‘หอยโฮตาเตะ’ วัตถุดิบอาหารส่งออกญี่ปุ่น กับกลยุทธ์การตลาดผ่านแคมเปญ HOTATE Festival ครั้งใหญ่ส่งท้ายปี 2566 เอาจริงกระจายตลาดผ่านพันธมิตรร้านอาหาร ‘เครื่องมือ’ เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ
คุโระ จุน ประธาน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมุ่งขยายการส่งออกสินค้าวัตถุดิบอาหารผ่านการกระตุ้นการบริโภคตลาดกลุ่มใหม่ในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น
จากปัจจุบันสินค้าอาหารวัตถุดิบ 5 อันดับแรกสำคัญ ในตลาดส่งออกของญี่ปุ่นมายังประเทศไทย คือ 1. เนื้อวัววากิว (ที่ถูกเลี้ยงตามกรรมวิธีของญี่ปุ่น) 2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ผลไม้ 4.เครื่องปรุงรส และ5. ไข่ปลาอิคุระ
นอกจากนี้ยังมี หอยเชลล์โฮตาเตะ (Hotatae) อีกหนึ่งสินค้าวัตถุดิบอาหารทะเลสำคัญในการทำตลาดส่งออก โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา หอยเชลล์โฮตาเตะ มีปริมาณการส่งออกมายังประเทศไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านเยน (ประมาณ 288 ล้านบาท) ซึ่งจัดเป็นสินค้าอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกมาประเทศไทยในอันดับที่ 9 ในปี2565 มีอัตราเติบโต 20% เทียบปี2564
โดยญี่ปุ่น มีการส่งออกอาหารทะเลไปยังตลาดต่างประเทศในปี2565 มูลค่ารวมประมาณ 3,873 ร้อยล้านเยน มีตลาดสำคัญ (กลุ่มอาหาร)ในประเทศจีน ราว 836 ร้อยล้านเยน ฮ่องกง 498 ร้อยล้านเยน สหรัฐอเมริกา 539 ร้อยล้านเยน เวียดนาม 216 ร้อยล้านเยน ไทย 235 ร้อยล้านเยน และในประเทศอื่นรวมกันราว 1,236 ร้อยล้านเยน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์พรีเมียมโฮตาเตะ ในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยในวงกว้างมากขึ้น เจโทร กรุงเทพฯ ได้จัดแคมเปญ HOTATE Festival เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567
แคมเปญดังกล่าว เจโทร ได้วางแนวทางการสื่อสารการทำตลาดหอยเชลล์พรีเมียมโฮตาเตะในไทย ผ่าน 3 ช่องทางกิจกรรมสำคัญ คือ
- กิจกรรมที่ 1 ขยายตลาดจัดจำหน่ายหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นไปยังพื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ และส่งเสริมการนำไปใช้ในเมนูอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่น เช่น อาหารไทย และอาหารอิตาเลียน
โดยร่วมมือกับร้านอาหาร จำนวน 65 แบรนด์ 261 ร้าน และร้านค้าปลีกในประเทศไทย 5 แบรนด์ 29 ร้าน จัดแคมเปญฯ ประชาสัมพันธ์หอยเชลล์โฮตาเตะในร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2566) และ
ด้วยปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้ HOTATE Festival เป็นโครงการสนับสนุนการส่งออกวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นที่จัดทำโดยเจโทรที่มีจำนวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักในครั้งนี้ ได้แก่
- เชนร้านอาหาร (รวมร้านอาหารญี่ปุ่น) หรือร้านค้าปลีกที่มีสาขาครอบคลุมนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร
- เชนร้านอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากร้านอาหารญี่ปุ่น เช่น อาหารไทย อาหารอิตาเลียน และอาหารจีน โดยเน้นนำเสนอคุณภาพและเสน่ห์ของหอยเชลล์โฮตาเตะจากประเทศญี่ปุ่นให้กับลูกค้า พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมประชาสัมพันธ์เมนูจากหอยเชลล์โฮตาเตะ, การประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค หรืออินฟลูเอนเซอร์ และอื่นๆ
- กิจกรรมที่ 2 จัดงานอีเว้นท์ประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะ โดยวางแผนจะจัดงานอีเว้นท์ในร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านค้าปลีก ซึ่งนอกจากสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีการเชิญผู้ที่มีส่วนสำคัญในการนำวัตถุดิบหรือสินค้าหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคตเข้าร่วมด้วย
อาทิ ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านอาหาร และร้านค้าปลีก, เชฟ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการผลักดันให้เกิดการซื้อขายสินค้าในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีกำหนดการจัดงานอีเว้นท์รวมทั้งสิ้น 16 งาน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2566)
- กิจกรรมที่ 3 นำหอยเชลล์โฮตาเตะญี่ปุ่นไปเป็นวัตถุดิบหลักของการแข่งขันทำอาหารในรายการ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์แคมเปญนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเจโทร กรุงเทพฯ ได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน โดยนำหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นไปเป็นวัตถุดิบหลักในการรังสรรค์เมนูอันหลากหลาย ทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารอิตาเลียน และอาหารไทย
โดยเป็นการแข่งขันระหว่างเชฟอาร์ - ธีรภัทร เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย กับเชฟผู้ท้าชิง ซึ่งสามารถติดตามชมเทปการแข่งขันอันแสนลุ้นระทึกได้ในรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป หรือทางโซเชียลเน็ตเวิร์กของช่อง 7HD
สำหรับแคมเปญฯ ดังกล่าว เจโทรวางเป้าหมายสร้างการรับรู้สินค้าวัตถุดิบอาหารทะเลส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะ ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บรืโภคชาวไทยในวงกว้างทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมการตลาดภายใต้แคมเปญดังกล่าวที่จัดทำในปีนี้
โดยภายหลังการสิ้นสุดแคมเปญฯ ในเดือนก.พ.ปี2567 เจโทรพร้อมทบทวนข้อมูลทางการตลาดพร้อมนำไปปรับปรุงเพื่อต่อยอดการจัดทำแผนส่งเสริมการขายและการทำตลาดเชิงรุกหอยเชลล์พรีเมียมโฮตาเตะในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในปี 2567
พร้อมคาดว่าจะสามารถผลักดันให้วัตถุดิบอาหาร หอยเชลล์พรีเมียมโฮตคาเตะญี่ปุ่นขยับลำดับสินค้าส่งออกสำคัญมายังไทยลดลงได้ในปีหน้า โดยจะมุ่งบให้ความสำคัญในการทำตลาดร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในไทย ทั้งร้านอาหาร รวมไปถึงช่องทางห้างค้าปลีกเพื่อให้สินค้าดังกล่าวมีอากาสเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย ไดง่ายขึ้น
สำหรับโฮตาเตะ เป็นหอยเชลล์สัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังที่ขึ้นชื่อด้านคุณภาพดี ด้วยมีขนาดใหญ่ รสชาติหวานอร่อยจนได้รับฉายาว่าราชาแห่งหอย ถือเป็นอาหารทะเลที่อุดมไปด้วยสารอาหาร มีโปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ พร้อมคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากเป็นอันดับต้นๆ
โดยหอยเชลล์โฮตาเตะในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นการเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในบริเวณที่มีน้ำสะอาดและอุณหภูมิต่ำเท่านั้น รวมถึงใช้นวัตกรรมการแปรรูปและแช่แข็งอย่างรวดเร็วทันทีหลังจับหอยเชลล์โฮตาเตะ เพื่อเก็บกักความสดใหม่สูงสุดจากทะเลสู่ตลาดอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยคุณภาพและความอร่อยที่ไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะส่งออกไปยังต่างประเทศ
ปัจจุบันมีแหล่งเพาะเลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ ฮอกไกโด (Hokkaido), อาโอโมริ (Aomori), อิวาเตะ (Iwate) และมิยากิ (Miyagi) นอกจากนี้ยังมีการรีไซเคิลแปรรูปเปลือกหอยนำไปทำถนนยางมะตอย วัสดุก่อสร้าง ผงซักฟอก และปุ๋ย เป็นต้น เพื่อให้กระทบระบบนิเวศทางธรรมชาติน้อยที่สุด และนำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย