ช่วงนี้ถ้าใครตาม 'เรื่องจีน' เป็นประจำคงจะได้ยินชื่อของวิคเตอร์ เกา (Victor Gao) หรือ 'เกาจื้อข่าย' อยู่บ่อยๆ นอกจากโฆษกของกระทรวงต่างๆ แล้ว คงมีแต่เขานี่แหละที่ออกมาปรกาศจุดยืนของจีนมากที่สุดแล้ว
วิคเตอร์ เกา คนนี้ไม่ธรรมดา เพราะต่อปากต่อคำกับสหรัฐฯ แบบไม่ลดราวาศอก แถมยังตอกกลับอีกฝ่ายให้หงายหลังมาแล้วหลายครั้ง
เช่น เขาเคยบอกว่า "สหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่ร้อยปี ในขณะที่จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 5,000 ปี นี่คือข้อเท็จจริง ในอดีตมีการกล่าวกันว่ามีเพียงจีนเท่านั้นที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ในอารยธรรมโบราณทั้งสี่แห่ง และอารยธรรมโบราณอื่นๆ ได้หายไป หรือโครงสร้างบุคลากรของพวกเขาถูกขัดจังหวะ นี่คือไพ่ใบสำคัญที่สุดของเราเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจีนมีความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นของจีนมาจากไหน มันคือสิ่งที่เราได้เห็นทุกอย่างในช่วง 5,000 ปีที่ผ่านมา (ในประวัติศาสตร์)"
พูดสั้นๆ ก็คือ จีนอยู่มานานกว่า 5,000 ปีแล้ว อารยธรรมอื่นๆ ล้มหายตายจากไปหมด เหลือแต่จีนเท่านั้นที่ยังยืนหยัด แค่นี้คงจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่ว่า ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หากปะทะกันขึ้นมา ใครจะล้มหายตายจากไปก่อน?
นี่คือหนึ่งในเผตุผลว่า ทำไม วิคเตอร์ เกา ถึงไม่ธรรมดา? แต่เหตุผลมันมีมากกว่านั้นหากเราย้อนดูประวัติของเขา
อาจกล่าวได้ว่า เส้นทางสายนี้ของเขาเริ่มต้นในปี 1983 เมื่อเขาเข้าร่วมแผนกแปลของกระทรวงการต่างประเทศของจีน และความสามารถที่เข้าตาผู้ใหญ่ เขาจึงได้ทำหน้าที่เป็นนักแปลภาษาอังกฤษของเติ้งเสี่ยวผิงในปี 1985 เข้าร่วมงานแปลการประชุมกับอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์คเกอร์ บุช และบุคคลสำคัญอื่นๆ ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เขายังทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับผู้นำจีน เช่น หูเย่าปัง หลี่เซียนเหนียน และหยางซ่างคุน
ต่อมา เขาได้ไปทำงานที่สหประชาชาติ และสมัครเข้าเรียนด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเยล ในปี 1989 โดยมีเฮนรี่ คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของเขา จนในที่สุดได้รับปริญญาโททางรัฐศาสตร์และปริญญาเอกทางนิติศาสตร์
สำหรับเบื้องหลังของ วิคเตอร์ เกา ยังมีอีกมาก แต่แค่นี้ก็คงจะชัดแล้วว่าเขาเคยทำงานกับ "ผู้หลักผู้ใหญ่" ของจีนและสหรัฐฯ มามากและเรียนจบระดับสูงที่สหรัฐฯ เคยทำงานกับบริษัทอเมริกัน และในที่สุดก็กลับมาทำงานให้ Center for China and Globalization (CCG) ที่ปักกิ่ง
CCG นั้นเป็นองค์การแบบ think tank ของจีนโดยผู้ก่อตั้งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่แม้แจะเกี่ยวข้องกับพรรค เพราะความเป็น think tank จึงมีบางครั้งที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาด้วย และยังถือเป็น think tank ระดับต้นๆ ของโลก
วิคเตอร์ เกา ก็มีลักษณะคล้ายกับองค์กรที่เขาทำงานด้วย คือ เป็นทั้งมันสมอง (ให้คำแนะนำ) กับประเทศในประเด็นต่างๆ และบางครั้งก็วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา
แต่เขาถือเป็น "กุนซือ" คนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ และมักได้รับเชิญจากหน่วยงานรัฐไปให้คำแนะนำเรื่องที่ยากจะสะสาง เช่น ในช่วงที่เกิดความไม่สงบในซินเจียง ผู้บริหารของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้เชิญ วิคเตอร์ เกา ให้เสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพในซินเจียง ในขณะที่สำนักงานโฆษณาชวนเชื่อต่างประเทศส่วนกลางและสำนักงานข้อมูลคณะรัฐมนตรีได้เชิญเขาไปให้เข้าร่วมการหารือภายในเกี่ยวกับปัญหาในทิเบตและซินเจียง
ประเด็นซินเจียงเป็น "หนามยอกอก" ของจีนมาตลอด หนามชิ้นนี้จีนไม่ได้สะดุดแล้วแข้งตำขาตัวเอง แต่ชาติตะวันตกเอามาทิ้มไว้ วันดีคืนดีก็จะกระทุ้งไปที่หนามนั้นเพื่อทำให้จีนสะดุ้งหรือเจ็บปวดเพื่อบ่อนทำลายจีนไปเรื่อยๆ นี่จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างรอบคอบ และจีนพยายามแก้มันมาหลายปีแล้ว แต่ชาติตะวันตกก็ "หาเรื่อง" จีนไม่หยุดเพื่อให้หนามนั้นเป็นตัวบ่อนทำลายจีนต่อไป
แม้ วิคเตอร์ เกา จะเคยแนะนำหน่วยงานของรัฐไปเมื่อหลายปีก่อนเรื่องซินเจียง แต่ปัญหาก็ยังไม่จบและเมื่อเร็วๆ นี้เขาเจอเข้ากับตัวเองเมื่อร่วมประชุม Doha Forum มีเด็กสาชาวซีเรียถามเขาเรื่อง "ปัญหาซินเจียง" ว่า “ประชาชนในซินเจียงอยู่กันดีไหม” ซึ่งคำถามนี้สะท้นถึงความสงสัยเรื่องซินเจียงในแง่การเมืองระหว่างประเทศ
วิคเตอร์ เกา ตอบเหมือนจะห้วนๆ ว่า “ประชาชนในซินเจียงอยู่กันดีอยู่แล้ว คุณควรเลิกมาเพ่งเล็งซินเจียงทั้งวัน คุณสามารถแก้ปัญหาในประเทศของคุณเองก่อนแล้วค่อยพูดถึงเรื่องอื่นได้ไหม ถ้าคุณไม่เชื่อผม กลับไปถามประธานาธิบดีของคุณสิ!”
ยังไม่พอ เขายังตอกกลับด้วยว่า “ตอนนี้ประเทศของคุณไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามเหรอ คุณควรกลับไปช่วยประเทศของคุณก่อนจะดีกว่า”
แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะ "ตบหัว" อย่างเดียว แต่ยัง "ลูบหลัง" ด้วยการอธิบายดีๆ ด้วยว่า “ซินเจียงเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อย ปัญหาที่ชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญคือจะรักษาลักษณะเฉพาะของชาติของตนเองไว้ได้อย่างไรในขณะที่พัฒนา ไม่ใช่ว่าจะกำจัดลักษณะเฉพาะเหล่านี้ได้อย่างไร” และเขากล่าวว่าวิธีการจัดการกับปัญหาซินเจียงที่เห็นได้ชัดนี้มานานแล้วคือทัศนคติของประเทศตะวันตกที่มีต่อมหาอำนาจตะวันออก พวกเขารู้สึกว่าหากทำเช่นนี้ พวกเขาสามารถหลอกลวงโลกได้ต่อไป แต่กลอุบายดังกล่าวล้าสมัยไปแล้ว
นี่คือท่าทีของ วิคเตอร์ เกา ซึ่งบางครั้งลุ่มลึกแบบปัญชาชน แต่บางครั้งก็ทิ่มแทงแบบนักปราศรัยตามท้องถนน อันเป็นแคาแรกเตอร์ที่คนในรัฐบาลจีนไม่นิยมทำ แต่เป็นท่าทีที่คนนอกรัฐบาลบางคนสามารถทำได้ แต่เท่าที่เห็นในเวลานี้ มีแต่ วิคเตอร์ เกา เท่านั้นที่มีลีลา "บู๊ผสมบุ๋น" แบบนี้
ลีลาแบบนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเขาต้องเป็นปากเป็นเสียงให้กับประเทศของตัวเองในช่วงเวลาของสงครามภาษี
