ซุนซือเหมี่ยว (孫思邈) เป็นหมอยาผู้ยิ่งใหญ่ของจีน เกิดวันเดืนปีใดไม่ทราบชัด ว่ากันว่าเกิดในสมัยราชวงศ์ซีเว่ย (西魏) อันมีอายุราว ค.ศ. 535-557 เขาจึงน่าจะเกิดราวๆ ปีนี้ แต่ปีที่สิ้นชีวิตนั้นยิ่งไม่แน่ชัดกว่า เพราะบ้างก็ว่าสิ้นชีพในปีที่ 2 ของรัชสมัยหย่งฉุน หรือ ค.ศ. 682 ในรัชกาลพระเจ้าถังเกาจง
ซุนซือเหมี่ยว ป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเงินทองของครอบครัวหมดสิ้นไปกับการรักษาและค่ายา ไม่เพียงเท่านั้น เขายังตระหนักว่าผู้คนรอบข้างเขาล้วนยากจนมาก และหลายคนเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินรักษาโรค ดังนั้น เมื่อซุนซือเหมี่ยวอายุ 18 ปี เขาจึงตัดสินใจเรียนแพทย์และร่ำเรียนวิชารักษาโรคอย่างหนักตลอดชีวิต เขาเชื่อว่า “ชีวิตของมนุษย์นั้นมีค่า เท่ากับทองคำหนึ่งพันเหรียญ หากช่วยชีวิตเอาไว้ได้ จะมีคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่านี้”
คำกล่าวนี้มาจาก "สารัตถะสูตรรักษาฉุกเฉินอันมีค่าเท่ากับทองคำพันเหรียญ" 《備急千金要方》 อันเป็นตำรายาที่ซุนซือเหมี่ยวเรียบเรียงขึ้นมา
หมอเทวดา ซุนซือเหมี่ยว เป็นผู้ที่ช่ำชองในเรื่องกาแรพทย์ทั้งยังมีความรู้ที่ลึกซึ้ง พระเจ้าเป่ยโจวเซวียนตี้แห่งราชวงศ์เป่ยโจว พระเจ้าสุยเหวินตี้แห่งราชวงศ์สุย พระเจ้าถังไท่จง และพระเจ้าถังเกาจงแห่งราชวงศ์ถัง ล้วนแต่ต้องการตัวเขามารับราชการ แต่เขาปฏิเสธ
ในปีแรกของรัชสมัยซ่างหยวน หรือ ค.ศ. 674 ซุนซือเหมี่ยวมีอายุ 150 ปีแล้วแต่เขายังดูอ่อนวัยเท่ากับเด็กผู้ชาย เขาเดินทางไปที่นครหลวงฉางอานเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในราชวงศ์ฉีและราชวงศ์เว่ย (ยุคสมัยราชวงศ์เหนือใต้ กินเวลาจาก ค.ศ. 420 ถึง ค.ศ. 589) ราวกับว่าเขาได้เห็นเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตัวเขาเอง พระเจ้าถังเกาจงต้องการรั้งตัวเขาไว้รับราชการ แต่ซุนซือเมี่ยวกลับไปเร้นกายบนภูเขา
แม้ผู้คนจะคิดว่าซุนซือเหมี่ยวไม่ต่างอะไรกับเซียนผู้วิเศษในศาสนาเต๋า แต่เขายังช่ำชองในพุทธศาสนาด้วย และยังคัดลอกพระสูตร "อวตัมฺสกสูตร" หรือ "พุทธาวตัมฺสกมหาไพบูลย์สูตร" 《大方廣佛華嚴經》 จำนวนถึง 750 บท
