ในขณะที่ "พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในนรก" แต่คนทุกวันนี้ "เป็นพระเพื่ออะไร?" 

ในขณะที่
คำถาม "เป็นพระเพื่ออะไร?" ในยุคสมัยที่ผู้คนเคารพ'คนในผ้าเหลือง'น้อยลง

ยุคสมัยนี้ในฝ่ายมหายานเรียกว่า "ยุคปลายพระศาสนา" (末法) หรือภาษาสันสกฤตเรียกว่า "สัทธรรมวิประโลป" คำว่าสัทธรรมหมายถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คำว่า วิประโลป หมายถึงความเสื่มถอยและการถูกทำลาย 

"ยุคปลายพระศาสนา" จึงหมายถึงยุคที่พระธรรมคำสอนเสื่อมถอยและถูกทำลาย โดยที่พระธรรมนั้นไม่ได้เสื่อถอยในตัวมันเอง แต่ "คน" ทำให้เสื่อ

และสำนักของฝ่ายมหายานต่างก็มองห้วงเวลาและลักษณะของยุค "สัทธรรมวิประโลป"ต่างกัน แต่หากจะพิจารณาจากความหมายของคำ มันย่อมหมายถึงความเสื่อมของพุทธบริษัทสี่ คือ บรรพชิตชายหญิงไม่ทำตัวเป็นบรรพชิต และฆราวาสชายหญิงไม่ทำตัวเป็นฆราวาส 

โดยเฉพาะบรรพชิตนั้นมีเรื่องอื้อฉาวที่ทำลายความเชื่อถือผู้คนต่อพุทธศาสนา ทำให้คนห่างเหินจาก "การปฏิบัติ" ยิ่งคนไม่ปฏิบัติธรรม ศาสนาพุทธก็จะยิ่งเสื่อมถอย 

ดังนั้น หากตัวอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากครั้ง ความเสื่อมของศาสนาก็จะยิ่งเร็วขึ้น

ในบ้านเมืองเรามีผู้บวชเป็นพระมากมาย หากจะใช้จำนวนเป็นที่ตั้งคงอ้างได้ว่า "พระศาสนาเจริญรุ่งเรือง" แต่จำนวนไม่ได้บอกถุึงคุณภาพ ในจำนวนที่มากมายหากมี "พระผู้ใหญ่" ที่ขาดการตระหนักว่าตนเป็นพระเพื่ออะไร คณะสงฆ์ทั้งหมดก็จะด่างพร้อยได้

คำถามสำคัญก็คือ "คุณเป็นพระไปทำไม?" หากยังข้องแวะกับทางโลก

คำถามนี้จะขอเชิญคำตอบจากพระเถระซองชอล (성철/性徹 ชาตะ ค.ศ. 1912 มรณะ ค.ศ. 1993) ผู้เป็นพระกรรมฐานผู้ใหญ่ของเกาหลีใต้ เป็นผู้เคร่งครัดของพระวินัย เข้มข้นเรื่องการปฏิบัติธรรม และช่ำชองในฝ่ายปริยัติ

ท่านเคยสั่งสอนอบรมพระสงฆ์ไว้ว่า 

"เป้าหมายของชีวิตสงฆ์คือการมีความกรุณาโดยไร้ขอบเขต เราควรรับใช้ผู้อื่นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านจิตใจและในทางวัตถุ ในการทำเช่นนั้น เราจะต้องไม่ทำลงไปเพื่อหวังสิ่งตอบแทน จงให้ความช่วยเหลือเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถทำได้ โดยเฉพาะกับคนแก่ คนหนุ่มสาว คนป่วย และคนยากจน"

