เอกชน ร่วมหนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต พร้อมปักหมุด “ภาคเหนือ” ทำเลยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีอาหาร ขับเคลื่อนไทยสู่ฮับแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารระดับโลก
อุตสากรรมอาหาร อีกหนึ่งเซ็กเมนต์สำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย จากจุดแข็งความครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ภาคการผลิตเพาะปลูก ไปจนถึงกระบวนการผลิตจนได้เป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และแปรรูป เพื่อทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ
เทรนด์อาหารหลังโควิด ตลาดเปลี่ยน
เจริญแก้ว สุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุภาพรวมอุตฯอาหารและเครื่องดื่มของไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 1.54 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าเกษตรอาหาร 0.74 ล้านล้านบาท (48%) สินค้าอาหารสำเร็จรูป และ เครื่องดื่ม 0.80 ล้านล้านบาท (52%) เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 13 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจาก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม
ขณะที่เทรนด์อาหาร ในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนหลังทั่วโลกผ่านพ้นสถานการณ์โควิด โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญในผลิตภัณฑ์อาหารสด สะอาด มีความใส่ใจในตลอดกระบวนการห่วงโซ่อุปาทาน ตั้งแต่จุดตั้งต้นการเพาะปลูกพืช การทำฟาร์มปศุสัตว์ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เทคโนโลยีระหว่างผู้ผลิต เป็นต้น
โดยภูมิภาคอาเซียน ยังถือเป็นแหล่งเครื่องเทศการปรุงอาหารสำคัญของโลก จากศักยภาพในการผลิตของในหลายประเทศ ซึ่งควรสร้างความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมผลักดันการใช้ประโยชน์ทางภาษีอัตรา0% จากการนำเข้าวัตถุดิบอาหารร ในกลุ่มประเทศอาร์เซป (RCEP) เพื่อสร้างบรรยากาศการจัดหา (Sourcing) สินค้ากลุ่มดังกล่าวระหว่างประเทศอีกด้วย
เป้าหมายอาหารอนาคต โต16%
ดร.วศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารแห่งอนาคตไทย กล่าวว่า Future Food (ฟิวเจอร์ ฟู้ด) อาหารแห่งอนาคต ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก
คือ 1. Functional Food อาหารให้คุณประโยชน์ (สัดส่วน 97%) 2. Medical Food อาหารทางการแพทย์ (สัดส่วน 1%) 3.Organic Food อาหารอินทรีย์จากธรรมชาติ (สัดส่วน 1%) และ 4. Novel Food อาหารใหม่ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อนในรอบ 14-15 ปี (เช่น อาหารโปรไบโอติก) อาหารสำหรับผู้สูงวัย ฯลฯ) (สัดส่วน 1%)
โดยกลุ่มอาหารอนาคตดังกล่าว มีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ย 3-5% จากปัจจุบันตลาดอาหารอนาคตมีมูลค่ามากกว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมาตลาดเติบโต 6%
ทั้งนี้หอการค้าไทย ได้วางยุทธศาสตร์การทำงานด้านต่างๆ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยจะต้องมีการเติบโตให้ได้ไม่ต่ำกว่า 16% เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนด้วยอาหารรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น
อาทิ การบริโภคโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-Based) หรือ โปรตีนจากแมลง (Insects Protien) โดยจะต้องร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกให้ไปในทิศทางเดียวกัน และมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ
“ไทยน้ำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศมากกว่า 50% ราวๆ 3 ล้านตัน ขณะที่ไทยสามารถผลิตในประเทศได้เองประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี ซึ่งการใช้วัตถุดิบโปรตีนทางเลือกในประเทศ จำเป็นต้องสนับสนุนการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นอย่างเห็ด ถั่วเขียว หรือถั่วประเภทอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ส่วนโปรตีนจากแมลงนั้น ไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องได้รับการส่งเสริมระบบนิเวศการผลิตภายใต้มาตรฐาน ด้วยเช่นกัน” ดร.วศิษฐ์ กล่าว
ดันไทย ‘ฮับ’ วัตถุดิบอาหารโลก
ด้าน รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ProPak Asia และ Fi Asia กล่าวว่า อินฟอร์มาฯ ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมทกระบวนการการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
พร้อมร่วมผลักดันศักยภาพการผลิตอาหารในประเทศไทยในรูปแบบ BCG Economy Model เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กระจายโอกาสและรายได้สู่ชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมองว่าเป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในภาคเหนือของประเทศ โดยเชื่อมโยงระหว่างองค์กรผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ และตลาดปลายทางผู้บริโภคได้ทั้งในและต่างประเทศ
ด้านรศ.ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าศูนย์ฯ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ หรือ ในรูปแบบสตาร์ทอัพ เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มมูลค่าสินค้าไปพร้อมกัน ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต การคัดสรรบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สินค้า ไปจนถึงการเสาะหาแหล่งรวมของวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วโลก จากการร่วมมือกับอินฟอร์มาฯ ในครั้งนี้ โดยนำการวิจัยมาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมผลักดันสู่การเป็นฮับด้านวัตถุดิบอาหารของโลก
ทั้งหมด เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ไปสู่โฉมใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันทั้งระบบ ที่ยังรวมไปถึงในระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วย