การคัดลอกพระสูตรเป็นบุญกริยาต่อตัวเองด้วยเพราะมีอานิสงส์มากมาย แต่ยังเป็นกุศลแก่ผู้อื่นด้วยเพราะในยุคที่ยังไม่มีการพิมพ์แบบอุตสาหกรรมนั้น การคัดลอกพระสูตรด้วยมือให้มากๆ เท่ากับช่วยเผแพร่หลักธรรมอันเป็น "น้ำอมฤต" ที่จะช่วยเยียวยาโรคทางใจของสรรพสัตว์
แม้ซุนซือเหมี่ยวจะใช้วิชาแพทย์รักษาผู้คน แต่มันเป็นการรักษาเพียงชั่วคราว เพราะยากที่จะรักษา "การเกิดและการตาย" ไม่ให้ทุกข์ทรมานชั่วนิรันดร์ มีแต่คำสอนของพุทธศาสนา และในบรรดาคำสอนของพุทธศาสนานั้น "อวตัมฺสกสูตร" ถือเป็นที่สุดของหลักธรรม
ก่อนที่จะขึ้นเขาเร้นกายในสมัยพระเจ้าถังเกาจง ในรัชกาลพระเจ้าถังไท่จง ซึ่งเป็นพระราชบิดาของเกาจงได้เชิญซุนซือเหมี่ยวมาซักถามเรื่องพระพุทธศาสนา
พระเจ้าถังไท่จงนั้นทรงเป็น "นักบู๊" เพราะเป็นกำลังสำคัญของราชวงศ์ถังในการโค่นล้มราชวงศ์สุยและแย่งชิงอำนาจมาตั้งจักรวรรดิใหม่อันยิ่งใหญ่ ดังนั้นจึงทรงดูเหมือนจะไม่ใส่พระทัยเรื่องการศาสนา ยิ่งในยุคนั้นพวกขุนนางที่ถือ "ปรัชญาหญู" หรือลัทธิขงจือต่างก็ไม่ต้องการให้ราชสำนักเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเพราะเป็นว่าเป็นตัวการฉุดรั้งการเมือง ดังนั้น ในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์จึงไม่ใจว่าตกลงแล้วพระเจ้าถังไท่จงทรงสนในพระทัยเรื่องพุทธศาสนาหรือไม่?
แต่มีข้อมูลว่าทรงเป็นผู้ช่วยค้ำชูพุทธศาสนา ไม่เพียงจะทรงยกเลิกคำสั่งกีดกันพุทธศาสนาในรัชกาลก่อน แต่ยังทรงสนับสนุนการสร้างวัด บรรพชาอุปสมบทพระภิกษุ และยังทรงเขียนบทนำให้กับฉบับแปลของพระสูตรต่างๆ ด้วย
ในเวลานั้น พระเจ้าถังไท่จงทรงอยากจะอ่านพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนา จึงถามซุนซือเหมี่ยวว่า "พระสูตรไหนยิ่งใหญ่ที่สุด?"
ซุนซือเหมี่ยวตอบกล่าวว่า "อวตัมฺสกะสูตรเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด"
พระเจ้าถังไท่จงตรัสว่า "ท่านอาจารย์เสวียนจ้าง (พระถังซำจั๋ง) เพิ่งแปลพระสูตร มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ทั้ง 600 บท มิใช่ว่ายอดเยี่ยมมากแล้วมิใช่หรือ อวตัมฺสกสูตรนั้นยิ่งใหญ่ เป็นที่หนึ่งหรือ?”
ซุนซือเหมี่ยวตอบว่า "โลกธาตุ (จักรวาล) ของอวตัมฺสกสูตรนั้นมีทุกสิ่งในวิถีแห่งธรรมะวิถีเดียว สามารถแสดงพระสูตรได้หลายพันพระสูตร ปรัชญาปารมิตาสูตรนั้นเป็นเพียงหนึ่งในวิถีธรรมในอวตัมฺสกะสูตร"
คำกล่าวนี้มีความหมายอย่างไร?
