‘นารายา’ ไอเทมกระเป๋าแบรนด์คนไทยขวัญใจนักท่องเที่ยวเอเชีย มีอายุครบ 35ปี เดินยุทธศาสตร์ใหม่สู่ไลฟ์สไตล์แตกไลน์สินค้าผู้ชาย-สกินแคร์ เป้ากลับสู่ยอดขายพันล้านในปี 68
พศิน ลาทูรัส รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจแบรนด์ นารายา (NaRaYa) เปิดเผยว่าในโอกาสนารายาครบรอบ 35 ปีบริษัทวางยุทธศาสตร์ธุรกิจโดยจะขยายสู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์
"นารายา จะไม่หยุดอยู่เพียงไอเทมฮิตกระเป๋าผ้าที่มีเอกลักษณ์หลายคนรู้จักและคุ้นเคยโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น แต่จากนี้ไปจะขยายสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างเติบโตต่อเนื่อง" พศิน กล่าว พร้อมเสริมว่า
ในปี 2568 บริษัทฯ ได้หันกลับมาทำตลาดสินค้าสกินแคร์อีกครั้ง รวมถึงกลุ่มสินค้าสำหรับผู้ชาย อาทิ เครื่องประดับ กระเป๋า ด้วยมองเห็นโอกาสการพัฒนาโซนสินค้าสำหรับผู้ชายให้สามารถเลือกชมสินค้าต่างๆได้ หลังสำรวจพบความต้องการเชิงลึกในกลุ่มผู้ชายที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าพร้อมภรรยาภายในร้านนารายาโดยไม่จำเป็นต้องนั่งรอเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ปัจจุบัน แบรนด์นารายา มีสินค้าหลากหลาย อาทิ หมอน สลิปเปอร์ ของใช้ในบ้าน แม้กระทั่งกลุ่มสินค้าแรกเกิดไปจนถึงปลายทางชีวิต โดยนารายา ยังได้ทำงานร่วมกับ (ดีล) กลุ่มโรงพยาบาลในการพัฒนากระเป๋าสำหรับแม่และเด็ก สำหรับใส่ผ้าอ้อมทารก(แพมเพิส) ไปจนถึงการทำผ้าไหมสำหรับบุภายโลงศพ ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ด้วยเช้นกัน
"นารายา พยายามจะจัดให้มันเป็นสัดส่วน เพื่อสื่อสารการทำสินค้าให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายขึ้น" พศิน กล่าว
พร้อมเสริมต่อแนวทางการกระจายสินค้า ในเบื้องต้นจะลงทุนขยายสาขาใน 2 รูปแบบ คือ
- การขยายสาขาในไทย 5-8 สาขา (ปี 2567) เน้นทำเลนอกเมืองรอบกรุงเทพ โดยไม่จำกัดเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น วางโมเดลขนาดร้านค้าแล้วแต่ทำเล ซึ่งมีพื้นที่เริ่มต้น 75-100 ตร.ม. และขนาดใหญ่สุด 120 ตร.ม.
- การขยายสาขาต่างประเทศ (แผนระยะ 3-5 ปีนี้) นำร่องสิงคโปร์และฮ่องกง อาจจะเป็นรูปแบบ Shop by Shop หรือหาพาร์ทเนอร์ขยายร่วมกัน เช่น ร่วมกับไดโซะขายในโซนำรีเมียมขึ้นในญี่ปุ่น ตลอดจนในฮ่องกงก็มีบิ๊กซีเป็นพาร์ทเนอร์เช่นกัน เป็นต้น
พศิน กล่าวว่าผลดำเนินธุรกิจใน 9 เดือนแรกของปี 2567 แบรนด์นารายา ยอดขายเติบโตราว ๆ 30% โดยปัจจัยสำคัญมาจาก
- ยอดขายเพิ่มขึ้น จากการขยายสาขา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 18 แห่งในไทย
- การเพิ่มสินค้าคอลเลคชั่นเป็น 25,000 แบบ จากช่วงโควิดมีเพียง 10,000 แบบ ทว่ายังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิดที่มีอยู่ประมาณ 40,000 แบบ
โดย กลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และลาว สัดส่วน 70-80% และคนไทย 20-30% ซึ่งเป็นการปรับสมดุล(Balance) กลุ่มลูกค้าต่างชาติและคนไทย ได้มากขึ้น จากแต่เดิมมีสัดส่วน 90% ต่อ 10% ตามลำดับ
"นอกจากบาลานซ์พอร์ตฯ คนไทยและต่างชาติแล้ว เรายังพยายามลดอายุของฐานลูกค้าลง จากเดิมเฉลี่ย 30-35 ปี เหลือเพียง 25 ปีขึ้นไป ในปี 2567 ผ่านการออกสินค้าเจาะคนรุ่นใหม่ในช่วงที่ผ่านมา" พศิน กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าปี 2567 ยอดขายเติบโต 30% ก่อนที่ปี 2568 ยอดขายจะขยายตัวอีก 40-50% และทำรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท เทียบเท่าก่อนโควิด