"ท่อนไม้ที่ถูกเผาไหม้ในเตาผิงในห้องรับแขกส่องประกายแสงไฟสวยงาม เก้าอี้เท้าแขนดูหรูหราและน่านั่งเอน แก้วและขวดไวน์วางเรียงรายอยู่พร้อมราวกับนาฬิกาตั้งโต๊ะบอกเวลา"
ทั้งหมดนี้เหมือนภาพที่หลุดมาจากนิตยสารที่มีภาพประกอบอันสวยหรู แต่จริงๆ แล้วของทุกชิ้นในห้องที่เห็นนี้ ถูกประดิษฐ์อย่างประณีตด้วยขนาดอันเล็กจิ๋วจนสามารถวางในฝ่ามือเดียวได้
“ฉันชอบบ้านสไตล์วิกตอเรียน (ศตวรรษที่ 19) และอยากอาศัยอยู่ในบ้านแบบนั้นมาตลอดแต่ก็ไม่เคยได้อยู่” มิเชล ซิมมอนส์ เผยความรู้สึกของเธอพร้อมกับกลั้วเสียงหัวเราะขณะพูดคุยกับสำนักข่าว AFP เธอเป็นผู้ชื่นชอบบ้านตุ๊กตาขณะชื่นชมฉากจำลองอันแสนสบายจากบูธของบริษัท Mulvany & Rogers ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์
พนักงานจัดหางานในบริษัทวัย 57 ปีได้ฟื้นความหลงใหลในวัยเด็กที่มีต่อบ้านตุ๊กตาขึ้นมาอีกครั้งในช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 และตั้งแต่นั้นมา เธอก็ “ขาย” บ้านตุ๊กตาไปประมาณ 10 หลัง โดยซื้อมาเอง ประกอบเอง และขายต่อให้คนอื่นๆ ที่ชื่นชอบ
เธอและลูกสาวไม่คิดอะไรมากเลยแม้จะต้องบินจากบอสตัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา และให้เวลาตลอดทั้งคืนกับการเดินทาง เพียงเพื่อจะไปตามหาผ้าม่านขนาดเล็กและเปลเด็กที่งานเทศกาลบ้านตุ๊กตาชั้นนำ คืองาน Kensington Dollshouse ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
“ฉันชอบมาก! คุณไม่ต้องคิดอะไรอย่างอื่นเลยเมื่อทำเรื่องนี้” เธอบอกกับ AFP โดยยอมรับว่าเธอต้องถูกฉุดลากออกจากโรงเก็บของที่เธอใช้เป็นที่สร้างบ้านตุ๊กตา เพื่อไปเลี้ยงลูกบ่อยๆ เพราะเธอหมกมุ่นอยู่กับงานมาก
มันคืองานจิ๋วที่ประณีต
งานเทศกาลประจำปีนี้รวบรวมช่างฝีมือจิ๋วระดับโลกมาตั้งแต่ปี 1985 โดยเป็นการเฉลิมฉลองงานอดิเรกที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในช่วงไม่นานมานี้และกิจกรรมออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
งานนี้จะจัดแสดงงานจิ๋วต่างๆ ที่จำเป็นในการตกแต่งบ้าน ตั้งแต่โคมระย้าและภาพวาด ไปจนถึงโต๊ะรับประทานอาหารไม้มะฮอกกานีและของใช้ในครัว ซึ่งล้วนมีราคาแพง
บ้านตุ๊กตาอาจเกี่ยวข้องกับเด็กๆ แบบดั้งเดิม แต่การสะสมของจิ๋วระดับไฮเอนด์นี้เป็นงานอดิเรกของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ
“นี่คือช่างฝีมือที่กำลังทำงานเกี่ยวกับสิ่งของที่ประณีต” เรเชล คอลลิงส์ หญิงผู้ “หลงใหลในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ” กล่าวกับ AFP โดยเธอถึงกับลงทุนซื้อของเล่นจากบริษัท Laurence & Angela St. Leger ช่างทำของจิ๋วชื่อดัง
ของที่เธอซื้อมาทุกชิ้นซึ่งราคาอย่างน้อย 40 ปอนด์ (53 ดอลลาร์) สามารถใส่ในภาชนะพลาสติกขนาดเล็กได้พอดี และจะถูกเพิ่มเข้าไปในคอลเลกชันของเธอซึ่งมีของชิ้นเล็กๆ มากมาย
“ฉันมีมะนาวผ่าครึ่งลูก ลองนึกดูว่ามันเล็กขนาดไหน มีที่คั้นมะนาว แปรงทาขนมปัง และที่ตีไข่ที่ใช้งานได้จริง” เรเชล คอลลิงส์ บรรณาธิการวัย 47 ปีกล่าว
