‘ลาซาด้า’ ใช้กลยุทธ์เกมมิฟิเคชัน สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าชาวไทย ใช้เวลาบนหน้าจอมือถือผ่านแอปฯมากขึ้น กระตุ้นยอดซื้อเมกะแคมเปญ 11.11 ปีนี้ รับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโต 16%
มาริสา ยูนิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ ลาซาด้า ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazadaในเครืออาลีบาบา เปิดเผยว่า ลาซาด้า นำกลยุทธ์เกมมิฟิเคชัน (Gamification) มาสร้างประสบการณ์การช้อปปิงออนไลน์บนแพลตฟอร์มลาซาดา ผ่านฟีเจอร์ลาซเกม (Lazgame) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม(Engagement) และรักษาฐานผู้ใช้งานกลุ่มลูกค้าชาวไทย ทุกเพศ ทุกวัย
สำหรับฟีเจอร์ดังกล่าว ประกอบด้วยเกม โกโกแมทช์ (GoGoMatch) และ เมิร์จ บอส (Merge Boss) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้งานอยู่บนแอปพลิเคชันลาซาด้าเป็นเวลานานมากขึ้น ด้วยแรงจูงใจจากการสะสมเหรียญลาซาดา (LazCoin) เพื่อนำไปใช้แลกพอยต์ (Point) เป็นส่วนลดซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มฯ
นอกจากนี้ กลยุทธ์เกมมิฟิเคชัน คาดยังจะเข้ามากระตุ้นมูลค่าการซื้อสินค้าของผู้บริโภคออนไลน์มากขึ้น ในช่วงเมกะแคมเปญ 11.11 (วันที่ 11 พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นแคมเปญวันเลขคู่ (Double Date) สำคัญของลาซาด้า ที่ประสบความสำเร็จมาโดยตลอดช่วงที่ผ่านมา นับแต่จัดแคมเปญใหญ่ดังกล่าว
“เครื่องมือเกมมิฟิเคชัน ยังดึงดูดผู้เล่นลาซเกมกว่า 80% ในไทยให้กลับมาใช้งานบนแอปฯ เฉลี่ยทุกสัปดาห์ในช่วงแคมเปญ 9.9 ที่ผ่านมา โดยมีเวลารวมที่ผู้ใช้งานลาซาด้าทั่วภูมิภาคเล่นเกมโกโกแมชท์ ยอดรวมเท่าเวลา 310 ปี และมีการเก็บเหรียญในเกม หรือ โทเคนราว 755 ล้านเหรียญ จากยอดรวมเล่นเกม 19 ล้านครั้ง” มาริสา กล่าว
นอกจากนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวยังสอดคล้องงานวิจัย รายงานการ พลิกโฉมการช้อปปิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการค้นหาสู่การจัดส่ง (2022) โดย ลาซาด้า ระบุว่า 79% ของผู้ใช้ลาซาด้าในไทย ซื้อสินค้าออนไลน์บนสมาร์ทโพนมากกว่าอุปกรณ์อื่น
สอดคล้อง รายงาน 2022 Mobile Insight Report โดยกูเกิล เผยสัดส่วน 51% ของผู้เล่นเกมบนมือถือ มองว่าประสบการณ์ที่สนุกเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ใช้เวลาบนเกมอย่างต่อเนื่อง
มาริสา เสริมว่าสำหรับกลุ่มสินค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า 3 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมในทุกช่วงเวลา คือ 1.กลุ่มสินค้าเครื่องสำอางและความงาม สกินแคร์ เมคอัพ น้ำหอม 2. กลุ่มสินค้าแฟชันเครื่องแต่งกาย และ 3.กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไอที โทรศัพท์เคลื่อนที่
นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าตามกระแสนิยม หรือ เทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ อย่าง หม่าล่า มากขึ้น โดยในช่วงปี2566 ที่ผ่านมา ลาซาด้า ยังมีอัตราการเติบโตธุรกิจในอัตราเลข 2 หลัก ในทิศทางเดียวกับตลาดอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย ที่มีการเติบโตราว 16%