"รฟท. เดินหน้ารับฟังความเห็นโครงการ PPP รถไฟความเร็วสูงไทย–จีน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท คาดเปิดประมูลไตรมาส 3 ปีหน้า"

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน โครงการนี้จะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐ และเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากภาคเอกชน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เพื่อแนะนำโครงการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ช่วงกรุงเทพฯ–หนองคาย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนโครงการนี้จะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐ และเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากภาคเอกชน ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการติดตั้งระบบ บริหารการเดินรถ และบำรุงรักษาทั้งโครงการ หลังจากการรับฟังความเห็นในครั้งนี้ รฟท.จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในเดือนตุลาคม ก่อนสรุปรูปแบบการลงทุนเสนอให้กระทรวงคมนาคมในเดือนธันวาคม และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในไตรมาสแรกของปี 2569 คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีเดียวกัน

นายวีริศ เผยว่า การเร่งดำเนินโครงการ PPP มีเป้าหมายเพื่อให้ทันกับการเปิดให้ บริการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา ในปี 2572 โดยปัจจุบันงานโยธาแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 45.65% ทั้งนี้ รฟท.ได้ลงทุนติดตั้งระบบและจัดหาขบวนรถ 4 ขบวน รุ่น Fuxing Hao CR300AF จากจีนเรียบร้อยแล้ว ส่วนเอกชนที่จะร่วมลงทุนจะรับหน้าที่บริหารการเดินรถและบำรุงรักษา

สำหรับระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย เอกชนจะต้องรับผิดชอบการติดตั้งระบบ บริหารเดินรถ บำรุงรักษา และจัดหาขบวนรถเพิ่มเติม เพื่อรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่องตลอดเส้นทาง โดยยังคงใช้เทคโนโลยีจากจีนตามมาตรฐานเดียวกับระยะที่ 1 พร้อมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางไปยังลาวและจีน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2574

รฟท.คาดว่าโครงการ PPP ดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะระยะที่ 2 มีมูลค่างานประมาณ 80,000 ล้านบาท รวมกับค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาและขบวนรถเพิ่มเติมในระยะที่ 1 อีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่ระยะเวลาสัมปทานเบื้องต้นอยู่ที่ 30 ปี ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประเมินความเหมาะสม

ในส่วนของงานโยธาระยะที่ 2 มูลค่ารวม 340,000 ล้านบาท รฟท.กำลังอยู่ในขั้นตอนแบ่งสัญญางานก่อสร้างออกเป็น 7 สัญญา และศูนย์ซ่อม 1 สัญญา คาดว่าจะแล้วเสร็จรายละเอียดภายในเดือนสิงหาคม และเปิดรับข้อเสนอผู้รับเหมาในเดือนกันยายน 2568 ก่อนเริ่มก่อสร้างจริงในปี 2569
 

TAGS: #โครงการรถไฟความเร็วสูง #รฟท #PPP #ไทยจีน