“มันเป็นของเด็กในตัว ของพวกนี้สวยงามมาก”
บ้านตุ๊กตามีต้นกำเนิดมาจากยุโรปในช่วงปี ค.ศ. 1500 เมื่อพวกมันถูกใช้เพื่อจัดแสดงสมบัติจิ๋วของคนร่ำรวย
เช่นเดียวกับในงานเทศกาลที่ลอนดอน บ้านที่เรียกว่า “บ้านเด็ก” (baby houses) เหล่านี้มีไว้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่สำหรับเด็ก
ซูซาน อีแวนส์ ผู้มีอาชีพผดุงครรภ์วัย 67 ปี ซึ่งเดินทางไกลจากคอลวินเบย์ทางตอนเหนือของเวลส์มาร่วมงานนี้ทุกปี บอกว่าเธอไม่ได้มีแค่บ้านตุ๊กตาหลังเดียว
เธอเล่าว่า “ฉันมีหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน มีร้านค้าสมัยวิกตอเรีย 18 แห่ง โรงเรียน คฤหาสน์ ผับ และโบสถ์หลังหนึ่ง” และเสริมว่าโบสถ์หลังนี้มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 4,000 ปอนด์
ในช่วงแรก งานอดิเรกนี้เป็นเพียงการคลายเครียดเพื่อช่วยให้เธอผ่อนคลาย แต่ตอนนี้เธอสามารถระดมทุนได้หลายพันปอนด์จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงผลงานที่บ้านของเธอ
เธอเล่าว่า “มันคือความหลงใหลของฉัน เป็นการใช้ชีวิตแบบหลีกหนีจากความเป็นจริง และการใช้จินตนาการ ซึ่งฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสุขภาพจิต”
กิจกรรมที่'ทำได้ตามใจชอบ'
ชาร์ล็อตต์ สตอโค ผู้จัดงานงาน Kensington Dollshouse กล่าวว่าปัจจุบันมีผู้สนใจบ้านตุ๊กตาและของจำลองเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด
“เมื่อโลกทั้งใบกำลังวุ่นวายกับความเครียดในชีวิตของทุกคน (กิจกรรมนี้) มันก็ผ่อนคลายดี คุณทำได้ตามใจชอบ” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าหลายคนชอบที่จะรื้อบ้านตุ๊กตาเก่าๆ ทิ้งในช่วงที่ต้องล็อกดาวน์เพราะโควิด
และในช่วงที่ต้นทุนสูงขึ้น เธอกล่าวว่า หลายๆ คน “ค้นพบว่าพวกเขาสามารถออกแบบตกแต่งภายในได้ ซึ่งบางทีพวกเขาอาจทำไม่ได้กับบ้านของตัวเอง ในระดับเล็กทำได้มากกว่ามาก”
ดาเลีย อิสคานเดอร์ นักมานุษยวิทยาทางการแพทย์จากยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน (UCL) ใช้เวลาสามปีในการค้นคว้าเรื่องนี้สำหรับหนังสือ "Miniature Antidotes" ของเธอที่จะออกในเร็วๆ นี้
“สำหรับหลายๆ คน นี่เป็นวิธีสำรวจประสบการณ์ ความทรงจำ และจินตนาการของตนเอง และรวมสิ่งเหล่านี้เข้าไปในโลกจำลองเหล่านี้” เธอกล่าว
เธอกล่าวเสริมว่า ปัญหาทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล สามารถสำรวจได้ทั้งหมดผ่านของจำลองในลักษณะที่ “เป็นประโยชน์”
คอลลิงส์ ผู้ชื่นชอบของจิ๋วกล่าวว่างานอดิเรกนี้กลายเป็นแหล่งความสุขอย่างมาก จนลูกสาววัย 12 ขวบของเธอเองก็สนใจด้วย เธอจึงแนะนำให้ทุกคนลองทำดู
“เมื่อทุกอย่างดูยากเย็นไปหมด ก็จะมีสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คอยเยียวยา” เธอกล่าว
“บางครั้ง ฉันแค่ไปนั่งดูมันแล้วก็มีความสุข”
Agence France-Presse
Photo by BENJAMIN CREMEL / AFP