จุฬาฯ - PMCU เสริมแกร่งผู้ประกอบการบรรทัดทอง-สามย่าน ด้วยโครงการโต๊ะกลม "ทางรอด-ทางรุ่ง ธุรกิจร้านอาหาร"

จุฬาฯ - PMCU เสริมแกร่งผู้ประกอบการบรรทัดทอง-สามย่าน ด้วยโครงการโต๊ะกลม
เมื่อการตลาดแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป โต๊ะกลม “Place Branding” ชี้ทางรอดใหม่ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารยุคดิจิทัล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) เปิดตัวกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “โต๊ะกลม: Place Branding – การส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชน” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ทางรอดทางรุ่ง ธุรกิจร้านอาหาร” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่บรรทัดทอง–สามย่าน ด้วยองค์ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์ การตลาดยุคใหม่ และการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

พิธีเปิดงานได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน รองอธิการบดีจุฬาฯ ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจที่แข็งแรง โดยการนำองค์ความรู้และทรัพยากรจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ เป็นวิทยากรหลักในการอบรมครั้งนี้ โดยนำเสนอเนื้อหาเข้มข้นในหัวข้อ “ทางรอด ทางรุ่ง ธุรกิจร้านอาหาร” ครอบคลุมทั้งแนวคิดเชิงกลยุทธ์ การตลาดเชิงพฤติกรรม และเทคนิคสร้างแบรนด์อย่างมีอัตลักษณ์

ผศ.ดร.เอกก์ เน้นย้ำว่า การตลาดยุคใหม่ไม่สามารถยึดติดกับแนวคิดเดิมที่ “อร่อยคือจุดขาย” ได้อีกต่อไป แต่ต้องใช้แบรนด์เป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างและสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค “อร่อยไม่ใช่การตลาด แต่การตลาดคือการทำให้คนเข้าใจและเชื่อในคุณค่าของร้าน ผ่านเรื่องเล่า ประสบการณ์ และอัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับบริบทของย่านและยุคสมัย”

หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจ คือแนวคิด “เถ้าแก่ดิจิทัล” ที่ผศ.ดร.เอกก์ยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาร้าน “มี่เสวี่ย” (Xixue) ซึ่งกล้าทดลองตลาดโดยไม่ยึดติดกับทำเลเดิม หากไม่เวิร์กก็ย้ายร้าน ปรับกลยุทธ์ใหม่ เป็นการทำธุรกิจแบบยืดหยุ่นที่เหมาะกับยุคที่การแข่งขันและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว

“ผู้ประกอบการต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ต้องตั้งคำถามว่า ลูกค้าเราอยู่ที่ไหน สนใจอะไร เสพสื่อผ่านช่องทางไหน และพร้อมเปลี่ยนมุมมองให้เหมือนลูกค้า” ผศ.ดร.เอกก์กล่าว พร้อมเสริมว่าธุรกิจในย่านบรรทัดทอง–สามย่านควร “สร้างแมกเน็ตของตัวเอง” ไม่รอพึ่งแค่ความเป็นย่านสตรีทฟู้ด แต่ต้องกลายเป็นจุดหมายที่ลูกค้าอยากกลับมา ด้วยแบรนด์ที่มีจุดยืนชัดเจน

เขายังชี้ให้เห็นถึงแนวทางการตลาดยุคใหม่ที่เข้าถึงเจนเนอเรชันใหม่อย่าง Gen Alpha ผ่านแพลตฟอร์มที่เด็ก ๆ ใช้จริง เช่น เกม Roblox และการสร้างประสบการณ์แบรนด์ในโลกเสมือนจริง เหมือนกรณีของ “เถ้าแก่น้อย” ที่ใช้การแจกสินค้าผ่านเกมเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ตั้งแต่เด็ก

“เราต้องเริ่มคิดแบบลูกค้า ไม่ใช่แค่แข่งกับคู่แข่ง แต่ต้องสร้างสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าก่อน แล้วค่อยทำให้ดีจนลูกค้ารักแบรนด์เรา”

กิจกรรม “โต๊ะกลม: Place Branding” จะจัดต่อเนื่อง 7 ครั้ง ครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย เช่น
    •    ปักหมุดให้เจอร้าน สร้างรีวิวให้ปัง โดยคุณทัพไทย ฤทธาพรม ผู้ร่วมก่อตั้ง Haab
    •    เพิ่มยอดขายด้วย Data ใช้ AI ให้ธุรกิจโตไว โดยคุณนภสินธุ์ ปิยะสินธ์ชาติ
    •    แก้เกม นักท่องเที่ยวหาย สร้างยอดขายด้วยลูกค้าประจำ โดยโค้ชป้อ ณธน โชติหิรัญรัตน์
    •    ขายดีแต่ไม่มีกำไร บัญชีช่วยได้ โดยทีม FlowAccount
    •    แชร์แพสชั่น ดันลูกค้าสู่การเติบโต โดยคุณคุณาพงศ์ เตชวรประเสริฐ และโค้ชปืน ธันยณภัทร สินสมบูรณ์
    •    ย่านมีชีวิต เมืองมีเรื่องราว โดย ผศ.ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ

โครงการนี้สะท้อนพันธกิจของจุฬาฯ ในการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสร้าง “แบรนด์ย่าน” ที่ไม่เพียงแต่แข็งแรงในเชิงธุรกิจ แต่ยังมีชีวิตในเชิงวัฒนธรรม และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม

TAGS: #โต๊ะกลมPlaceBranding #ทางรอดทางรุ่งธุรกิจร้านอาหาร #PlaceBranding #จุฬาฯxPMCU #สามย่านบรรทัดทอง #ถนนบรรทัดทอง #สามย่าน