มหาปรัชญาปารมิตาสูตร 《摩訶般若波羅蜜經》 เป็นพระสูตรที่มีจำนวนบทหรือผูกมากยิ่งกว่า คือ 600 ผูก และถือเป็นพระสูตรที่มีจำนวนมากที่สุดในปิฎกฝ่ายมหายาน เป็นพระสูตรที่พระเถระเสวียนจ้าง อุตส่าห์อัญเชิญมาจากอินเดียแลทุ่มเทสติปัญญาแปลเป็นภาษาจีน แต่หลักธรรมของมหาปรัชญาปารมิตาสูตรก็ยังไม่ไพศาลเหมือนอวตัมฺสกสูตร เพราะเป้าหมายของมหาปรัชญาปารมิตาสูตร คือหลักคำสอนเรื่องการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์เป็นหลัก
แต่อวตัมฺสกสูตรนั้นมีหลักธรรมที่ครอบคลุมทั้งโพธิสัตวจริยา (การปฏิบัติของโพธิสัตว์) ปรัชญาอันลึกซึ้งของพุทธศาสนาทุกแง่มุม ความเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่งภายใต้หลักอิทัปปจยาตาหรือปฏิจจสมุปบาท ไปจนถึงพรรณนาถึงการบรรลุธรรมของ "แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" หรือเทวดาและอมุนษย์ทั้ง 8 กลุ่มที่ช่วยปกป้องพุทธศาสนา เอาแค่วิธีที่อมนุษย์เหล่านี้บรรลุธรรมก็มากมายมหาศาลแล้ว นั่นหมายความว่าพระสูตรนี้บอกถึงวิธีการบรรลุธรรมที่มากมายกว่า และลึกซึ้งกว่า ครอบคลุมฝุ่นธุลีที่มองไม่เห็นไปจนถึงโลกธาตุอันยิ่งใหญ่เกิดตาเห็น
แต่แม้จะลึกซึ้งปานนี้ อวตัมฺสกสูตรสามารถสรุปได้ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "หนึ่งเข้าถึงทุกสิ่ง ทุกสิ่งเข้าถึงหนึ่ง" 「一即一切,一切即一」 ทุกสิ่งเชื่อมโยงกันดุจตาข่ายของพระอินทร์ (อินทรชาละ 因陀羅網) ไม่มีที่สิ้นสุด แสดงให้เห็นแนวคิด "สรรพสิ่งไร้การกีดกั้นกันและกัน" (事事無礙)
ความลึกของพระสูตรเพียงแค่นี้ก็ทำให้ผู้คนยอมศิโรราบได้ ในที่สุด พระเจ้าถังไท่จงก็ทรงรู้แจ้งเห็นจริง ยอมรับนับถือยานแห่งธรรมอันลึกล้ำของอวตัมฺสกสูตร จึงเรียกอีกอย่างว่า "พระสูตรอันมีคุณแห่งการหลุดพ้นอันคาดคำนึงถึงมิได้" 《不可思議解脫經》 เพราะอานิสงส์นั้นยิ่งใหญ่ และประสบการณ์การสัมผัสเรื่องอัศจรรย์ก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน
เรื่องเล่านี้บางครั้งก็เล่าสลับเป็นว่า พระเจ้าถังไท่จงทรงซักถามพระถังซำจั๋งว่าพระสูตรไหนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พระถังซำจั๋งตอบว่าคืออวตัมฺสกะสูตร ทำให้พระเจ้าถังไท่จงทรงศรัทธาพระสูตรนี้ (อนึ่ง เรื่องเล่าแรกนั้นระบุว่ารัชสมัยถังไท่จง แต่ศักราชน่าจะเป็นสมัยถังเกาจง)
ในกาลต่อมา พระเจ้าถังไท่จงจึงทรงสนพระทัยในนิกายฝ่ายที่ศึกษาและสอนอวตัมฺสกสูตรอย่างยิ่ง คือนิกายหัวเหยียน (華嚴宗 แปลว่านิกายแห่งอวตัมฺสกสูตร) และได้เชิญพระเถระตู้ซุ่น (杜順) บูรพาจารย์แห่งนิกายหัวเหยียนมาแสดงธรรมในพระราชวัง และทรงโปรดเป็นอันมากถึงขนาดพระราชทานสมัญญานามแก่พระเถระตู้ซุ่นว่า "หัวใจจักรพรรดิ" (帝心 หรือ ตี้ซิน) ดังนั้นผู้คนยุคหลังจึงมักเรียท่านว่า ตี้ซิน ตู้ซุ่น (帝心杜順)
ในเรื่องพลังแห่งอวตัมฺสกะสูตรนั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จีนอีกหลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่ง พระเถระเซวียนฮว่า (宣化上人 เกิด ค.ศ. 1918 มรณภาพ 1995) ผู้นำพุทธศาสนาแบบจีนไปเผยแพร่ใสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 60 ได้เล่าไว้ว่า
