รวมถึงการรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับใช้ในนโยบายของรัฐบาลพรรคก้าวไกล รวมถึงการต่อยอดเพื่อต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย เรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจขณะนี้คือเรื่องที่เกี่ยวกับ “หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุ หรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร” (กอส.) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงส่วยทางหลวงที่ต้องมีการหาข้อเท็จจริงกันต่อไป และมั่นใจว่าการหารือนับจากนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคด้วย

นายพิธา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อันถือเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาอย่างมหาศาล มีการทำ MoU กับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อวางกรอบแนวทางการบริหารประเทศร่วมกัน คือ “ ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที” และสำหรับแนวนโยบายที่จะทำร่วมกันก็คือ “7.แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน” แสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลให้ความจริงจังกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้ง Corruption Perception Index : CPI พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนและลำดับอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ดังนั้น เราจึงมีเป้าหมาย ต้องการเร่งแก้ปัญหาการทุจริตให้เห็นผล ทำให้ดัชนี Corruption Perception Index : CPI ของประเทศไทยมีคะแนนและลำดับดีขึ้นได้โดยเร็วที่สุด

“หากเราผลักดันให้นโยบายของเราเรื่องการเปิดเผยข้อมูลรัฐ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับโกง สำเร็จได้ภายใน 100 วันตามที่เราตั้งไว้ ผมเชื่อว่าต้นปีหน้า เราจะมีข่าวดีว่าคะแนนและลำดับของประเทศไทยใน CPI จะสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน และประชาชนจะยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย” หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวเพิ่มเติมว่า เราเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต้องทำให้ ‘ระบบดี’ ด้วย เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงมีหลักคิดสำคัญในการออกแบบระบบ คือจะต้องเป็นระบบที่ 1.ไม่มีใครอยากโกง 2.ไม่มีใครกล้าโกง 3.ไม่มีใครโกงได้ 4.ไม่มีใครโกงแล้วรอด

โดยเราได้ออกแบบนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งและพร้อมนำไปปฏิบัติต่อไป เช่น การใช้ระบบ AI จับโกง ตรวจสอบแพทเทิร์นที่ส่อทุจริตในการบริหารจัดการภาครัฐ, การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ Open Government และ Open Parliament รวมทั้งนโยบาย ‘คนโกงวงแตก’ คือการออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อนให้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน (leniency programme) โดยเป็นระบบที่ทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกง (เช่น คนจ่ายกับคนรับสินบน บริษัทที่จะฮั้วประมูลกัน) ระแวงกันเองจนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง รวมทั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบคอร์รัปชันอย่างเช่น ป.ป.ช. ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น เพื่อจะได้มีความรับผิดรับชอบต่อประชาชน

โดยวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ACT) เปิดเผยว่า ดีใจที่พรรคก้าวไกลติดต่อเข้ามาพูดคุยหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอรัปชัน เชื่อว่าพรรคมีความจริงจังในประเด็นนี้ เรียกว่าการมีเจตจำนงอย่างมุ่งมั่น (Political Will) และภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความหวังว่าภาคการเมืองแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน เราได้แลกเปลี่ยนบางประเด็นที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างระบบนิเวศที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมองเห็นโอกาสที่จะสามารถร่วมมือกันได้ต่อไปในอนาคต

ทางด้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำเสนอในที่ประชุม โดยกล่าวว่า 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกลมีโรดแมป เราสามารถเปิดประชุมสภาฯ และใช้มติ ครม. เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ข่าวสารสาธารณะฯ กลับมาพิจารณาต่อได้เลยทันที, ระบบ AI จับโกง ที่เราสามารถต่อยอดจากระบบ ACT.AI ได้ทันที แต่สำหรับ 100 วันแรก คงไม่สร้างภาระให้หน่วยงานทั้งหมด เพราะเราสามารถใช้ข้อมูล ‘เท่าที่มี’ และ ‘เท่าที่เป็น’ (หมายถึงรูปแบบของข้อมูลที่มีอยู่) อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าข้อมูลประเภทไหนที่เมื่อหน่วยงานประกาศออกมา พบว่าหายไปทั้งที่หน่วยงานมีข้อมูลนั้นอยู่แล้ว เราจะสามารถสั่งให้เปิดเผยได้ทันที

ขณะเดียวกัน ใน 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกล ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบ แก้ไข แผนงบประมาณประจำปีถัดไป โดยเชื่อว่าจะสามารถตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และนำไปใช้ในโครงการที่คุ้มค่ามีประโยชน์ต่อประชาชน รวมได้กว่า 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ก้าวไกลยังผลักดันหลักการ Open Parliament เบื้องต้นจะถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกชุด เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบได้ โดยเชื่อว่าจะทำให้การคอร์รัปชันลดน้อยลง ไม่มีเหตุการณ์การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป

หลังจาก 100 วัน พรรคก้าวไกลผลักดันนโยบายบัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อให้สามารถสอดคล้องกับแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ เช่นการเข้าชื่อถอดถอน, เสนอร่างกฎหมาย และอาจจะสามารถต่อยอดในอนาคตได้ เช่นการเลือกตั้ง ประชามติ กระบวนการงบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินการใดๆ นั้นสะดวก รวดเร็ว ผิดพลาดน้อย แต่ต้นทุนต่ำ