ท่านยังกล่าวต่อไปว่า "พระราหุล โอรสของพระพุทธเจ้ากลายเป็นหนึ่งในสิบอัครสาวกที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า และต่อมาท่านยังมีชื่อเสียงในเรื่องความเมตตากรุณาด้วยการทำดีแบบปิดทองหลังพระ การกระทำ (ความดี) ทุกอย่างของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่โดดเด่นเพียงใดก็ตามจะต้องทำลงไปโดยไม่ให้ใครล่วงรู้ แม้แต่ผีสางเทวดาก็ไม่อาจรู้ได้ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบรรลุธรรมของพวกเรา ความดีมีค่าเท่าเงินตำลึงทอง อาจถูกทำลายป่นปี้ด้วยความชั่วเท่าเงินอีแปะเดียว เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็เป็นผู้พ่ายแพ้แล้ว"

จากคำสอนของท่านนี้สะท้อนว่าพระสงฆ์ควร "รับใช้ญาติโยม" ไม่ใช่ลำพองในยศถาบรรดาศักดิ์เพื่อให้ญาติโยมยอมสยบ พระสงฆ์ยังควร "รับใช้ญาติโยม"โดยไม่หวังชื่อเสียงเงินทองเป็นสิ่งตอบแทน เพราะมันจะทำให้ "เป็นผู้พ่ายแพ้"

แบบอย่างใดที่พระสงฆ์ควรใช้เป็นแบบอย่าง? ไม่มีแบบอย่างไหนหรอกที่จะประเสริฐไปกว่าพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเกป็น "พระชินราช" คือเจ้าแห่งชัยชนะทั้งปวง

เช่นเดียวกับการเป็นพระสงฆ์ที่ทำดีแบบปิดทองหลังพระ พระสงฆ์ควรอุทิศตนบุกน้ำลุยไฟเพื่อปลดปล่อยสรรพชีวิตจากความทุกข์ 

พระเถระซองชอลกล่าวว่า 

"พระพุทธเจ้าประทับอยู่ถาวรในที่อันน่าสะพรึงกลัวอย่างนรก และที่นั่นพระองค์ทรงรับฟังเสียงคร่ำครวญและความทุกข์ทรมานของสรรพสัตว์เพื่อนำพวกเขาไปสู่สถานที่แห่งความสงบและไร้กังวล เพราะความสุขสูงสุดของพระองค์คือการได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น

สรรพสัตว์ที่ทนทุกข์คือพุทธะของพระพุทธเจ้า ถ้าทุกข์ไม่มี ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเสวยทุกขเวทนาเหมือนลูกกตัญญูแบกรับทุกข์ของบิดามารดา และถ้าบรรดาผู้ทุกข์ร้อนพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าในทางใดทางหนึ่ง พระองค์ก็จะแสดงความเคารพคนผู้นั้นยิ่งๆ ขึ้นไป

นี่ไม่ใช่เพราะความกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าหรอก แต่เป็นวิถีชีวิตของพระองค์ พระองค์จะไปเฉพาะสถานที่อันตรายและยากลำบาก สถานที่มืดมนและโสโครก ที่ซึ่งผู้คนถูกทอดทิ้งและถูกหมางเมินอาศัยอยู่"

ที่พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในดินแดนอันโหดร้ายก็เพราะทรงมี "มหากรุณาที่ไร้ขอบเขต" พระสาวกและโพธิสัตว์ที่ดำเนินตามรอยทางของพระองค์มีมากมาย เพราะล้วนแต่มีมหากรุณาเป็นที่ตั้ง

เช่น พระกษิติครรภโพธิสัตว์มีปณิธานรับใช้สรรพสัตว์ว่า "หากนรกยังไม่หมดสิ้นสรรพสัตว์ ไฟนรกไม่มอดลงไป เราจะไม่ขอตรัสรู้ จะช่วยเหลือพวกเขาในนรกเช่นนี้เรื่อยไป"

และคำกล่าวอันลือลั่นว่า "เราไม่ลงนรก แล้วใครเล่าจะลงนรก" (我不入地狱谁入地狱!) ซึ่งหมายความว่า หากท่านไม่ทุ่มเทกายใจช่วยเหลือสรรพสัตว์ในที่อันทุกข์ร้อนแล้ว ใครหน้าไหนที่จะกล้าไปช่วยอีก?

มหากรุณานั้นคือความเห็นอกเห็นใจสรรพชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่หวังแต่ได้ให้ตัวเอง กับอริยบุคคลและโพธิสัตว์ที่เปี่ยมมหากรุณาแล้ว ไม่มีเลยที่จะเอาเข้าตัวเอง มีแต่จะเอาของตัวเองมอบให้ผู้อื่น กระทั่งเนื้อหนังมังสาก็เฉือนมอบให้ได้ 

พระสงฆ์ไม่อาจทำเช่นนี้ได้ทุกรูป แต่ในยุคปลายพระศาสนาที่อะไรๆ ก็เสื่อมนั้น ขอเพียงเจ้ากูอย่าได้เห็นแก่ลาภสักการะแล้วเอาแต่สะสมทรัพย์กับสมณศักดิ์ ก็ถือเป็นความกรุณาอันล้นพ้นแล้วกระมัง?

กับญาติโยมนั้น หากเป็นผู้ที่ "ใฝ่หาการหลุดพ้นจากความทุกข์จริงๆ" จะไม่สนใจข่าวความมัวหมองของพระสงฆ์มากนัก เพราะพระสงฆ์ทำความผิดเป็นรายบุคคลไป แม้จะมีหลายคนแต่ "คณะสงฆ์" ทั้งหลายก็ยังตั้งมั่น การไปตำหนิติเตียนพระสงฆ์มากเกินไปจะยิ่งทำให้ผู้ติเตียนห่างไกลจาการพ้นทุกข์ 

พูดง่ายๆ คืออยากจะพ้นทุกข์ก็จงสนใจทุกข์ของตัวเองแล้วแก้ไขมัน 

ส่วนปัญหาของพระศาสนานั้นเป็นภารกิจของผู้ที่มีปณิธานที่จะปกป้องมัน แม้จะต้องบุกน้ำลุยไฟก็ตาม เช่น คนอย่างพระกษิติครรภโพธิสัตว์ยอมอยู่ในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์เพื่อช่วยเหลือไม่ไว้หน้า

มีหลักคำสอนหนึ่งจาก "กษิติครรภทศจักรสูตร"  《大乘大集地藏十輪經》 ที่สั่งสอนฆราวาสไว้ว่า ฆราวาสควรเคารพบรรพชิต คือ ภิกษุและภิกษุณี ไม่ดุด่าตำหนิภิกษุเหล่านั้น สาเหตุก็เพราะ "แม้ภิกษุใดละเมิดศีลและทำความชั่ว จนถูกเรียกว่า เป็นคนตายแล้ว ในธรรมวินัยของเราก็ตาม แต่เขายังมีพลังแห่งคุณของศีลของผู้เออกเรือนเหลืออยู่"

ในเรื่องนี้พระเถระอิ้นซุ่น (印順法師) ปราชญ์แห่งพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ชาวจีน/ไต้หวัน (ชาตะ ค.ศ. 1906 มรณะ ค.ศ. 2005) ได้อธิบายไว้อย่างแยบคายว่า "ภิกษุผู้ละเมิดศีลละเมิดวินัย เปรียบเสมือนศพ (ไม่สามารถฝึกปฏิบัติให้บรรลุธรรมได้ด้วยตนเอง) ห้วงธรรมอันไพศาลดุจมหาสมุทรไม่อาจรองรับได้ จึงควรขับไล่ออกจากสงฆ์ แต่ภิกษุผู้ชั่วร้ายที่ละเมิดศีลนั้นเคยรับศีลจากสงฆ์มาก่อน แม้ละเมิดศีลก็ยังมีคุณธรรมเหลืออยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภิกษุที่ละเมิดศีลไม่ได้ทำลายศีลและคุณธรรมทั้งหมด แต่ยังมีคุณธรรมอยู่บ้าง เหมือนกับกล่องที่ครั้งหนึ่งเคยบรรจุเครื่องเทศ เมื่อเครื่องเทศถูกเอาออกไปแล้ว กลิ่นหอมยังคงอยู่ เพราะผู้ที่ละเมิดศีลเมื่อได้รับศีลแล้ว ก็ยังคงคุณธรรมอยู่บ้าง และสามารถทำให้ผู้พบเห็นเกิดความคิดพิเศษอันเป็นบุญกุศลสิบประการและเสริมมงคลแก่ตนได้"