"โลกธาตุ (จักรวาล) แห่งอวตัมฺสกะสูตรนั้นอยู่นอกเหนือจินตนาการ ความคิดของเราไม่อาจคาดถึงได้ ในอดีต ในสมัยราชวงศ์ฉีเหนือ (北齐 ระหว่าง ค.ศ. 550–577 หรือก่อนที่ซุนซือเหมี่ยวจะเกิด) พระราชโอรสองค์ที่ 3 ขององค์จักรพรรดิได้เสด็จไปที่ภูเขาอู่ไท่ซาน และเผาร่างของตนเพื่อถวายแด่พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ในเวลานั้นมีขันทีชื่อหลิวเชียนจือซึ่งไปกับพระโอรสด้วย เมื่อเขาเห็นว่าเจ้าชายตั้งใจแน่วแน่ที่จะเผาตัวเองเพื่อถวายแด่พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงขอให้จักรพรรดิอนุญาตให้เขาบวชเป็นพระภิกษุ และจักรพรรดิก็อนุญาตให้เขาบวชเป็นพระ
หลังจากที่เขาบวชเป็นพระแล้ว เขาอุทิศตนให้กับการอ่านและสวดอวตัมฺสกะสูตร เพราะเขามีความศรัทธาเป็นพิเศษและปฏิบัติธรรมภาวนาอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อปรารถนาผลานิสงส์อะไรบางอย่าง หลังจากปฏิบัติภาวนามาระยะหนึ่งเขาก็มีหนวดเครา งอกขึ้นมา เดิมทีขันทีไม่มีเครา แต่ในระหว่างการปฏิบัติภาวนา เคราของเขายาวขึ้นและดูเหมือนผู้ชายปกติ เดิมทีขันทีไม่มีรูปลักษณ์ของผู้ชายที่โตเต็มที่ เขาไม่มีเคราแบบผู้ชาย แต่เขาไว้หนวดเครายาวมากจนต้องเล็มมันออกไป บัดนี้ขันทีบรรพชิตนี้กลายเป็นบุรุษเต็มตัว และรู้แจ้งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากที่รู้แจ้งในธรรมแล้ว บรรพชิตอดีตขันทีเขียนอรรถกถาอธิบายพระสูตร ชื่อ "อวตัมสกะศาสตร์" 《华严论》 เขียนอวตัมฺสกะศาสตร์จบแล้ว มรณภาพไปโดยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ
นอกจากนี้ยังมีผู้เฒ่าหลี่ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการศึกษาอวตัมฺสกะสูตร ตลอดจนการอ่านและสวดอวตัมฺสกะสูตร ต่อมาเขาต้องการหาสถานที่ที่ดีในการปฏิบัติภาวนา เมื่อเขาเดินไปตามถนนเขาได้พบกับเสือตัวหนึ่ง เสือดูเป็นมิตรกับเขามาก ตามปกตินั้นเสือต้องทำร้ายผู้คน แต่เมื่อเห็นผู้เฒ่าหลี่ มันก็เป็นมิตรเหมือนเห็นเพื่อนเก่า ผู้เฒ่าหลี่พูดกับเสือว่า "ฉันต้องการหาสถานที่ปฏิบัติธรรมตอนนี้ ท่านช่วยฉันหาสถานที่ได้ไหม?" เสือพยักหน้า ท่านจึงวางสัมภาระ เสื้อผ้า และของทั้งหมดนี้ไว้บนหลังเสือแล้วปล่อยให้เสือแบกไป หลังจากเดินมาสามสิบกว่าลี้ก็เจอถ้ำแห่งหนึ่ง เสือหยุดอยู่นอกถ้ำไม่ได้เข้าไป ผู้เฒ่าหลี่เห็นว่าถ้ำแห่งนี้ดีมาก เขาจึงเริ่มปฏิบัติธรรมที่นี่ แต่ที่นี่ไม่มีน้ำ คืนนั้นลมแรงมาก และต้นสนแก่มากต้นหนึ่งก็ถูกโคนถอนล้มลง หลังจากที่ล้มลง ก็เกิดมีน้ำในบริเวณที่รากของต้นไม้พุ่งออกมา ขณะปฏิบัติธรรมที่นี่ เขาได้ดื่มน้ำนี้และเขียน "อวตัมฺสกะศาสตร์" 《華嚴論》คืออรรถกถาอวตัมฺสกะสูตรนนั่นเอง"
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ภาพวาดพระเจ้าถังไท่จงทรงต้อนรับราชทูตจากอาณาจักรถู่ปัว (步輦圖) จากสมัยราชวงศ์ถัง ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานกู้กง กรุงปักกิ่ง (北京故宮博物院)
ข้อมูลจาก
- • 唐太宗采纳药王孙思邈的劝谏受持《华严经》/ 摘自《大方广佛华严经感应传》(杨坤雳居士根据大藏经编辑)
- • 大方广佛华严经疏序浅释 / 美国万佛圣城宣化上人讲述于三藩市佛教讲堂 / 一九七一年六月十三日