ตอนที่หนึ่งของบทความเข้าใจปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ "มันไม่ใช่เรื่องศาสนา"
หลายคนมักเข้าใจประเด็นผิดเรื่องความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ พอเข้าใจผิดแล้วก็มักตัดสินใจผิดตามไปด้วย
ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของคนไทยมาตั้งแต่แรก แต่ตอนนี้คนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องแบบเต็มๆ เพราะกลุ่มติดอาวุธจากฉนวนกาซาสังหารคนไทยคนแล้วคนเล่า แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่คู่กรณี แต่คนไทยหลายคนรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นที่พี่น้องร่วมชาติต้องมาตายไป ทั้งๆ ที่ศัตรูก็ไม่ใช่ คนไทยกลุ่มนี้จึงสนับสนุนให้อิสราเอลตอบโต้กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ให้หนักๆ
แต่คนไทยอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่าเรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะการกดขี่ของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ทำให้คนปาเลสไตน์ทนไม่ไหวจึงต้องลุกฮือขึ้นมา ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่ต้นตอ จึงต้องประณามอิสราเอลและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับปาเลสไตน์
ถามว่าวิธีคิดทั้งสองแบบนี้ใครผิดใครถูก? ตอบได้แต่ว่ามันไม่มีคำอธิบายชัดๆ เหมือนคำถามที่ว่า "ยิวกับอาหรับใครเป็นเจ้าของดินแดนนั้นกันแน่?"
เราจึงทำได้แต่เข้าใจปัญหา และวิธีหนึ่งที่จะเข้าใจปัญหานี้ก็คือการทำลาย "มายาคติ" (Myth) ซึ่งก็คือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหา เมื่อเราเข้าใจถูกต้องแล้ว เราจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับมัน
อย่างแรกสุดก็คือ "ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของศาสนา" ต่อไปนี้คือคำอธิบาย ซึ่งไม่ใช่การอธิบายว่ารัฐอิสราเอลเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะมันไม่สำคัญเท่ากับว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่จะแก้ปัญหามันอย่างไร
ก่อนจะอธิบายเป็นข้อๆ ต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ก่อนว่า
- ชาวยิวเคยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์มาก่อน จนกระทั่งในยุคจักรวรรดิโรมัน ปาเลสไตน์กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน แต่ชาวยิวก่อกบฎ โรมันจึงขับไล่ยิวออกมา ทำให้คนยิวกระจัดกระจายไปในยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง
- เป็นเวลาเกือบสองพันปีที่ชาวยิวอยู่ในยุโรป จนกระทั่งกลายเป็นชาวยุโรปในทางพฤตินัย แต่ฝรั่งยุโรปไม่ยอมรับคนยิวเป็นพวก นอกจากจะจับขังไว้ในสลัม (Ghetto) ยังหาเรื่องกวาดล้างชาวยิวอยู่เนืองๆ เพราะถือคนละศาสนา
- ชาวยิวพลัดถิ่นยังคิดถึงดินแดนบรรพบุรุษ และเรียกว่าดินแดนแห่งพันธสัญญา เพราะเชื่อว่าพระเจ้ายกให้คนยิว แต่คนยิวต้องพลัดออกมาเพราะพระเจ้าลงโทษ (โดยผ่านชาวโรมัน) คนยิวเคร่งๆ ไม่คิดจะกลับไป เพราะเชื่อว่ากลับไปปาเลสไตน์ไม่ได้จนกว่าพระเมสสิยาห์ หรือผู้นำผู้ชอบธรรมจะมาโปรด
- ในระหว่างนั้นปาเลสไตน์เปลี่ยนมือจากยิวมาเป็นของคนอาหรับ ซึ่งตอนแรกนับถือศาสนาคริสต์ ต่อมานับถือศาสนาอิสลาม แม้ในช่วงที่เป็นอิสลามก็เปลี่ยนผู้ปกครองหลายอาณาจักร ในที่สุดก็ตกอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเป็นเติร์กและมุสลิม
- จนกระทั่งยุโรปเลิกเคร่งศาสนา กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ หรือรัฐที่มีเชื้อชาติเดียว หรือสร้างชาตินิยมขึ้นมา และค่านิยมเดียวนั่นคือเป็นรัฐทางโลกคือแยกศาสนาออกจากกิจการของรัฐ ในศตวรรษที่ 19 ชาวยิวที่หัวสมัยใหม่ก็อยากจะมีประเทศของตนเองบ้าง
- ชาวยิวเหล่านี้ จึงเริ่มขับเคลื่อนเป็นขบวนการเพื่อหาที่อยู่ของตัวเองเป็นหลักแหล่ง แต่มาเดินเรื่องสำเร็จกับรัฐบาลบริเตน เพราะบริเตนคือจักรวรรดิใหญ่ที่มีดินแดนมากมาย และยังควบคุมปาเลสไตน์เอาไว้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังได้รับอำนาจจากสันนิบาตชาติให้ดูแลดินแดนนี้ต่อจากจักรวรรดิออตโตมันที่สลายตัวไป
เมื่อเข้าใจเบื้องหลังแล้ว ต่อไปนี้จะเป็นคำอธิบายว่าทำไมปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องศาสนา
ข้อแรก สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือ รัฐอิสราเอลไม่ใช่รัฐพันธสัญญาของพระเจ้า เพราะผู้ก่อตั้งและผู้นำรุ่นแรกๆ ของรัฐอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นพวกไม่นับถือพระเจ้า (Atheist) แม้จะเป็นชาวยิวแต่ก็เป็นยิวแค่สายเลือด ไม่ได้นับถือศาสนายิวด้วย ดังนั้น การตั้งรัฐอิสราเอลจึงไม่เกี่ยวกับการ "กลับคืนสู่ดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้ว่าจะให้คนยิว" แต่เป็นเรื่องของคนยิวที่ไม่เชื่อพระเจ้า แต่ต้องการหาที่อยู่ให้พวกเดียวกัน เพื่อหนีให้พ้นจากการกดขี่ในยุโรป พวกเขาแค่ต้องการทำให้คนยิวที่กระจัดกระจาย มารวมกันเข้าโดยอาศัย "วามกรรม" เดียวกันที่คนยิวในพื้นที่ต่างๆ เข้าใจได้ นั่นคือ คำว่า "ศิโยน" หรือ "ไซออน" (Zion) แม้จะมีนัยด้านวัฒนธรรม คือหมายถึงแผ่นดินปาเลสไตน์ที่ยิวจากมา แต่เมื่อถึงยุคสมัยใหม่ คำนี้หมายถึง "ชาติของชาวยิว" ชาติที่มีคนยิวปกครองกันเองโดยหลักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ไม่ใช่ปกครองโดยผู้นำศาสนา
ข้อสอง อิสราเอลจึงเป็นรัฐทางโลก (Secular state) และแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาดมาก เป็นรัฐที่ไม่มีเรื่องของศาสนามาเจือปน ศาสนาไม่มีส่วนกำหนดอนาคตของรัฐ การยึดครองดินแดนจึงเป็นเรื่องของการเมืองเป็นหลัก แต่เพราะคนมักเข้าใจว่า "ความเป็นคนยิวเท่ากับการนับถือศาสนายิว" เพราะคนยิวมักผสมผสานวิถีชีวิตเข้ากับศาสนา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าการสร้างรัฐยิวจะต้องอิงศาสนาไปทั้งหมด โดยเฉพาะขบวนการกลับไป "ศิโยน" นั้น เป็นพวกที่ถือรัฐศาสตร์สมัยใหม่ที่แยกศาสนายิวออกไปจากการเมืองของชาวยิว พวกเขาเชื่อในระบอบสาธารณรัฐ ที่คนยิวปกครองกันเอง ไม่ต้องถูกปกครองโดยคนชาติอื่น (ซึ่งมักจะเข่นฆ๋าพวกเขาตลอดนับพันปีที่อยู่ในยุโรป) ตอนนี้พวกเขามีอุมดมการณ์ชัดเจนแล้ว ขาดก็แต่เพียงดินแดนที่จะกลับไป
ข้อสาม เธโอดอร์ เฮอร์เซิล (Theodor Herzl) ผู้ก่อตั้งแนวคิดยิวคืนถิ่น หรือ "ศิโยนนิยม" หรือ "ไซออนิสต์" (Zionism) เขาเป็นยิวที่ไม่เชื่อในพระเจ้า และยังคาดหวังว่ารัฐยิวในอนาคตจะเป็นรัฐทางโลก และตอนแรกที่หาที่ตั้งถิ่นฐานของคนยิว พวกไซออนิสต์ยังไม่หวังจะได้ดินแดนปาเลสไตน์ด้วยซ้ำ อย่างที่มีข้อเสนอจะไปตั้งถิ่นฐานในประเทศยูกันดา ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของบริเตนในทวีปแอฟริกา และในตอนแรก เฮอร์เซิล รับข้อเสนอนี้ด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายคือ ไปตั้งดินแดนของคนยิวที่ไหนก็ได้ แต่หลังจากสับสนกันมาพักใหญ่ สุดท้ายแล้ว พวกยิวคืนถิ่นยืนยันว่าจะกลับ "ศิโยน" คือปาเลสไตน์
ข้อสี่ ดินแดนปาเลสไตน์ถูกเลือกเป็นดินแดนของ "บ้าน" ของคนยิว (national home) โดยการเลือกของนักการเมืองบริติช (อังกฤษแท้) ที่เป็นพวกคริสเตียนซึ่งลึกๆ แล้วยังมีความเชื่อทางศาสนาว่าดินแดนปาเลสไตน์เป็นของยิวมาตั้งแต่ต้น (เรียกว่าพวก Christian Zionism) เพราะพระเจ้าประทานมาให้คนยิวตามพันธสัญญา (ศาสนายิวและคริสต์ ถือพระเจ้าองค์เดียวกัน แต่แยกคัมภีร์กัน ยิวนั้นถือแต่พระคัมภีร์เก่า ส่วนคริสต์ถือทั้งเก่าและใหม่) ชาวคริสต์บางกลุ่มที่เคร่งศาสนาจัดๆ จึงเป็นพวกไซออนิสต์เสียยิ่งกว่าคนยิวที่ไม่เชื่อในพระเจ้าเสียอีก อย่างไรก็ตาม นักการเมืองบริติชไม่ได้เลือกปาเลสไตน์ให้ยิวเพราะความเชื่อทางศาสนา แต่พราะต้องการให้ยิวไปช่วยคานอำนาจในตะวันออกกลาง เช่น ผู้นำด้านนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ รวมถึงนายกรัฐมนตรี เดวิด ลอยด์ จอร์จ และรัฐมนตรีต่างประเทศ อาเธอร์ บัลโฟร์ ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งในการยกปาเลสไตน์ให้ยิว เชื่อว่าชาวยิวมีศักยภาพพอสมควรในการที่จะใช้งานด้านสงคราม
ข้อห้า ในกลุ่มชาวยิวมีทั้งยิวที่ไม่เชื่อพระเจ้าอีกแล้ว และยังมีพวกยิวที่นับถือพระเจ้าอย่างเคร่งครัด ถึงจะยอมกลับไปตั้งถิ่นฐานที่ปาเลสไตน์ เพราะเหตุผลที่่ว่าถ้ายังอยู่ในยุโรปต่อไปจะถูกกวาดล้างจนสิ่้นเผ่าพันธุ์แน่ แต่พวกยิวเคร่งๆ เหล่านี้ไม่ยอมให้ตั้งรัฐอิสราเอล เพราะเชื่อว่ายังไม่ถึงเวลาที่พระเจ้าสั่งให้กลับไป (หลังจากถูกไล่ออกมาสมัยโรมัน) ยิวเคร่งครัดสุดขีดเหล่านี้ จึงต่อต้านการก่อตั้งรัฐอิสราเอลโดยพวกยิวด้วยกันแต่ไม่นับถือศาสนาและไม่เชื่อในพระเจ้า ดังนั้น เราจะเห็นว่า "ยิวแท้" (ยิวที่ยังเป็นยิวเพราะศาสนา) ไม่ยอมรับพวก "ยิวไซออนิสต์" (คือยิวที่เป็นยิวทางเชื้อชาติ แต่ไม่เชื่อในศาสนา)
ข้อหก ยิวที่นับถือพระเจ้าอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงแค่ต่อต้านรัฐอิสราเอล แต่ยังสนับสนุนปาเลสไตน์ เห็นใจคนอาหรับ ประณามการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์โดยรัฐอิสราเอล ชาวยิวเคร่งสุดขีดกลุ่มนี้ เช่นกลุ่มเฮเรดี (Haredi) เมื่อเกิดรัฐอิสราเอลขึ้นมา ยิวเฮเรดีจึงต่อต้านไม่หยุดหย่อน ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นพลเมืองอิสราเอล การต่อต้านของคนเหล่านี้ ก็เช่น ไม่ยอมเกณฑ์ทหารไปรบกับคนปาเลสไตน์ และไปชุมนุมประท้วงชูธงปาเลสไตน์อยู่บ่อยๆ ฝ่ายยิวที่ไม่เชื่อพระเจ้า ไม่เห็นว่าการไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์จะเป็นความผิดทางศาสนา มิหนำซ้ำยังเป็นความจำเป็นทางการเมือง เพราะอยู่ในยุโรปก็อาจจะไม่รอด เพราะชีวิตอยู่ในกำมือของฝรั่งเท่านั้น เมื่อมาอยู่ในปาเลสไตน์ แม้จะทะเลาะกับอาหรับ แต่อย่างน้อยยิวที่นี่มีอำนาจในการปกครองตนเองและป้องกันตนเองได้
ข้อเจ็ด ดินแดนปาเลสไตน์ก่อนการก่อตั้งรัฐอิสราเอล แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์จำนวนหนึ่ง และทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางศาสนา ภายใต้ผู้ปกครองเดิมของดินแดนปาเลสไตน์ คือจักรวรรดิออตโตมัน ที่อนุญาตให้แต่ละศาสนาและเชื้อชาติอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ แม้แต่ชาวยิวจำนวนหนึ่งก็ยังตกค้างอยู่ในปาเลสไตน์ แม้ส่วนใหญ่ของคนยิวจะกระจัดกระจายอยู่ในยุโรปก็ตาม แต่ขันติธรรมหรือความอดทนอดกลั้นระหว่างศาสนาพังทลายลง หลังจากอาณาจักรออตโตมันสิ้นสุดลงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และดินแดนปาเลสไตน์ตกมาอยู่ในการปกครองของบริเตน (ปัจจุบันคือสหราชอาณาจักร) ซึ่งบริเตนนั้นสนับสนุนแนวคิดให้คนยิว (ไร้ศาสนา) ไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น เแม้ยิวเหล่านั้นจะไม่ค่อยเชื่อในพระเจ้า แต่มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ชาตินิยมยิว" ขึ้นมา ซึ่งอันตรายพอๆ กับความสุดโต่งทางศาสนา
ข้อแปด ชาตินิยมยิวทำให้คนยิวเชื่อว่าปาเลสไตน์เป็นของพวกตนโดยชอบธรรม เพราะ "เจ้านายอังกฤษ" มอบให้แล้ว โดยคนที่รับรองอำนาจของอังกฤษเหนือดินแดนปาเลสไตน์ก็คือสันนิบาตชาติ ด้วยกระบวนการทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้คนยิวได้เข้าตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ "อย่างชอบธรรม" ไม่ใช่เพราะกลับมาทวงดินแดนที่พระเจ้ามอบให้ "บรรพบุรุษ" ความชอบธรรมทางการเมืองนี่เองที่ทำให้เกิด "ชาตินิยมยิว" ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนา ชาตินิยมยิวแบบนีั้จะแข็งแกร่งขึนเรื่อยๆ จนกระทั่ง ยิวกระทบกระทั่งกับอาหรับรุนแรง เป็นเหตุให้บริเตนต้องหยุดชาวยิวไม่ให้อพยพเข้่าไปในปาเลสไตน์อยู่พักหนึ่ง แต่เพราะยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นมา ทำให้ชาวยิวยิ่งไหลทะเลักเข้า ยิวที่เข้าไปแล้ว "สร้างชาติ" อย่างรวดเร็ว คือ วางรูปแบบการปกครอง วางระบบสวัสดิการต่างๆ เหมือนประเทศๆ หนึ่ง ในขณะที่คนอาหรับยังตั้งประเทศของตัวเองไปไม่ถึงไหน
ข้อเก้า และเพราะชาวยิวเป็นเศรษฐีกันมากในยุโรปและในสหรัฐฯ พวกยิวในปาเลสไตน์จึงเดินเรื่องขอความช่วยเหลือและได้มันมามากขึ้นเรื่อย ทั้งเงินและอาวุธ "บ้านของชาวยิวในปาเลสไตน์" จึงกลายสภาพเป็น "รัฐของชาวยิว" เข้าไปทุกที จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อบริเตนอ่อนแรงสุดขีด ยิวในปาเลสไตน์ก็แข็งแกร่งที่สุดแล้ว ถึงขนาดตั้งกองกำลังจู่โจมบริเตนในปาเลสไตน์ เพื่อต้องการสร้างรัฐอิสระของตัวเอง และประท้วงที่บริเตนห้ามไม่ให้ยิวอพยพเข้ามาเพิ่มและห้ามซื้อที่ดินในปาเลสไตน์ กลายเป็นว่าบริเตนที่ช่วยยกปาเลสไตน์ให้ยิวมา "ตั้งบ้าน" ตอนนี้ถูกยิวลืมบุญคุณ แล้วยังรบราขับไล่เสียอีก
จนในที่สุด บริเตนทนไม่ไหวเพราะต้องรบกับทั้งยิวและอาหรับ แถมสหรัฐอเมริกายังกดดันให้รับคนยิวอพยพเพิ่มเติมเข้ามาในปาเลสไตน์ แลที่สุดแล้ว บริเตนต้องให้สหประชาชาติมาจัดการแบ่งปาเลสไตน์ให้ยิวกับอาหรับอยู่กันเป็นที่เป็นทาง เพื่อที่บริเตนที่บอบช้ำจากสงครามโลกจะได้พักผ่อนเสียที
เมื่อสหประชาชาติแบ่งพื้นที่ให้เสร็จสรรพแล้ว แทนที่จะลงตัว มันกลับเป็นชนวนความขัดแย้งที่ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้
มาถึงตอนนี้เราจะเห็นแล้วว่าการเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอล เป็นเพราะเงื่อนไขทางการเมือง เพียงแต่ศาสนาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น
- ชาวยิวไซออนิสต์แม้อยากจะกลับแผ่นดินบรรพบุรุษ แต่เอาเข้าจริงเขาให้ไปอยู่ที่ไหนก็ไป และที่สำคัญหัวหน้าของพวกไซออนิสต์ไม่เชื่อในพระเจ้า รัฐอิสราเอลทุกวันนี้ก็มีคนเชื่อในศาสนาแค่ 20%
- คนรัฐบาลบริเตนแม้จะเป็นคริสเตียนเชื่อเรื่องแผ่นดินพันธสัญญา แต่ศาสนาของพวกเขาไม่ใช่เหตุหลักที่ทำให้เลือกปาเลสไตน์เป็นดินแดนของชาวยิว สาเหตุหลักก็เพื่อสร้าง "ชาติ" ที่ถ่วงดุลกับมหาอำนาจอื่น
- บริเตนยกปาเลสไตน์ให้ยิวใช้เป็นบ้านแห่งชาติ (national home for the Jewish people) ไม่ใช่ยกให้เป็นรัฐของชาวยิวหรือรัฐอิสราเอล แต่เพราะการนิยามความหมายที่ไม่รัดกุมว่ายกให้เป็น "บ้าน" นี่เองที่ ทำให้ชาวยิวถือวิสาสะ ตั้งรัฐขึ้นมาโดยประกาศเอกราชในที่สุด เมื่ออพยพเข้ามามากมายหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2
และทุกฝ่ายตระหนักเรื่องนี้ดี แม้แต่คนอาหรับก็มองมันเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของศาสนาเป็นหลัก
ทำไมอาหรับถึงคิดแบบนั้น? ติดตามได้ในตอนที่ 2
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
ภาพประกอบข่าว - ตัวอย่างของคนยิวที่ต่อต้านรัฐของชาวยิว นี่คือภาพของสมาชิกและผู้สนับสนุนกลุ่มชาวยิวเคร่งศาสนา เนตูเรอี คาร์ตา (Neturei Karta) เข้าร่วมในการเดินขบวนเพื่อปาเลสไตน์' ในลอนดอนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2023 เพื่อ "เรียกร้องให้ยุติสงครามกับฉนวนกาซา" (Photo by HENRY NICHOLLS / AFP)