พระพุทธเจ้าที่คุณไม่รู้จัก เปิดคัมภีร์เล่าตำนาน'พระวิปัสสี'ความอัศจรรย์และพลังแห่งการภาวนาพระนาม

พระพุทธเจ้าที่คุณไม่รู้จัก เปิดคัมภีร์เล่าตำนาน'พระวิปัสสี'ความอัศจรรย์และพลังแห่งการภาวนาพระนาม

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ปราชญ์ด้านพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาลเคยกล่าวไว้ว่า 'คลังพระไตรปิฎก' ของพุทธศาสนานั้นกว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะคลังคัมภีร์ฝ่ายมหายานนั้นมโหฬารมาก เพราะรวมเอาฝ่ายหินยานเอาไว้ด้วย ส่วนคลังปิฏกของหินยานนั้นไม่ได้รวมเอามหายานเอาไว้

ที่เรียกว่า 'มหายาน' และ 'หินยาน' นั้นไม่ใช่นิกาย แต่หมายถึง 'ปณิธาน' ในการบรรลุมรรค คือผู้ที่หวังจะบรรลุด้วยยานใหญ่หมายจะช่วยสรรพสัตว์มากมายไปด้วยกัน ส่วนผู้ที่ตั้งใจจะบรรลุธรรมด้วยตนเองก่อนแล้วค่อยช่วยเหลือสรรพสัตว์ในภายหลัง

คำเหล่านี้ไม่ใช่คำแบ่งชั้นวรรณะหรือเอามาเหยียดหยามกันและกัน แต่เป็นการแบ่งประเภทของผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่คิดในแง่ร้ายต่อคำเหล่านี้ควรจะเปลี่ยนทัศนะเสีย

เนื่องจากเรารู้เรื่องของคลังปิฎกของมหายานน้อยมาก จึงมักจะเข้าใจอะไรผิดๆ เกี่ยวกับมหายาน และเนื่องจากวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ผมจะขอแนะเรื่องของพุทธเจ้าในอดีตที่มีพระนามว่า 'พระวิปัสสี' โดยเน้นเฉพาะหลักฐานจากฝ่ายมหายาน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจประวัติของพระพุทธเจ้า

สำหรับชาวพุทธในประเทศไทยที่มีปณิธานเป็นหินยานและสังกัดฝ่ายเถรวาทแล้ว ประวัติของพระวิปัสสีปรากฏอยู่ใน 'พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก วิปัสสีพุทธวงศ์ที่ 19 ว่าด้วยพระประวัติพระวิปัสสีพุทธเจ้า' โดยคร่าวๆ คือพระวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 19 ในพุทธวงศ์ของพระโคตมพุทธเจ้า ตรัสรู้เมื่อ 91 มหากัปที่แล้ว 

เนื้อหาเรื่องพระวิปัสสีปรากฏอยู่ในหินยานปิฎก คือพระไตรภปิฎกภาษาไทยนั้นมีพอสมควร แต่เนื้อกว่าเนื้อหาที่ปรากฏในมหายานปิฎก หรือพระไตรปิฎกพากย์จีน กล่าวถึงพระวิปัสสีพุทธเจ้าในพระสูตรฝ่ายมหายาน ปรากฏในพระสูตรชื่อ  'พุทธบรรหารว่าด้วยสมาธิดั่งมหาสมุทรแห่งการวิปัสสนาการถึงพระพุทธเจ้า ผูกที่ 10 ว่าด้วยพระพุทธเจ้า 7 พระองค์' 《佛說觀佛三昧海經卷十‧念七佛品》 มีความดังนี้ว่า 

