TPCH รุกลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อนบ้านตั้งเป้าพอร์ตแตะ 500 เมกะวัตต์ปี’68

TPCH รุกลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อนบ้านตั้งเป้าพอร์ตแตะ 500 เมกะวัตต์ปี’68
TPCH เดินหน้าขยายลงทุนโรงไฟฟ้าลาว-กัมพูชาเหตุผลตอบแทนดี เร่งปิดดีล M&A ไตรมาส 2-3 ปีนี้ ตั้งเป้ารายได้โต 40%

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ว่า บริษัทฯให้ความสนใจกับการขยายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดี 

ทั้งนี้ล่าสุดได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ที่ สปป.ลาว พื้นที่ 1,000 ไร่ ผ่านบริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% โดย MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) มีระยะเวลา 25 ปีมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ประมาณ 13-14%

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเข้าร่วมลงทุน หรือซื้อกิจการ(M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศอีกหลายโครงการ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนทั้งหมด อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้

ดังนั้นจะส่งผลใหบริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกำลังการผลิตจากโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ สปป.ลาว  100 เมกะวัตต์ และการศึกษาโครงการโซลาร์ฟาร์มที่กัมพูชา อีกประมาณ 180 เมกะวัตต์ จะทำให้กำลังการผลิตรวมของบริษัทเติบโตเร็วกว่าเป้าที่ตั้งไว้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะเพิ่มเป็น 350 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 500 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้มีการเติบโต 30-40% และมีโอกาสทำกำไรสูงสุด(นิวไฮ) เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,758 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 173 ล้านบาท โดยมาจากการขายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน (PBM) จ.ปัตตานี กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2.85 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราการรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) อย่างต่ำหน่วยละ 3.88 บาทต่อหน่วย เมื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่า 80%  และเมื่อเดินผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 80% อัตรา FiT เป็นหน่วยละ 5.25 บาทต่อหน่วย  

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเริ่มรับรู้กำไร เทียบกับปี 2565 ที่บันทึกขาดทุน ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT โดยโรงไฟฟ้าที่ปัตตานี มีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ที่ 40% ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีนี้ทั้งรายได้และกำไรเติบโตอย่างมาก

สำหรับการลงทุนในไทย บริษัทตั้งเป้าเติบโตจากโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ มีกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ มีแผนเพิ่มอีก 40 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 5-7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่ง TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50%

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 2 โครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในเดือน ก.ค.นี้ นอกจากนี้บริษัทยังสนใจเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการ Quick Win) รอบใหม่ อีกจำนวน 2 โครงการ ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่ประกาศ TOR ต่อไป

นายเชิดศักดิ์   กล่าวว่า สำหรับงบลงทุน บริษัทมีหุ้นกู้อยู่ 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2566 วงเงิน 1,000 ล้านบาท และปี 2567 อีกประมาณ 500-600 ล้านบาท

 

 

 

TAGS: #TPCH #M&A #โซลาร์ฟาร์ม