เมื่อเร็วๆ นี้ เขาไปร่วมรายการของของสถานีโทรทัศน์ Al Arabiya กับนักการทูตอเมริกันคนหนึ่งซึ่งกล่าวหาจีนว่าขโมยสิทธิบัตรของชาติตะวันตก แต่ วิคเตอร์ เกา หักล้างข้อกล่าวหานี้ด้วยข้อมูลล่าสุด เขาชี้ให้เห็นว่าจำนวนสิทธิบัตรที่จีนยื่นขอในแต่ละปีนั้นจำนวนเกินกว่าของประเทศตะวันตกมาก ในด้าน 5G และปัญญาประดิษฐ์ จีนอยู่ในสถานะผู้นำและเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์มากกว่าผู้ปฏิบัติตาม และกล่าวว่า "ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนไม่เคยละเมิดกฎการค้าใดๆ และเป็นผู้ปกป้องการค้าเสรีอย่างแข็งขันมาโดยตลอด"
หลังจากตอบแบบเชือดนิ่มๆ แล้ว ก็ถึงเวลาตอบแบบสายบูู๊ด้วยการเตือนว่า “หากคุณต้องการเริ่มสงครามกับจีน คุณจะต้องเจอกับสงคราม หากคุณต้องการทำลายจีน คุณจะต้องถูกทำลาย... จีนจะไม่ยอมปล่อยมันไป เราจะสู้จนถึงที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีสันติหรือไม่ก็ตาม”
เขายังกระแทกตรงๆ ไปที่ทรัมป์ด้วยว่า “ตอนที่ทรัมป์ทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในแมนฮัตตัน เขาเคยล้มละลายถึง 6 ครั้งและมีคดีความมากกว่า 4,000 คดี คนแบบไหนก็จะเลือกเดินตามทางแบบนั้น และเมื่อมีคนอย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ามา ตอนนี้เขากำลังพยายามก่อปัญหาไปทั่วโลก และต้องการเอาชนะด้วยวิธีดังกล่าวและขู่เข็ญจีนให้ถอยหนี ความจริงแล้ว นี่เป็นเพียงการคิดไปเองเท่านั้น”
“โดยสรุป เราต้องยืนหยัดและยืนกรานว่าจะทำสิ่งที่ถูกต้อง ในสงครามภาษีครั้งนี้ มีสองประเด็นที่สำคัญมาก ประการแรก เราต้องปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีนอย่างมั่นคง ประการที่สอง เราต้องปกป้องหลักการสำคัญของการค้าเสรีอย่างมั่นคง หากเราทำได้ดีในสองด้านนี้ ฉันคิดว่าเราจะสามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกา 'เสือกระดาษ' ได้”
กับ เจดี แวนซ์ เขายิ่งไม่ไว้หน้าหลังจากที่แวนซ์ดูถูกคนจีนว่าเป็นแค่ "ชาวนา" ถึงกับบอกว่าให้กลับไปอ่านหนังสืออีกรอบเถอะ โดยเขาบอกผ่านสำนักข่าว BBC ว่า "[ด้วยความเคารพ] รองประธานาธิบดีแวนซ์: อย่าทำให้ตัวเองอับอาย กลับไปอ่านหนังสือบ้างเถอะ คำพูดของคุณที่ว่า "ชาวนาจีน" (Chinese peasants) นั้นไร้ยางอายและโง่เขลามาก สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อสงครามการค้าโลกนี้ และท้ายที่สุดก็ทำร้ายผู้อื่นและทำร้ายตัวเอง ในท้ายที่สุด ทั้งโลกจะเรียนรู้ว่าจีนยืนหยัดต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและการค้าเสรีระดับโลก"
กับสงครามภาษีที่ดูเหมือนจะยุติชั่วคราวหลังจากที่ผู้แทนจีนและสหรัฐตกลงกันได้ในการหารือที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และตกลงจะลดภาษีที่ต่างก็ขึ้นพรวดพราดใส่กัน
บรรดานักวิเคราะห์ต่างก็ไม่ไว้วางใจ เพราะมันเป็นแค่ข้อตกลงชั่วคราว ยังไม่ใช่การสงบศึกอย่างถาวร และคนแบบทรัมป์ก็มักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้
ในเรื่องนี้จีนควรจะมีท่าทีแบบไหน? เราสามารถพิจารณาได้จากท่าทีของ วิคเตอร์ เกา
เขาตอบคำถาม "สงครามภาษีจะกินเวลานานแค่ไหน?" ว่า "จะสู้กับเขาตราบเท่าที่เขาสู้ จนกว่าเราจะชนะอย่างเด็ดขาด"
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by SALIM MATRAMKOT / AFP