“นานมาแล้ว มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสีพุทธเจ้า สูงได้ 60 โยชน์ พระรัศมีของพระองค์กว้างไกลถึง 120 โยชน์ พระวรกายมีลักษณะสีทองเหลือบม่วง 84,000 ลักษณาการ แต่ละลักษณาการมีความประเสริฐ 84,000 ประการ แต่ละความประเสริฐมีแสงสีทอง 84,000 รัศมี แต่ละรัศมีแสงทองมีนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าจำนวนเท่าเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แต่ละนิรมาณกายพระพุทธเจ้ามีแสงโอภาสเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา แต่ละแสงโอภาสมีเทพยดา พระสาวก ภิกษุ โพธิสัตว์จำนวนประมาณมิได้ มีมหาชนสำคัญว่าคอยเป็นอุปัฏฐาก แต่ละคนต่างก็ถือมหารัตนะบุปผา แต่ละบนดอกบุปผามีจินดามณีนับแสนโกฏิร้อยเป็นข่ายอันตระการตา ข่ายจินดามณีอันตระการตาสูงนับแสนศอกโดยสำคัญว่าเป็นแสงสว่างของพระพุทธเจ้า ในเวลานั้นพระพุทธองค์ยิ่งทรงฉายพระรัศมีทวีขึ้น ดั่งโอภาสนับแสนแห่งดวงสุริยาไปต้องขุนเขาสีทองเหลือบม่วง ประกายรัศมีอันงามค่อยนิรมาณกายเป็นพระพุทธะประมาณมิได้ นิรมาณกายแต่ละองค์ของพระพุทธะดั่งสุริยันจันทราสิบโกฏิดวงล้วนปรากฏถ้วนทั่ว"

คำพรรณนานี้แม้จะสั้นกระชับแต่กินสาระของหลักมหายานเอาไว้อย่างเข้มข้น ฝ่ายหินยานและเถรวาทอาจไม่คุ้นกับการบรรยายลักษณะของพระพุทธเจ้าแบบนี้ นั่นคือ ทรงฉายพระรัศมีสะท้อนสรรพสิ่งมากมายดุจจำนวนเท่าเม็ดทรายแม่น้ำคงคา (อุมาว่ามากมายจนนับไม่ถ้วน) การที่ทรงฉายพระรัศมีดังนี้ก็เพื่อประกาศว่าสรรพสิ่งล้วนแต่มีความเป็นพุทธะ และความเป็นพุทธของสรรพสิ่งและสรรพสัตว์เกี่ยวโยงกัน เหมือนดั่งพระรัศมีที่สะท้อนกันไปมาเป็นลำแสงเดียวกันแต่ก็มีความแตกต่างกัน  

เนื้อหาสาระเรื่องพระวิปัสสีที่มากขึ้นปรากฏในพระสูตรชื่อ 'สัปตพุทธสูตร' 《七佛經》มีเนื้อหาที่กระชับ โดยคร่าวๆ ระบุไว้ว่าพระบิดาของพระวิปัสสีคือพระเจ้าพันธุมะ ผู้ปกครองนครพันธุมดี และพระมารดาของพระองค์มีพระนามว่าพันธุมดี ในการประชุมธรรมครั้งแรกหลังการตรัสรู้ของพระองค์นั้น ปรากฏมีพระภิกษุ 62,000 รูปบรรลุอรหันต์ ในการประชุมครั้งที่สอง มีพระภิกษุ 100,000 รูป และในการประชุมครั้งที่สาม มีพระภิกษุ 80,000 รูป พระสาวกผู้เปี่ยมด้วยปัญญาชื่อขันธติสส (สององค์) ส่วนอุปัฏฐากชื่ออโศก เนื้อหานี้มีส่วนตรงกับในหินยานปิฎกในภาษาไทย

แต่เนื้อหาประวัติของพระวิปัสสีที่ยาวมากปรากฏในพระสูตรชื่อ 'วิปัสสยินสูตร《毘婆屍佛經》 เนื้อหานั้นยาวเทียบได้กับประวัติของพระศากยมุนีหรือพระโคดม อันเป็นพระพุทธเจ้าในยุคสมัยของเรา เนื่องจากพระสูตรยาวมากไม่สามารถจะนำเนื้อหามาลงได้ทั้งหมด ดังนั้นผมจะขอทิ้งชื่อพระสูตรในภาษาจีนเอาไว้เป็นหลักเพื่อให้ผู้สนใจได้ไปต่อยอดด้วยตัวเอง

แต่จะขอเผยแพร่เนื้อหาตอนนั้นของพระประวัติในวิปัสสยินสูตรที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงบางส่วน ดังนี้

"ธรรมอันวิเศษที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแสดงไว้ในอดีต ถ้าบุคคลให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมอย่างขยันขันแข็ง ก็จะสามารถกำจัดกิเลส กาม และความประมาทต่างๆ ได้ และไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม” เมื่อได้ฟังดังนี้แล้ว บุคคลแปดหมื่นคนก็มีจิตบริสุทธิ์ เหมือนกับจิตตรัสรู้อันบริสุทธิ์ของพระวิปัสสี ซึ่งทำให้เกิดจิตที่รู้ชอบ จิตที่ปราศจากความสงสัย จิตที่อ่อนโยน จิตที่กรุณา จิตที่กว้างขวาง จิตที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง จิตที่ไร้ขอบเขต และจิตที่บริสุทธิ์ พระองค์ยังทรงแสดงอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ และมรรค พร้อมทั้งทรงสั่งสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติอริยสัจสี่ต่างๆ แปดหมื่นคนเหล่านั้นเข้าใจอริยสัจสี่ เห็นธรรม รู้จักธรรม ได้ธรรมแห่งความแน่วแน่ ธรรมแห่งความพึ่งพิง ธรรมแห่งความไม่เปลี่ยนแปลง ธรรมแห่งความยึดมั่น ธรรมแห่งความไม่หวั่นไหว ธรรมแห่งความไม่ละทิ้ง ธรรมแห่งความไม่ว่างเปล่า เหมือนกับผมขาวที่ปราศจากฝุ่นผง จิตใจของพวกเขาก็เป็นเช่นนี้"

นี่คือพลังอัศจรรย์แห่งการแสดงธรรมของพระวิปัสสีพุทธเจ้า 

เรื่องประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดเอาไว้เป็น 'พุทธานุสสติ' คือการภาวนาแบบหนึ่งซึ่งระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า แต่การภาวนาแบบนี้ไม่ใช่เพียงแค่การระลึกถึงเท่านั้น ในฝ่ายมหายานยังอบรมผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยว่าพระนามของพระพุทธเจ้านั้นมี 'พุทธคุณ' แม้เพียงเอ่ยพระนามหรือได้ยินพระนามของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะได้คุณเอนกอนันต์

อันว่าอานิสงส์แห่งการบูชาพระวิปัสสี การภาวนาพระนาม และแม้แต่แค่ได้ยินพระนามของพระวิปัสสีพุทธเจ้านั้น มีกล่าวไว้ใน 'กษิติครรภโพธิสัตวปูรวปณิธาน ปริเฉทที่ 9 ว่าด้วยการภาวนาพระนามพระพุทธเจ้า' 《地藏菩薩本願經卷中‧稱佛名號品第九》 กล่าวไว้ดังนี้ว่า "ในอดีตมีพระพุทธเจ้าปรากฏพระองค์ในโลก ทรงพระนามว่าวิปัสสี หากชายหรือหญิงคนใดได้ยินพระนามของพระพุทธเจ้าองค์นี้ เขาผู้นั้นก็จะไม่ตกไปสู่อบายภูมิ  และจะไปเกิดในภพภูมิมนุษย์และสวรรค์ตลอดไป รับความสุขอันมหัศจรรย์”

อย่าดูแคลนว่าการภาวนาถึงพระพุทธเจ้าหรือการทำพุทธานุสสติเป็นของง่าย พระเถระเหลียนฉือ (蓮池大師) บูรพาจารย์แห่งนิกายสุขาวดีในสมัยราชวงศ์หมิงของจีนได้กล่าวว่าวิธีการภาวนาถึงพระพุทธเจ้าคือ 'บิดาของพระโพธิสัตว์' (菩薩之父) ซึ่งคำว่า 'บิดาแห่งพระโพธิสัตว์' มาจาก 'อรรถกถาอวตัมฺสกสูตร' 《華嚴疏鈔》 ของพระเถระชิงเหลียงรัฐคุรุ (清涼國師) สมัยราชวงศ์ถังของจีน ซึ่งอ้างถึง 'อวตัมฺสกสูตรบรรยายในปริเฉทว่าด้วยพระไวโรจน' 《華嚴經 • 毗盧遮那品》 ว่า มหาทยุติราชกุมารได้พานพบพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์และทรงถวายเครื่องสักการะ และปฏิบัติพระพุทธธรรมอย่างกว้างขวาง ครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงพบพระปารมิตากุศลเนตรอลังการราชตถาคต ผู้ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว ได้เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ เมื่อเห็นพระตถาคตมีผิวพรรณอันผ่องใส ก็ได้รับอานิสงส์ 10 ประการในทันที" (คำอธิบายของพระเถระต้าอัน 大安法師 ภิกษุชาวจีนในยุคปัจจุบัน)

