วัยทำงานไม่ควร “ชิน” ใช้เวลาเดินทางนานเกินไป เสี่ยงภาวะซึมเศร้า

วัยทำงานไม่ควร “ชิน” ใช้เวลาเดินทางนานเกินไป เสี่ยงภาวะซึมเศร้า
การเริ่มต้นวันไปกับการใช้เวลาบนถนน ไม่ควรเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป เมื่อผลการศึกษาพบว่า เป็นต้นเหตุหนึ่งในการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

รถติดมาก......บีทีเอสคนแน่นมาก ...... แทบจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินประโยคเหล่านี้จากเพื่อนร่วมงาน และแทบจะกลายเป็นคำทักทายแทนคำว่า “สวัสดี” ในตอนเช้า

แม้หลายคนอาจรู้สึกชินกับการใช้เวลาเดินทางไปทำงานในตอนเช้าเป็นชั่วโมง แต่รู้หรือไม่ว่า มันอาจสะสมจนส่งผลต่อสุขภาพจิตคนวัยทำงานโดยไม่รู้ตัว

งานวิจัยโดย VitalityHealth ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่า การใช้เวลาเดินทางไปทำงานมากกว่า 1 ชม. ขึ้นไป มีผลต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่ใช้เวลาเดินทางไปทำงานน้อยกว่า 1 ชม. ถึง 33%

ข้อมูลอีกชุดจากผลการศึกษารูปแบบการเดินทางและภาวะซึมเศร้าในเมืองลาติน อเมริกา 11 แห่ง จาก National Library of Medicine ยังพบว่า การเดินทางที่เพิ่มขึ้นทุก 10 นาที มีผลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 0.5%

และคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเดินทางที่แสนยาวนานนี้ ไม่ใช่เพราะระยะทางไกล แต่ด้วยการจราจรที่ติดขัด ที่เป็นต้นเหตุหลัก จนนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ เกิดความวิตกกังวล, การควบคุมอารมณ์หงุดหงิดได้ไม่ดีเท่าที่ควร, ภาวะความเครียดสะสม และอาจร้ายแรงไปจนถึงโรคซึมเศร้า 

เหมือนเช่น ลอสแอนเจลิส เมืองใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา ที่พบปัญหารถติดอยู่อันดับ 1 ของโลกและในอเมริกาเหนือตามการรายงานของ INRIX บริษัทที่ให้บริการด้านข้อมูลและซอฟต์แวร์เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและโมบายแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการจราจร 

และยังสัมพันธ์กับข้อมูลจากบริษัทจัดหางานที่ใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง Robert Half ที่พบว่า ผู้คนในลอสแอนเจลิส ใช้เวลาเดินทางโดยเฉลี่ย 53.68 นาทีต่อครั้ง ส่งผลให้เป็นเมืองที่ประชาชนเกิดความเครียดจากการเดินทางมากที่สุด 

หากฉายภาพมาที่กรุงเทพมหานครก็เป็นอีกเมืองที่หลีกเลี่ยงปัญหารถติดได้ยาก ตั้งแต่อดีตที่มีการปรับเปลี่ยนการสัญจรจากเส้นทางน้ำ มาเป็นถนนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนผู้ใช้รถส่วนตัว และขนส่งสาธารณะที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

จนในปี 2024กรุงเทพฯ ขึ้นโผอันดับ 1 ของเมืองที่รถติดมากที่สุดในเอเชีย พ่วงด้วยรางวัลอันดับ 12 ของเมืองที่รถติดที่สุดในโลก ตามรายงานของ INRIX เช่นเดียวกัน 

แน่นอนว่า พอรถติดก็คงไม่มีใครอยากจะเดินทางไปทำงาน และหากปล่อยความรู้สึกนี้ไว้นาน สิ่งที่จะตามมา คือ “ภาวะหมดไฟ” จากความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการเดินทาง ซึ่งข้อมูลของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยิ่งย้ำให้เห็นชัดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หลังพบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน 

จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบัน ระยะเวลาการเดินทาง ได้ถูกหยิบมาเป็นเงื่อนไขในการเลือกงานที่ใช่ของผู้สมัคร อย่างที่ Paul McDonald กรรมการบริหารอาวุโสของ Robert Half บริษัทจัดหางานขนาดใหญ่ มองว่า หนึ่งในเงื่อนไขที่นายจ้างควรเน้นย้ำต่อผู้ที่มาสมัครงาน คือ การเดินทาง เพราะผู้สมัครส่วนใหญ่ต้องการเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น และมักจะถามหาสวัสดิการในการเดินทาง หรือขอ Work from Home แทนที่จะเข้าออฟฟิศ 

ทางออกของเรื่องนี้ ยังได้รับการแนะนำจาก Shaun Subel ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ VitalityHealth ว่า การยืดหยุ่นเวลาการทำงาน เพื่อให้พนักงานหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน จะช่วยลดความเครียดและส่งเสริมการใช้ชีวิตของพนักงานให้มีสุขภาพดีมากขึ้น และที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า สามารถส่งผลไปทางด้านบวกต่อประสิทธิภาพการทำงานได้จริง

คำบ่นจนชินปากของพนักงานหรือแม้แต่นายจ้างเอง หากต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน คงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม และสะกดจิตตัวเองหรือคนอื่นว่า ต้องอดทน, เดี๋ยวก็ชิน หรือ ใครก็ต้องเจอปัญหานี้ เพราะในเรื่องของสุขภาพจิต เราไม่มีทางรู้เลยว่า แต่ละคนรับได้มากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน แต่อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาในรูปแบบของ โรคซึมเศร้า

TAGS: #Mentality #สุขภาพจิต #โรคซึมเศร้า