ความจริงเกี่ยวกับฮามาส มันคือ "สงครามตัวแทนระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล"
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับฮามาสแกนนำอินติฟาฏาที่ 3
• ฮามาส (Hamas) เป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองและกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ยอมรับการมีอยู่ของอิสราเอล หรือ "แก้ปัญหาแบบสองรัฐ" (Two-state solution) นั่นคือยอมให้ปาเลสไตน์อยู่ร่วมกับรัฐอิสราเอลได้
• แต่ฮามาสก่อตั้งขึ้นเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์และชิงดินแดนอิสราเอลกลับมาเป็นของปาเลสไตน์ กลุ่มนี้จึงเชื่อในหลัก "แก้ปัญหาแบบรัฐเดียว" (One-state solution) นั่นคือถ้ามีปาเลสไตน์จะต้องไม่มีอิสราเอลอยู่ในโลก
• อิสราเอลและฮามาสรบกันในสงครามหลายครั้ง และกฎบัตรฮามาส ซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญของกลุ่มระบุว่าความขัดแย้งกับอิสราเอลไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น "ยกเว้นผ่านญิฮาด" หรือการต่อสู้ตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น
• ฮามาสโจมตีพลเรือนอิสราเอลด้วย แต่มีไม่กี่ประเทศในโลกที่กำหนดให้กลุ่มฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย นั่นคือ แคนาดา สหภาพยุโรป อิสราเอล ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
• ฮามาสเป็นกลุ่มมุสลิมซุนนี แต่พันธมิตรของอิหร่าน ซึ่งเป็นมุสลิมชีอะฮ์ และยังเป็นพันธมัตรของฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน (ซึ่งเป็นพันธมิตรอิหร่านด้วย) โดยรวมแล้วฮามาสอยู่ในเครือพันธมิตรของอิหร่านที่ครอบคลุมตะวันออกกลางและแอฟริกาบางส่วน
ความขัดแย้งในปาเลสไตน์คือสงครามตัวแทน
ระหว่างปี 2548 ถึง 2554 อิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ให้ทุนและผู้จัดหายุทโธปกรณ์หลักของกลุ่มฮามาส อิสราเอลประเมินว่ากลุ่มฮามาสมีสมาชิกแกนกลางหลายร้อยคน ซึ่งได้รับการฝึกทหาร รวมถึงการฝึกในอิหร่านและซีเรีย (ก่อนสงครามกลางเมืองในซีเรีย)
ฮามาสได้รับอาวุธจากอิหร่านผ่านทางประเทศซูดานในแอฟริกา ซึ่งซูดานทำหน้าที่เป็น "จุดขนถ่าย" สำหรับการขนย้ายอาวุธ ส่วนประเทศเอริเทรียในแอฟริกา อนุญาตให้กองทัพเรืออิหร่านใช้ท่าเรือของตนได้ ทั้งซูดานและเอริเทรียอยู่ริมทะเลแดง ซึ่งสามารถขนอาวุธมายังเขตของอิสราเอลและฉนวนกาซาได้ง่าย
ในระหว่างและหลังสงครามฉนวนกาซา (พ.ศ. 2551–2552) มีรายงานว่ากองทัพอากาศอิสราเอลได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยคอมมานโดของอิสราเอล ทำการโจมตีทางอากาศสามครั้งต่อขบวนการขนอาวุธของอิหร่านที่ถูกลักลอบส่งไปยังกลุ่มฮามาสผ่านประเทศซูดานในแอฟริกา
นอกจากจะส่งอาวุธในกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาทางตอนใต้ของอิสราเอลแล้ว อิหร่านยังล้อมอิสราเอลทางเหนือ โดยส่งอาวุธกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในประเทศเลบานอน หลักฐานคือในเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 อิสราเอลยึดเรือลำหนึ่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและสินค้าอาวุธหลายร้อยตันที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งจากอิหร่านไปยังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
อย่างที่บอกไว้ตอนแรกว่า ฮามาสเป็นเพียงกลุ่มการเมือง/กลุ่มติดอาวุธหลายๆ กลุ่มในรัฐปาเลสไตน์ แต่ที่โดดเด่นขึ้นมาเพราะการต่อสู้กับอิสราเอลอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และยังชนะการเลือกตั้งจึงควบคุมเขตฉนวนกาซาไว้ได้ แต่ฮามาสไม่ใช่กลุ่มเดียวที่มีอิทธิพลในปาเลสไตน์ และไม่ใช่กลุ่มเดียวที่อิหร่านสนับสนุน
อิหร่านยังเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของขบวนการญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (PIJ) หลังจากที่อิสราเอลและอียิปต์บีบบังคับกลุ่มฮามาสเมื่อต้นปี 2557 กลุ่ม PIJ ก็เริ่มมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากอิหร่าน เชื่อกันว่าการสนับสนุนทางการเงินมาจากซีเรียเช่นกัน ซึ่งซีเรียก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรอิหร่าน
ญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ มีอุดมการณ์คล้ายกับกลุ่มฮามาส แต่ PIJ ตั้งขึ้นมาเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากการก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามในอิหร่าน วัตถุประสงค์คือการสถาปนารัฐอิสลามปาเลสไตน์ที่มีอำนาจอธิปไตย เรียกร้องให้มีการทำลายล้างพลังทางทหารของอิสราเอล และปฏิเสธการแก้ปัญหาแบบสองรัฐ
ดังนั้น ต่อให้ฮามาสถูกเล่นงาน อิหร่านก็ยังมีตัวเลือกอื่นให้สนับสนุนต่อไปอีก
ทำไมอิหร่านถึงให้ตัวแทนเล่นงานอิสราเอล?
ในโลกปัจจุบัน การทำสงครามโดยตรงมีต้นทุนที่สูงเกินไปสำหรับประเทศมหาอำนาจ ประเทศเหล่านี้จึงมักเลือกที่จะหาจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายผ่านทางจุดเชื่อมโยงทางการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ แทรกแซงประเทศที่ต่างฝ่ายต่างให้การสนับสนุน
ในกรณีของอิสราเอล ความขัดแย้งเกิดขึ้นในดินแดนนั้นเอง ดังนั้นอิหร่านจึงเลือกที่จะสนับสนุนคู่กรณีของอิสราเอลเพื่อให้ช่วยทำลายอิสราเอลแทนตน โดยที่อิหร่านไม่ต้องลงมือเอง เพียงแค่ส่งเงินและอาวุธให้ นั่นคือกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนและในปาเลสไตน์
อิหร่านมองว่าการมีอยู่ของรัฐอิสราเอลคือภัยคุกคามต่อตน ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจตะวันออกกลางและผู้นำประเทศหนึ่งในโลกอิสลาม ผู้นำอิหร่านจึงเรียกอิสราเอลด้วยคำดูถูกว่าเป็น "ระบอบไซออนิสต์" ที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม นั่นคือเป็นเพียงขบวนการคนยิวที่ยึดดินแดนของชาวอาหรับ (ขบวนการไซอนนิสต์) ไม่ถือเป็นรัฐที่มีอธิปไตย
อิหร่านกล่าวหาอิสราเอลว่าเป็นรัฐลูกน้องของสหรัฐอเมริกา ที่ทำตัวเป็นศัตรูกับมุสลิม ซึ่งสหรัฐฯ คือศัตรูตัวฉกาจที่สุดของอิหร่าน การเผชิญหน้าผ่านตัวแทนระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ยังทำผ่านการสนับสนุนกลุ่มฝ่ายตรงข้ามที่มีความขัดแย้งในซีเรียและเยเมนด้วย ดังนั้น "สงครามตัวแทนระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล" จึงครอบคลุมทั้งตะวันออกกลาง
ในกรณีของซีเรียและเยเมน เป็นความขัดแย้งที่โยงไปถึงชาติอื่นๆ ด้วย จะเห็นได้ว่าอิหร่านให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ในขณะที่อิสราเอลสนับสนุนกลุ่มต่อต้าน ในเยเมน อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏฮูษี ในขณะที่อิสราเอลให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบียในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏ
สงครามตัวแทนระหว่างชาติมุสลิมด้วยกัน
ซาอุดีอาระเบียจึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในลักษณะความสัมพันธ์สามเส้าที่ยอกย้อนมาก นั่นคือ ซาอุดีอาระเบียเป็นชาติมุสลิมซุนนี และเป็นเสมือนพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศอาหรับ ในทางปฏิบัติ ซาอุฯ ควรจะเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล ซึ่งต่อหน้าก็เป็นเช่นนั้น เพราะซาอุฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการกับอิสราเอลนานถึง 76 ปี
แต่เบื้องหลัง ซาอุฯ กับอิสราเอลมีความร่วมมือเบื้องหลังอย่างกว้างขวางในด้านทางการฑูต ข่าวกรอง และความมั่นคง และอีกเรื่องสำคัญก็คือ ซาอุฯ เป็นปฏิปักษ์กับอิหร่าน ซึ่งแม้จะเป็นชาติมุสลิมเหมือนกัน แต่อิหร่านนับถือนิกายชีอะฮ์ ทั้งสองฝ่ายเป็นสองขั้วที่ขัดแย้งรุนแรง
ดังนั้น มันจึงกลายเป็นว่า ซาอุฯ พอจะคบกับอิสราเอลได้ แต่มองอิหร่านเป็นภัยคุกคาม จนกระทั่งมันนำไปสู่การก่อตั้ง "พันธมิตรอาหรับ–อิสราเอล" (Arab–Israeli alliance) บางครั้งเรียกว่าพันธมิตรอิสราเอล–ซุนนี ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงอย่างไม่เป็นทางการที่มีซาอุฯ กับรัฐอาหรับในแถบอ่าวเปอร์เซีย (GCC) เน้นขัดขวางความทะเยอทะยานทางการเมืองและการทหารของอิหร่านเป็นหลัก
พันธมิตรอาหรับกับอิสราเอลรูปเป็นรูปร่างตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มีความสำคัญลดลงต่อบรรดาประเทศอาหรับ แต่ประเทศอาหรับที่เป็นมุสลิมซุนนีกลับมองว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคามมากกวว่า ดังนั้นภายในปี 2559 รัฐ GCC ได้แสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่เข้มแข็งกับอิสราเอล
การที่ซาอุดีอาระเบียกับรัฐ GCC ยอมกลืนเลือดตัวเองมาร่วมมือกับอิสราเอลได้ ก็เพราะประเทศพวกนี้ทำสงครามตัวแทนกับอิหร่านด้วยนั่นเอง นี่จึงกลายเป็นสงครามตัวแทนที่ซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
Photo - ชาวอิหร่านถือรูปถ่ายของ กาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติที่ถูกสังหาร ขณะเข้าร่วมการชุมนุมในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เพื่อแสดงความสามัคคีกับปาเลสไตน์ หลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสเปิดฉากการโจมตีอิสราเอลทางอากาศ ทางบก และทางทะเลจากฉนวนกาซา ที่ปรึกษาอาวุโสของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ออกมาสนับสนุนการโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ของกลุ่มฮามาส โดยเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการที่น่าภาคภูมิใจ” (Photo by AFP)