พระเถระต้าอันยังอธิบายเอาไว้ว่า 

"ในอานิสงส์ ทั้ง 10 ประการนี้ อานิสงส์ประการแรกคือการได้รับสมาธิในการภาวนาถึงพระพุทธเจ้า (เนื่องจากเป็น 'บิดาของพระโพธิสัตว์' จึงเอ่ยถึงก่อน) สมาธิการภาวระลึกถึงพระพุทธองค์ เรียกว่า "วิถีทางเข้าสู่มหาสมุทรแห่งสมบัติอันไร้ขอบเขต" (無邊海藏門) คำว่า 'มหาสมุทร' บ่งบอกถึงความลึกและความกว้างที่ไร้ขอบเขต 'สมบัติ' บ่งบอกถึงการสั่งสมแลประชุมรวมกันเข้าซึ่งคุณความดีทั้งหลาย แสดงว่าการสวดพระนามพระพุทธองค์นี้มีผลบุญเหมือนมหาสมุทร

พระเถระชิงเหลียงรัฐคุรุ ยังได้กล่าวถึงความหมายของสมาธิของการภานาระลึกถึงพระพุทธเจ้าในฐานะ 'บิดาของพระโพธิสัตว์' คำว่า 'บิดา' นี้มีสองความหมาย ประการแรกคือความหมายของ 'อุปายะ' (方便) โดยทั่วไปแล้ว ปัญญาแห่งบารมีเป็นมารดาของพระโพธิสัตว์ และปัญญาแห่งความกรุณาเป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ นี่คือความหมายของคุณแห่ง 'อุปายะ'

ประการที่สองคือความหมายของ 'หน่อเนื้อเชื้อพันธุ์' (親種) ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่แท้จริงที่พ่อแม่ของตนเองสืบทอดมา เมื่อเราภาวนาระลึกถึงพระพุทธเจ้า เราได้หว่านเมล็ดพันธุ์ของการเป็นพระพุทธเจ้า การภาวนาระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นมูลฐานแห่งผล ผลนั้นจะช่วยให้เราตระหนักถึงพระพุทธเจ้าในตัวเอง จึงมีความหมายว่า 'หน่อเนื้อเชื้อพันธุ์'

นี่คึอความลึกซึ่งของการภาวนาถึงพระนามพระพุทธเจ้า ได้ยินพระนามพระพุทธเจ้า และระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ 

อนึ่ง ในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่ออตุละ ทรงเล่าไว้ในคัมภีร์ 'วิปัสสีพุทธวงศ์' ว่า "สมัยนั้น เราเป็นพระยานาคราชผู้มีฤทธิ์มาก มีบุญ ทรงความรุ่งเรือง มีนามชื่อว่าอตุละ ในกาลนั้นเราแวดล้อมด้วยนาคหลายโกฏิเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประโคมดนตรีทิพย์ถวาย ครั้นเข้าเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนายกของโลกแล้ว เรานิมนต์พระองค์แล้ว ได้ถวายตั่งทองอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและแก้วมุกดา ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง แก่พระองค์ผู้เป็นพระธรรมราชา แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับนั่งท่ามกลางสงฆ์แล้ว ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปที่ 91 แต่กัปนี้ ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก"

นี่คือความเกี่ยวข้องระหว่างพระวิปัสสีและพระโคตมพุทธเจ้าในยุคสมัยของเรา

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better

Photo - พระพุทธรูปพระวิปัสสีพุทธเจ้า ที่วัดสือฝอ (石佛寺) เมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน จากภาพถ่ายเก่า เมื่อปี ค.ศ. 1914 โดยคณะชาวฝรั่งเศส ภาพนี้เป็นของพิพิธภัณฑ์ Musée Guimet ในกรุงปารีส รูปพระวิปัสสนีพุทธเจ้าไม่ค่อยพบเห็นกันมากนัก นับเป็นของหายาก และอาจจะเสียหายหรือถูกทำลายไปแล้ว เนื่องจากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมวัดสือฝอถูกทำลายอย่างหนัก 
 

TAGS: #วิสาขบูชา #วิปัสสีพุทธเจ้า #มหายาน