‘เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย’ กับบทบาทเจ้าของธุรกิจที่คลุกคลีในตลาดร้านอาหารมานานร่วม 20ปี ล่าสุดขอร่วมวงตลาดน้ำปลาร้ามูลค่าหมื่นล.บาท พร้อมเป้าหมายแชร์ส่วนแบ่ง1% ในตลาดนี้
‘เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย’ คนดังในวงการบันเทิงไทย ที่หันมาเอาจริงในบทบาท ‘เจ้าของธุรกิจ’ มานานกว่า 20 ปี พร้อมสวมหมวกผู้บริหารในธุรกิจครอบครัว ‘ศิลาชัย’ มาก่อนหน้านี้ คือ บริษัท มาดามกัสก้า จำกัด ดูแลในธุรกิจ 2 ขาหลัก คือ
- ธุรกิจเครื่องสำอาง อย่างกลุ่มสกินแคร์ ซีรั่ม ทำตลาดขายในช่องทางร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งถือเป็นธุรกิจแรกของครอบครัวศิลาชัย โดยมีภรรยา (จูน-กษมา ศิลาชัย) เป็นผู้ริเริ่ม
- ธุรกิจร้านอาหาร ‘Sail to the Moon’ ร้านอาหารริมน้ำเจ้าพระยา เปิดให้บริการ 1 สาขา ที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนท์
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านอาหารในมือก่อนหน้า อย่างร้าน ‘โคขุนคุณทอง 2020 By นาคร’ ที่เปิดให้บริการในทำเลรัชดาซอย4 ร้านอาหารแนวปิ้งย่างระดับพรีเมี่ยมในยุคแรกๆ ทีปัจจุบันธุรกิจนี้ได้ถูกขายเปลี่ยนมือไปให้กับนักลงทุนรายใหม่ไปแล้ว
ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารทั้ง 2 ประเภท บวกกับกับความเป็นนักชิมตัวยงของคู่สามีภรรยา ‘เปิ้ล-จูน’ ทำให้ทั้งคู่มองเห็นโอกาสใหม่ในธุรกิจน้ำปลาร้าที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่มีร่วม 100 แบรนด์ ในปัจจุบันและแนวโน้มเติบโต ขึ้นไปอีก
ด้วย ‘น้ำปลาร้า’ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องปรุงรสในเมนูอาหารท้องถิ่นยอดนิยม ที่มักถูก 'เรียกตัว' มาใช้คู่ครัวอาหารไทย-อีสาน เพื่อเพิ่มความแซ่บ นัว ให้กับรสชาติสารพัดเมนูอาหาร ยำ ตำ ต้ม ฯลฯ ทั้งหลาย
นาคร บอกว่า “จากจุดนี้จึงเป็นที่มาในการตั้ง บริษัท มาดาม ฟู้ด เวิร์ล จำกัด ใช้ทุนจดทะเบียนราว 4 ล้านบาท ร่วมกับผู้ถือหุ้นท่านอื่น เพื่อดูแลและทำตลาดสินค้าใหม่ล่าสุด เครื่องปรุงรส น้ำปลาร้าปรุงสุก สูตรโบราณแบรนด์ส้มป่อย” โดยมีตัวเขาดำรงตำแหน่ง ประธานบริษัทฯ
ใช้ 6 เดือนทำสินค้าสู่ตลาด
สำหรับเส้นทางกว่าจะมาเป็นน้ำปลาร้ายี่ห้อส้มป่อย นั้น ‘นาคร’ บอกว่าใช้ระยเวลาราว 6 เดือนจากจุด งสตาร์ท' แนวคิดรวมถึงพัฒนาสูตรก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต จนมาถึงการเปิดตัวสินค้า วันนี้ในที่สุด
“ที่มาแบรนด์ส้มป่อย มาจากการที่ครอบครัวของเราเป็นสายมู ซึ่งมีพระอาจารย์ที่นับถือท่านหนึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อให้ ด้วยส้มป่อย ยังเป็นพืชสมุนไพรมงคลขับสิ่งชั่วร้าย ขจัดความอัปมงคล พ้นจากชีวิต เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยภาคเหนือ ภาคอีสาน และกลุ่มสายมู รู้จัก ผูกพัน คุ้นหู เป็นอย่างดี” นาคร เล่าที่มาชื่อตราสินค้า
พร้อมเสริมอีกว่า จากจุดเริ่มต้นแบรนด์ดังกล่าวยังตรงกับกลุ่มเป้าหมายสินค้าน้ำปลาร้าปรุงสุก สูตรโบราณยี่ห้อ ‘ส้มป่อย’ เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นผู้บริโภคในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักที่นิยมบริโภคน้ำปลาร้า ซึ่ง นาคร ยังบอกอีกว่า “ชื่อสินค้าที่เป็นมงคลแบบนี้หากธุรกิจในกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ร้านอาหารนำไปใช้ก็เพิ่มความสิริมงคลไปอีกด้วย”
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ใช้งบลงทุนทั้งหมดรวมเครื่องจักรการผลิตสินค้า ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำปลาร้า สูตร ‘ส้มป่อย’ โดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันทำตลาด 1 รายการ (SKU) เท่านั้น พร้อมมาตรฐานการรับรองระบบประกันคุณภาพ GHPS สากล และ HACCP สำหรับการผลิตน้ำปลาร้าจาก BSI
โดยสินค้าวางราคาขายปลีกอยู่ที่ 39 บาท/ขวด บรรจุขนาด380 มล. เบื้องต้นทำตลาดในช่องทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เฟซบุ๊ค น้ำปลาร้าตราส้มป่อย Shopee, Lazada : Madamegusga, Tiktok:น้ำปลาร้าตราส้มป่อย, Line : @plarasompoi และช่องทางทราดิชั่นแนล เทรด รายใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ร้านค้าขายส่งหลักในตลาดกลางขายส่งสี่มุมเมือง
รวมถึงตัวแทนขายส่งกระจายสินค้า บริษัท ภุมรินทร์ เค.เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด ในภาคเหนือ และ ‘ตั้งงี่สุน’ เป็นดิสตริบิวเตอร์สินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีแผนนำสินค้าเข้าไปวางขายในเซเว่นอีเลฟเว่น ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังวางแผนขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ แถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และ กลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เพื่อเจาะกลุ่มคนไทย ร้านอาหารไทย ที่อยู่อาศัยในประเทศกลุ่มดังกล่าวด้วย
นาคร บอกว่าบริษัทยังเตรียมใช้งบประมาณราว 10% ของงบลงทุนเพื่อทำตลาดสินค้าน้ำปลาร้าปรุงสุก ‘ส้มป่อย’ โดยเบื้องต้น เขาจะใช้ ‘ตัวเอง’ ทำการตลาดร่วมกับแบรนด์ในการสื่อสารการตลาดสินค้าร่วมกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่กล่าวข้างต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อทั้งแบรนด์และความตั้งใจจริงในการทำตลาดสินค้าใหม่
“ก่อนหน้ามีคำถามว่า ทำไมถึงเข้ามาทำตลาดน้ำปลาร้า ซึ่งต้องบอกว่าครอบครัวเราคุ้นเคยกับการรับประทานอาหารทุกเมนูที่น้ำปลาร้ามาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจากเดิมร้านอาหารของเราเคยใช้น้ำปลาร้าถึง 3 ยี่ห้อมาผสมกันในส้มตำครกเดียวจนได้รสชาติที่ลงตัว ซึ่งเราได้แก้เพนพอยต์นี้ให้ตำส้มตำแล้วอร่อยได้เลยในขวดเดียวก็คือส้มป่อย นอกจากนี้ครอบครัวศิลาชัยของผมยังมีรกรากเป็นชาวจังหวัดศรีษะเกษ อีกด้วย ซึ่งเรียกว่าเป็นลูกหลานคนอีสานของแท้” นาคร ย้ำภาพการนำแบรนด์ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมการทำตลาด ให้ชัดขึ้น
ทั้งนี้ จากแผนธุรกิจดังกล่าว นาคร วางเป้าหมายธุรกิจในปีแรก (2567) จะมียอดขายเดือนละ 3 แสนขวดต่อเดือน และจะมียอดขายรวมประมาณ 1.8 ล้านขวด ไปพร้อมการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายให้เปิดใจทดลองใช้สินค้าและถูกใจในความอร่อย ที่จะเป็นกลยุทธ์การทำตลาดแบบบอกต่อ ในวงกว้าง
จากนั้นในปี 2568 บริษัทวางเป้าหมายเติบโตเป็น 5 แสนขวดต่อเดือน มียอดขายรวม 6 ล้านขวดต่อเดือนและจะมีรายได้แตะ 100 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 1% ของตลาดรวมน้ำปลาร้ามูลค่าหมื่นล้านบาท
พร้อมวางเป้าหมาย น้ำปลาร้า ‘ส้มป่อย’ ติดอันดับ 1ใน10 แบรนด์น้ำปลาร้ายอดนิยมในตลาดประเทศไทย ด้วย