อ่อนเพลียเรื้อรัง นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ควรเร่งพบแพทย์

อ่อนเพลียเรื้อรัง นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ควรเร่งพบแพทย์
สังเกตอาการนอนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ สาเหตุอาจเกิดจากอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากร่างกาย หรือสุขภาพจิต เช็คอาการให้ดีควรไปพบแพทย์

กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome: CFS) เป็นหนึ่งกลุ่มอาการที่เกิดได้จากหลายปัจจัย อาจเกิดจากการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุล หรือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง รู้สึกไม่สบายตัว หลับไม่สนิท ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะ

ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ เผยว่า อาการดังกล่าวที่ร่างกายแสดงออกมา อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายต้องการการพักผ่อน หรือพักจากการทำกิจกรรมต่างๆ และจะต้องมาดูว่าอะไรที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเหล่านี้ 

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด? รพ.เกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ เตือนอาการเหนื่อยล้า สามารถเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพต่างๆได้มากมาย เช่น การติดเชื้อ โรคทางจิตเวช หากคุณมีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง อ่อนเพลียรุนแรง พักผ่อนแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอทันที 

พญ. สริดา เลาหพันธุ์สวัสดิ์ อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มเผยว่า การวินิจฉัยแยกโรคของ CFS ออกเป็นโรคต่างๆได้ดังนี้

  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น Addison disease Adrenal sufficiency Cushing diseaseเบาหวาน ไทรอยด์
  • โรคเลือด/มะเร็ง
  • โรคติดเชื้อ : ไวรัสตับอักเสบ เอดส์ วัณโรค
  • โรคระบบประสาท
  • โรคทางจิตเวท : โรคไบโพล่า โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท
  • โรคทางรูมาโต : โรคกล้ามเนื้ออักเสบ รูมาตอยด์ แพ้ภูมิตัวเอง

ในส่วนของการรักษาจะเป็นเพียงการควบคุมและบรรเทาอาการ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคนเช่น

  1. การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) จะช่วยให้เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รวมทั้งเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ รู้สึกว่าตัวเองควบคุมอาการได้ เข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองที่แสดงออกมาต่อสภาวะบางอย่างได้ดีขึ้น
  2. การออกกำลังกาย จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกาย และเพิ่มความทนต่อกิจกรรมต่างๆและลดความเหนื่อยล้าลงได้
  3. การใช้ยารักษาโรค รักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการ ยาที่ใช้เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า ยานอนหลับ ยาลดอาการปวด
  4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับพฤติกรรมการนอน การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการเรื่องการพักผ่อน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียดีขึ้น

สรุปได้ว่า CFS ยังไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ หากเป็นอาการอ่อนล้าที่เกิดขึ้นจากปัจจัยความเหนื่อยล้าทางกาย เราสามารถบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ช่วย ฟื้นฟูร่างกายและสมองให้สดชื่น ปรับตารางการใช้ชีวิตให้สมดุล ก็จะสามารถช่วยลดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียได้ 

TAGS: #อ่อนล้าเรื้อรัง #พักผ่อน #สุขภาพ