ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากความกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ผลกระทบสงครามการค้า รวมถึงปัจจัยการเมืองเริ่มไม่นิ่ง ขณะที่มาตรการกระตุ้นยังไม่มีความชัดเจน
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI)ประจำเดือนเมษายน 2568 ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.7 เป็น 55.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงไตรสมาสแรกของปีนี้แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.3 53.0 และ 63.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 50.5 54.2 และ 64.4 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามการที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
นอกจากนี้การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 40.8 เป็น 39.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 64.4 มาอยู่ที่ระดับ 62.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่า ผู้บริโภคอาจเริ่มมีความเชื่อมั่นของบริโภคลดลงได้ในอนาคตหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและเศรษฐกิจไม่สามารถจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
“ความเชื่อมั่นอยู่ในช่วงขาลงจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้านๆทั้ง สงครามการค้า ความไม่แน่อนของการเมืองไทย ข่าวปรับครม.รวมถึงเหตุการณ์ชั้น 14 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย ขณะที่ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งคงต้องรอครึ่งปีหลัง ส่วนนโยบายทรัมป์มองว่าเริ่มผ่อนคลายนโยบายภาษีหลังงมีการขยายเวลาออกไป 90 วัน “