ดังที่ระบุในกษิติครรภทศจักรสูตรว่า "แม้ภิกษุทั้งหลายจะละเมิดศีลแล้ว สัตว์ทั้งหลายเมื่อเห็นรูปของเขา ก็จักมีจิตอันพิเศษ 10 ประการ และจะบรรลุขุมสมบัติแห่งกุศลอันประมาณค่ามิได้ คือ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ ระลึกถึงศีล ระลึกถึงการกุศล จดจำขันติธรรม ระลึกถึงการทำจาคะ ระลึกถึงความไม่ยึดติด ระลึกถึงปัญญา และระลึกถึงรากเหง้าแห่งการสละที่ดีที่ปลูกไว้ในกาลก่อน"

พูดง่ายๆ ก็คือ พระภิกษุละเมิดพระวินัยจนขาดสะบั้นเหมือนเป็นพระก็ไม่ใช่พระแล้วนั้น ก็ยังมีคุณงามความดีอยู่บ้าง คือ่วยทำให้เราทำอนุสติ (念) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ได้ ที่สำคัญเมื่อเราระลึกถึงผู้นั้นในฐานะภิกษุย่อมเป็นการระลึกในทางกรรมฐานทรี่เรียกว่า สังฆานุสสติ เหมือนการระลึกพระธรรม เรียกว่าธัมมานุสสติ และระลึกถึงพระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธานุสสติ และระลึกถึงบุญกุศลทีร่ทำไว้กับพระองค์ไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้มีพลังแห่งกุศลมหาศาล เป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมได้

คำอธิบายพระสูตรของพระเถระอิ้นซุ่น จึงกล่าวว่า "บางคนเกิดศรัทธาและเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาเมื่อได้พบกับพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ บางคนค่อยๆ ผูกพันกับพระพุทธศาสนาและเรียนรู้พระพุทธศาสนาเมื่อเห็นพระสงฆ์ธรรมดาในบ้านเกิดเมื่อยังเด็ก หรือเห็นพระสงฆ์ที่ไม่เก่งในสิ่งที่ตนทำ เช่น ผู้ที่ละเมิดศีลหรือไม่มีศีลเลย แม้ว่าความประทับใจแรกอาจจะไม่ดีนัก แต่คุณก็ยังมีความนึกคิดที่ดี รู้ว่ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ และกำลังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้พระพุทธศาสนาอยู่ ดังนั้น พระพุทธรูปในวัดที่ทรุดโทรม คัมภีร์พระพุทธศาสนาในกองหนังสือเก่า และพระสงฆ์ที่ละเมิดศีล ล้วนสามารถปลุกเร้าศรัทธาของสรรพสัตว์ในพระรัตนตรัยได้ โดยวิธีนี้ พระภิกษุใดละเมิดศีลและไม่มีศีล ก็สามารถสร้างบุญให้ผู้คนมีจิตคิดดีเพิ่มพูนได้"

ดังน้ันแม้ภิกษุขะขาดจากศีลและพระวินัยก็เป็นไปตามกรรมของเขา ส่วนผู้ไม่ข้องแวะเรื่องคนอื่นมุ่งแต่การปฏิบัติ มองโลกในแง่กุศล แม้เพียงเห็น "คนห่มเหลือง" ก็ยังได้บุญเพราะรู้จัก "กำหนดใจให้เป็น" แม้คนห่มเหลืองนั้นจะลงนรก เราก็ยังได้ไปนิพพานได้ปานนั้น

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับใจของเราเอง

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ศิลปะเกาหลี ยุคราชวงศ์โครยอ ระหว่าง ค.ศ. 918–1392 ปัจจุบันอยู่ที่ The Metropolitan Museum of Art
 

TAGS: #พุทธศาสนา #พระวินัย #อลัชชี