เบื้องหลังนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ยังมีหัวใจที่หลงใหลในศิลปะ เปิดอีกหนึ่งมุมของ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ กับบทบาทผู้สนับสนุนวงการศิลปะไทย
การหลงไหลในงานศิลป์นั้นไม่ได้มีแต่ผู้ที่ผลิตงานศิลป์เท่านั้น การเสพงานศิลป์ถือเป็นอีกงานอดิเรกของใครหลายคน ที่ทั้งหลงใหลในประวัติศาสตร์ ความหมายที่ซ้อนเร้นอยู่ หรือแม้กระทั่งชื่นชอบในตัวผู้ผลิตงานศิลป์ และต้องการสนับสนุนผู้คนเหล่านี้ให้สามารถผลิตงานได้เรื่อยๆ และ 1 ในผู้ที่ชื่นชอบและเก็บสะสมงานศิลป์ที่น่าสนใจผู้หนึ่งในประเทศไทยคือ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2502–2514 มีบทบาทในการวางรากฐานระบบการเงินที่มั่นคงและโปร่งใส รวมถึงการนำนโยบายที่ทันสมัยมาปรับใช้ในระบบเศรษฐกิจไทย แต่อีกมุมหนึ่งท่านมีความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม ดร.ป๋วยให้ความสำคัญกับศิลปะและดนตรีไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนศิลปินไทยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านได้ริเริ่มให้ธนาคารจัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินร่วมสมัย เป็นแรงบันดาลใจให้สถาบันการเงินอื่น ๆ หันมาสนับสนุนงานศิลปะมากขึ้น และสนับสนุนการแสดงดนตรีไทยภายในองค์กร ดูได้จากเพลงไทยเดิมที่ท่านชื่นชอบ เช่น “เขมรพวง” และ “นกขมิ้น” ที่สะท้อนถึงความรักในวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง
รู้หรือไม่? ความช่วยเหลือจาก ดร.ป๋วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งหอศิลป์พีระศรี
ตอนนึงจากหนังสือภาพอาจารย์ป๋วย (2561) หน้า 127 กล่าวถึงตอนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีริเริ่มทำหอศิลป์ว่า อาจารย์ศิลป์ เคยรู้สึกอับอายที่มหาวิทยาลัยศิลปากรไม่มีหอศิลป์สำหรับจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทย ต้องนำผลงานที่เก็บกระจัดกระจายมาปัดฝุ่นเพื่อให้แขกต่างประเทศชม ท่านเคยปรารภว่าต้องการงบประมาณเพื่อสร้างหอศิลป์ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน
จนกระทั่ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้อ่านบทความที่อาจารย์ศิลป์เขียน และเข้ามาช่วยเสนอให้จัดนิทรรศการขายงานศิลปะเพื่อระดมทุน โดย ดร.ป๋วยจะสมทบเงินอีกครึ่งหนึ่ง ความช่วยเหลือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งหอศิลป์พีระศรี ซึ่งเป็นแกลเลอรีศิลปะแห่งแรกของไทย และนำไปสู่การตั้งหอศิลป์แห่งชาติ รวมถึงหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา น่าเสียดายที่โครงการยังไม่ทันเริ่ม อาจารย์ศิลป์ก็เสียชีวิตลงเสียก่อน
นอกจากนั้นระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2502–2514 ดร.ป๋วยได้เสนอแนวคิดให้ธนาคารสละทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่ออุดหนุนศิลปินสร้างผลงานศิลปะ และนำงานเหล่านั้นมาจัดแสดงไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยดร.ป๋วยเคยกล่าวไว้ว่า “ประชาคมใดที่เอาใจใส่บำรุงศิลปวิทยา ประชาคมนั้นย่อมประสบความเจริญมิใช่แต่ด้านศิลปอย่างเดียว ย่อมจะเจริญในด้านความดีและความจริงอันเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสันติสุขแห่งมนุษย์ในประชาคม”
ประวัติโดยย่อ
ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอกจาก London School of Economics (LSE) ประเทศอังกฤษ เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของไทย ผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในภาครัฐ การศึกษา และสังคม
นอกจากผลงานด้านเศรษฐกิจ ดร.ป๋วยยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้นำด้านการศึกษาและเสรีภาพทางวิชาการ ท่านเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและยืนหยัดต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอด ส่งผลให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในช่องท้องแตก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 สิริรวมอายุได้ 84 ปี 4 เดือน 19 วัน
สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ได้กล่าวยกย่อง ดร.ป๋วยว่าเป็น “บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่” (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ในปี พ.ศ. 2508 ดร.ป๋วยได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะและได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558 และยังคงเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ยึดมั่นในคุณธรรม ความรู้ และความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง