“นายพิชัย ชุณหวชิร” เร่งหารือแบงก์รัฐฯ ออกซอฟท์โลน 1 แสนล้าน ช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก 2 กลุ่มหลัก หลังคาดนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยสะดุด 2 ปี!!
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วนนั้น
เบื้องต้น กระทรวงการคลัง ประเมิน ผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยสะดุด 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก จึงเร่งหารือร่วมกับแบงก์รัฐฯ ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปสหรัฐฯ 2. คู่ค้าของผู้ส่งออกและซัพพลายเชนจ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME รวมถึงศึกษาแนวทางช่วยช่วย SME กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มท่องเที่ยว ร่วมด้วย
พร้อมมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาแบงก์รัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลง โดยการเชิญชวนมาปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การพักหนี้ พร้อมคาดว่าภายในวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.68 จะประกาศตัวเลข GDP ลดเหลือ 86% จาก 91%
ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท จำนวน 5.4 ล้านราย คิดเป็นหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท จำนวน 3 ล้านราย ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารออมสินได้ช่วยแก้ไขแล้ว 5.4 แสนราย พร้อมมีแผนแก้หนี้เพิ่มอีก 4 แสนราย ส่วนธกส.แก้หนี้แล้ว 2.5 แสนราย พร้อมมีแผนแก้เพิ่มอีก 7 หมื่นราย ส่งผลให้ภาพรวมจำนวนหนี้เสีย (NPL) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่นเนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศจีน ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว