รัฐบาลเดินหน้าร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ เชื่อข้อเสนอเจรจาภาษีทรัมป์ช่วยลดขาดดุลการค้า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) จัดงาน Thailand - U.S. Trade & Investment Summit 2025 : Building on a Longstanding Partnership เพื่อหวังแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา พร้อมหารือโอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพระหว่างกัน ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกว่า 200 ท่าน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังพร้อมทั้ง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวสุนทรพจน์ในงานดังกล่าว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ของไทยกล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ดำเนินมากว่า 190 ปี และความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยไทยพร้อมผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก การอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงาน และการเจรจา FTA ควบคู่กับการสนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ สุขภาพ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมเปิดเผยข้อเสนอในการลดดุลการค้า เช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นและลดภาษีสินค้าบางประเภทลง โดยมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบ Win-Win และอนาคตที่รุ่งเรืองร่วมกันของทั้งสองประเทศ
“ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริการัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ยั่งยืน ยุติธรรม และสมดุลในระยะยาวขณะนี้ เรากำลังดำเนินการในกรอบความร่วมมือที่มีเป้าหมายเพื่อ ลดความไม่สมดุลทางการค้า และเสริมสร้างความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว ดังที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ด้านการคลัง และผู้แทนจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้เรายื่นข้อเสนอที่มีรายละเอียดชัดเจน ซึ่งประเมินว่าแผนส่งออกนี้อาจช่วยลดตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
อย่างไรก็ตามแต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นนี้ และถือเป็นวาระสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยยึดมั่นในความร่วมมือที่เป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน ผ่านกรอบความร่วมมือที่เสนอไว้โดยเชื่อว่าทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
ด้านดร. พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 192 ปี รวมทั้งบทบาทของ“Team Thailand Plus” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไทยในการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยในงานครั้งนี้ยังมีการจัดเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ทั้งด้านการค้าภาคเกษตรและนวัตกรรมอาหาร ความริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม การค้าและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว โดยมีผู้แทนจากภาคธุรกิจของไทยและสหรัฐฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง“ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถรับมือกับความท้าทายและก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง
นอกจากนี้ยังแสดงความขอบคุณต่อผู้แทนรัฐบาลไทย หน่วยงานต่างประเทศ และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและความเข้าใจร่วมกันอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว. กล่าวว่าคามสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่มีพื้นฐานจากค่านิยมร่วมและความเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมชี้ให้เห็นว่าในยุคที่โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์สามารถมีบทบาทเป็น “ผู้เชื่อมโยง” และ “ผู้สร้างเสถียรภาพ” โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ขอเสนอแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลงทุนในพลังงานสะอาด การเป็นศูนย์กลางอาหารและสุขภาพของเอเชีย การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเสนอให้จัดตั้ง “เวทีเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ” สำหรับระยะ 10 ปี ที่เน้นความยืดหยุ่น นวัตกรรม ความทั่วถึง ความไว้วางใจ และการเชื่อมโยงทางด้านนโยบาย เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนจากเชิงประวัติศาสตร์สู่อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ต่อไป
ด้านเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย H.E. Mr. Robert F. Godec ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อพัฒนาขีดความสามารถร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี โดยสหรัฐฯ สนับสนุนประเทศไทย ในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน ถึงแม้จะมีสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ขอขอบคุณทั้ง 3 หน่วยงานผู้จัด ทั้งนี้มองว่าความร่วมมือกันจะทำให้แข็งแกร่งและเติบโตไปด้วยกัน
นอกจากนี้ วุฒิสมาชิก Tammy Duckworth ของสหรัฐฯ ได้แสดงความยินดีในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตและสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับอนาคต โดยเน้นย้ำถึงพลังของความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่สามารถช่วยให้เราผ่านพ้นความท้าทาย ค้นพบโอกาสใหม่ และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือของทั้งสองประเทศเป็นตัวอย่างอันทรงพลังของเอกภาพและวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อสังคมโลก
นอกจากนี้ยังได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมจัดงานครั้งนี้ และชื่นชมความมุ่งมั่นของผู้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างพันธมิตรระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน พร้อมอวยพรให้ทุกฝ่ายประสบความสำเร็จในการประชุมครั้งนี้ และขอขอบคุณหอการค้าไทย หอการค้าสหรัฐฯ และ AMCHAM สำหรับบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์การค้าและการลงทุนของไทย ณ ปัจจุบัน ซึ่งประสบกับสถานการณ์การค้าโลกที่ไม่แน่นอน แต่ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดีและปรับตัวได้ ทั้งนี้สำหรับการท่องเที่ยว ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงเนื่องจากเป็นแหล่งรายได้ที่มีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้นในด้านพลังงาน ประเทศไทยนั้นมีความโดดเด่นด้านทรัพยากรพลังงานที่มีจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนต่อการลงทุนด้านพลังงานต่ำกว่าประเทศอื่น โดยสามารถใช้จุดเด่นด้านนี้ในการดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ คุณพิชัยยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ควบคู่กับการวางแผน จัดสรรและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยประเทศไทยต้องการเป็นคู่ค้าทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญกับสหรัฐฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ฝ่ายจึงควรผลักดันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป
อย่างไรก็ตามภายในงาน ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทภาคเอกชนชั้นนำของไทยและสหรัฐฯ ผ่านการเสวนาภายใต้หัวข้อต่าง ๆ โดยในช่วงเช้าได้มีการเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างการค้าและนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร: เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และการขับเคลื่อนโครงการสีเขียว: ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืน ในขณะที่ช่วงบ่าย มีการเสวนาและแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นด้านการส่งเสริมการค้าและนวัตกรรมดิจิทัล: ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในเศรษฐกิจดิจิทัลและการฟื้นฟูอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว: ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิง
อย่าางไรก็ตามจากการร่วมกันจัดงานดังกล่าวผู้นำทั้งสามหอการค้า ผู้จัดงาน Thailand - U.S. Trade & Investment Summit 2025 ในครั้งนี้ ได้แก่ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย คุณชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทองและรองประธานด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียของ หอการค้าสหรัฐอเมริกา Mr. John Goyer ได้ร่วมกันเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทย และสหรัฐฯ ซึ่งจากการที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์และความร่วมมือใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนานจะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและการลงทุน ควบคู่ไปกับการร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี ดิจิทัล เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน