‘ตัน ภาสกรนที’ กับวิสัยทัศน์ครั้งใหม่ในสนามธุรกิจ ทั้งกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มที่เตรียมปรับไลน์ผลิตสินค้าใหม่สู่แพคเกจจิ้งขวด rPET และอสังหาฯโรงแรมในคอนเซปต์ ‘รีไซเคิล’ 2 แห่งใหม่ในจ.ชลบุรี
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน 'ตัน ภาสกรนที' นักธุรกิจและนักลงทุนที่มีชื่อเสียงของไทย พร้อมผู้ร่วมลงทุนเข้ามาบุกเบิกธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพแต่งงานเป็นเจ้าแรกๆ ด้วยกลยุทธ์หลากหลายแบรนด์ร้านสาขาในย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เข้ามาไทยในจังหวะที่ใช่ในเวลาที่ถูกต้อง ด้วยตรงกับความต้องการของคนไทยในยุคนั้น
ทำให้ธุรกิจเวดดิ้ง สตูดิโอ ของเขาขยายการเติบโตไปไม่หยุด จนได้ทุนต่อยอดไปสู่การขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแนวบุฟเฟ่ต์เจ้าแรกในไทยอีกเช่นกัน ในเวลาต่อมา
ด้วยร้านอาหารญี่ปุ่นบุฟเฟ่ต์ นี้ ‘ตัน’ บอกว่า ‘ไปเห็น’ มาจากญี่ปุ่น และมองว่าน่าสนใจมาก ถ้าจะนำมาปรับเพื่อให้บริการในไทย พร้อมเปิดสาขาแรกในย่านทองหล่อ อีกเช่นกันก่อนจะขยายไปยังทำเลอื่น ๆ ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและครอบครัว ในยุคนั้น ซึ่งมีแต่เชนสาขาร้านอาหารญี่ปุ่นแบบอะลาคาร์ท และให้บริการสาขาในศูนย์การค้า เป็นหลัก
จากจุดเริ่มต้น ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวบุฟเฟ่ต์ นี้เอง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนการทำธุรกิจครั้งใหญ่ในชีวิตของ ลูกผู้ชายที่ชื่อว่า ‘ตัน ภาสกรนที’
ด้วยนอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่นที่เสิร์ฟให้บริการแบบไม่อั้น ไม่อิ่ม ไม่เลิกกิน ที่ถูกจริตยิ่งนักในกลุ่มคนไทยแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีไลน์เครื่องดื่มตามมา และ ‘ชาเขียว’ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่สะท้อนวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น ได้เป็นอย่างดี
และเพื่อเป็นการบริหารต้นทุนการจัดการธุรกิจในร้านอาหารญี่ปุ่น ตัน บอกให้ลูกน้องในร้านจัดการปรุงและต้มใบชาเขียวมาทำเป็นเครื่องดื่มมาใส่ไว้ในโถ เพื่อให้ลูกค้ามากดเติมได้แบบไม่อั้นภายในร้านอาหารญี่ปุ่น ที่ต่อมากลายเป็นความนิยมของลูกค้าที่ ‘เรียกร้อง’ อยากซื้อเพื่อเอาไปกลับไปดื่มต่อที่บ้าน ด้วยติดใจในรสชาติความอร่อยสดชื่นของชาเขียวของร้านอาหารญี่ปุ่น แห่งนี้
เมื่อ ‘ตัน’ เห็น ‘ดีมานด์’ ของลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีทีท่าขยายต่อไปไม่หยุด และไม่อาจต้านกระแสได้ ทำให้เขา ตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมวงตลาดชาพร้อมดื่มในไทยทันที ในเซ็กเมนต์ ‘ชาเขียวพร้อมดื่ม’ พร้อมลงทุนสร้างโรงงานผลิตเพื่อทำตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม อย่างจริงจัง
จากก่อนหน้า ‘ชาเขียวพร้อมดื่ม’ เองก็มีผู้เล่นเบอร์ใหญ่ในตลาดก่อนหน้าซึ่งเป็นแบรนด์จากไต้หวัน เช่นกัน แต่ด้วยเวทมนต์แห่งกลยุทธ์ Personal Branded Marketing ใช้ตัวเองมาทำการตลาดควบคู่ไปพร้อมกับโปรโมชั่นชาเขียว เปิดฝาลุ้นโชคใหญ่ ที่ลูกค้ารอคอยตลอดทุกฤดูร้อนของทุกปีในยุคนั้น ที่เสกให้ชาเขียวพร้อมดื่มของตันล้มคู่แข่งลงได้ จนก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งไปในที่สุด
จากความสำเร็จและสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นไม่หยุดในตลาดนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงผู้เล่นหน้าใหม่ให้เข้ามาในตลาดชาพร้อมดื่มอีกหลากหลายกลุ่ม และผลักดันให้ ตลาดชาพร้อมดื่มเคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 17,000 ล้านบาท ในปี 2558 ก่อนจะทยอยเติบโตลดลงราว 10% ต่อเนื่องในช่วงหลังจากนั้น ไปพร้อมกับเหลือผู้เล่นหลักในตลาดนี้ไม่กี่รายในปัจจุบัน
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ‘ชาพร้อมดื่ม’ คาดมีมูลค่าตลาดรวม ราว 15,823 ล้านบาท
จากข้างต้นคือเส้นทางธุรกิจของ ‘ตัน ภาสกรนที’ สรุปมาแบบสั้นย่อที่สุด สะท้อนถึงการสร้างธุรกิจต่าง ๆ ของ ‘ตัน’ ล้วนมาจากจากมองเห็น ‘สิ่ง’ ใหม่ๆ จากของเดิมที่มีอยู่เสมอ
และในโอกาสนี้อีกเช่นกันที่ ตัน กำลังมองเห็นภาพใหม่ที่ใหญ่ในระดับโลก สู่การทำธุรกิจในมืออย่างอสังหาริมทรัพย์ และกิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อย่างกลุ่มเครื่องดื่มภายใต้บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ที่พร้อมมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เต็มกำลัง
ชาเขียวพร้อมดื่มที่จริงใจกับสิ่งแวดล้อม
‘ตัน ภาสกร นที’ กล่าวในฐานะกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนใช้งบลงทุนอีกราว 200-300 ล้านบาทใน 2-3 ปีนับจากนี้ เพื่อทยอยปรับปรุงสายการผลิตเครื่องจักรสำหรับชิ้นส่วนประกอบอาทิ ฉลาก ฝาขวดเครื่องดื่ม ทุกประเภทให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ ให้ได้มีจำนวนมากขึ้น
จากเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ใช้งบลงทุนไปกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มไลน์การผลิตใหม่ ในบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือ ขวด rPET (พลาสติกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่) ไปแล้ว ภายในกระบวนการผลิตของโรงงาน ‘อิชิตัน กรีน แฟคทอรี่’ บนพื้นที่ 70 ไร่ ตั้งอยู่ที่นิคมโรจนะ G จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับโรงงานแห่งนี้ ได้ใช้งบลงทุนไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท พร้อมเปิดสายผลิตครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี 2555 ซึ่งได้เลื่อนจากแผนเดิมออกไป ด้วยโรงงานเจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยเมื่อปี 2554
ตัน บอกว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นอีกจุดเปลี่ยนการทำธุรกิจที่มีผลต่อแนวคิดการผลิตสินค้าอีกครั้ง ที่นอกจากใช้คอนเซปต์การผลิตเครื่องดื่มครบวงจรด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียแล้ว ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ ‘Day 1’ อีกด้วย
ปัจจุบัน อิชิตัน กรีน แฟคทอรี่ เป็นระบบโรงงานกรีนอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ใช้พนักงานทั้งหมดเพียง 300 คนเท่านั้น
“ตั้งแต่วันแรกของการสร้างโรงงานอิชิตันกรีนแฟคทอรี่ เราให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้าของโรงงานที่จะต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยลงทุนในเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย ระบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อที่คงคุณค่าสารอาหารได้ดีกว่าแบบดั้งเดิม และใช้พลาสติกน้อยกว่าในอดีตมาก จากเดิมใช้ 26 กรัมต่อขวด ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 17.5 กรัมต่อขวด เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า” ตัน เสริมให้เห็นภาพชัดขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั้งขวด ฝาปิดฉลาก และลัง เพื่อให้พร้อมสำหรับนำกลับเข้าสู่ Circular Economy
โดย สินค้ากลุ่มแรกที่เป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% คือ อิชิตันกรีนที ขนาดบรรจุ 500 มล. และชิซึโอกะ กรีนที ขนาดบรรจุ 440 มล.
"ตอนนี้ขวดอาร์เพ็ตเข้าไปอยู่ในไลน์การผลิตของเครื่องจักรแล้ว โดยสินค้ากลุ่มน้ำด่างของอิชิตัน จากเดิมเป็นขวดสีฟ้าใส ปัจจุบันปรับปรุงเป็นขวดเล็กใสทั้งหมด และใช้ฝาปิดสีขาว โดยทยอยไม่พิมพ์สีบนฝาขวดสินค้า แล้ว” ตัน เสริม
โดย ในเดือนกรกฎาคมนี้จะใช้ rPET 30% ทดแทนพลาสติกใหม่ในผลิตภัณฑ์อิชิตันกรีนที 500 มล. ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 175 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อแสดงความตั้งใจในการผลิตอย่างรับผิดชอบและนำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนแก่ผู้บริโภค สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นองค์กรกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ที่อิชิตัน กำหนดไว้
1.5 องศาฯ อุณหภูมิวิกฤตของโลก
ขณะที่ โรงงานฯ แห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุลซึ่งกลับมาเปิดตัวใหม่ (Re-Openning) ไปเมื่อ 15 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา หลังปิดปรับปรุงไปราว 3 ปีก่อนในช่วงวิกฤตโควิด ได้เกิดขึ้น
ตัน บอกว่า ตันแลนด์ฯ โฉมใหม่นี้จะมาบอกเล่าเส้นทางชีวิตใหม่ของขยะจากหลุมฝังกลบสู่ผลิตภัณฑ์คุณค่าสูง หากทุกคนช่วยกันบริโภคอย่างรับผิดชอบแล้ว โลกจะไร้ซึ่งขยะ
โดยได้ 6 องค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้แก่
- เอสซีจี แพคเกจจิ้ง
- นิว อาไรวา (แบรนด์ QUALY)
- เฟลเทค แมนูแฟคเจอริ่ง
- อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ
- ทิฟฟานี เดคคอร์
โดยทั้งหมด จะมาช่วยกันรวมพลังนำนวัตกรรมที่ก้าวหน้าจากความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มาอัพไซคิ่งเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่ามาจัดแสดงภายในตันแลนด์ฯ เพื่อร่วมกันผลักดันการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ที่อาจจะวิกฤตในอนาคตอันใกล้ หากไม่ได้รับการแก้ไขจากความร่วมมือของ ‘ทุกคน’ บนโลกใบนี้
ที่แม้ว่า ตอนนี้ประชาคมโลกกว่า 200 ประเทศ ได้ให้คำมั่นในความตกลงปารีส COP 28 ที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ระบุว่า ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็น ‘จุดเปลี่ยนหลัก’ หากโลกมีอุณหภูมิสูงกว่านี้ ธรรมชาติจะอยู่ในสภาพเกินรับไหวจนไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก
และหากวิกฤตนี้เดินทางไปถึงจุด ‘Point of No Return’ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นอันดับ 9 ของโลก
ตัน ย้ำว่า “จึงเป็นความท้าทายการอยู่รอดที่ทุกคนต้องเผชิญไปพร้อมๆ กัน และต้องการความร่วมมือ” โดยสะท้อนการสร้างการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นได้ ผ่าน ตันแลนด์ฯ แห่งนี้"
สำหรับ ศูนย์การเรียนรู้ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุล วางเป้าหมายเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘ผลิตอย่างรับผิดชอบ บริโภคอย่างยั่งยืน’ โดยผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้ในการมีส่วนร่วมในอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยมุมมองใหม่ๆ
ผ่านการจัดแสดงแบบ Immersive Technology และ Interactive AR พร้อมพบกับเทคโนโลยีการผลิตเครื่องดื่มที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจเรื่องการเลือกบริโภคอย่างยั่งยืนให้กับคนรุ่นใหม่
‘กรีน บิสสิเนส’ จะเจาะใจเจนฯใหม่
ตัน เสริมว่า จากความร่วมมือกับ 6 พันธมิตรภายในตันแลนด์ฯ จะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ด้วยถือเป็นวาระความยั่งยืนในระดับโลกไปแล้ว
โดยตัวเขาเองในฐานะนักต่อยอดการทำ ‘สิ่ง’ ใหม่อยู่เสมอ ยังมีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์กลุ่มโรงแรม ในจังหวัดชลบุรี 2 แห่ง ที่เป็นเชนโรงแรมแอ๊บโซลูท ศรีราชา และ เขาชีจรรย์ ในชื่อโรงแรม ยู โฮเทล และ ที โฮเทล ภายใต้แนวคิดโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัสดุ อุปกรณ์ ที่มาจากการรีไซเคิลนำมาใช้ในการก่อสร้างไปจนถึงการตกแต่งโรงแรม ให้ได้มากที่สุด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการด้านรายละเอียดต่างๆ โดยพร้อมจะเปิดเผยแผนโครงการฯในภายหลัง
“เทรนด์ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างลูกสาวผมจะเห็นชัดเจนเลยว่า ต้องการสิ่งของที่บอกกับเขาว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ช่วยเหลือโลกได้แค่ไหน ซึ่งก่อนตัดสินใจซื้ออะไรเขาจะหยิบของชิ้นนั้นขึ้นมาพลิกหน้าพลิกหลังดูก่อนเลยว่าตอบโจทย์เรื่องรักโลกแค่ไหน” ตัน ขยายความอีกว่า
“วันนี้ ผู้บริโภคชอบซื้อสินค้ากรีนแล้ว เหมือนในอดีตที่คนบอกว่าชูการ์ฟรี ไม่อร่อย แต่พอมาตอนนี้แม้จะไม่อร่อยเหมือนเดิมแต่คนยังมีความต้องการอยู่ หากินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ออกมาเป็นตัวเลขให้เห็นชัดเจนเลย สะท้อนได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่รักตัวเองและอยากดูแลตัวเอง ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนใหญ่มากขึ้นอีกในอนาคตไม่ใช่มีแค่ไม่กี่คน ซึ่งหากเรารักตัวเองมากพอแล้ว เราก็จะรักโลกไปด้วย เพราะหากไม่รักโลกทำร้ายโลกไปแล้ว สุดท้ายเราก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน” ตันกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผลดำเนินธุรกิจในไตรมาสแรก ปี 2567 อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI
- ทำรายได้ 2,140.3 ล้านบาท เติบโต 17%
- มีกำไรสุทธิ 363.8 ล้านบาท เติบโตกว่า 64%
ขณะที่ สินค้าเครื่องดื่มในพอร์ตอิชิตัน เติบโตในทุกกลุ่ม จากปัจจัยสภาพอากาศที่ร้อนแรง โดยตลาดชาพร้อมดื่มกลุ่ม Non-Tea ทำได้ดีทั้ง ‘ตันซันซู’ และ ‘น้ำด่าง อิชิตัน’ ผลักดันกำลังการผลิตเดินเครื่องเต็มที่เฉียด 100 ล้านขวดต่อเดือน และคาดในไตรมาส2 ปีนี้ ยังมีแนวโน้มดี หลังเปิดตัว ‘ตัน พาวเวอร์’ ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง และส่ง ‘อิชิตัน ชิวชิว’ กลับคืนเครื่องดื่มกลุ่มชาเขียววุ้นมะพร้าว รองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อผลักดันสู่เป้าหมาย 9,000 ล้านบาท ในปีนี้