พาดหัวของบทความนี้ไม่ใช่ความรู้สึกของผม แต่เป็นสิ่งที่ผมเห็นจากทัศนะของคนไทยหลายคนในโซเชียลมีเดียที่บอกคล้ายๆ กันเมื่อได้ยินข่าวนักการเมืองไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจที่ไทยส่วงชาวอุยกูร์กลับไปให้จีน
ผมไม่สงสัยเรื่องนี้ เพราะผมทราบดีว่า นักการเมืองเหล่านั้นไม่ได้สนใจชาวอุยกูร์เท่านั้น แต่ก็เอาใจใส่พี่น้องชาวไทยด้วย
ผมไม่อยากจะจะแก้ต่าง เพียงแต่ชอบคิดหลายๆ มุม ที่คิดได้ก็คือ ที่นักการเมืองเหล่านั้นต้องคาดคั้นเอาจากรัฐบาล ก็เพราะกลัวว่าการส่งอุยกูร์ให้จีน โดยที่รัฐบาลตะวันตกคัดค้าน ประเทศเหล่านั้นอาจจะตอบโต้ไทยได้ เช่น ขึ้นภาษีกับไทย
ประเทศเหล่านี้ยังเตือนให้พลเมืองของตนระมัดระวังเวลาเดินทางมาไทย เพราะการส่งตัวชาวอุยกูร์อาจกระตุ้นให้เกิดการก่อการร้ายได้
นักการเมืองไทยเหล่านั้นจึงเห็นว่าการส่งอุยกูร์ไปให้จีนจะส่งผลกระทบ "ต่อคนไทย" แบบนี้จึงเท่ากับเป็นห่วงประชาชนและบ้านเมืองเช่นกัน
ยังไม่นับเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งนักการเมืองเหล่านั้นเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่ผมจะขอละไว้ เพราะทุกวันนี้การอ้างสิทธิมุนษยชน "ไม่ขลัง" อีกต่อไป และประเด็นนี้ถูกชี้นำโดยการเมืองโลกมากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ กรณีอุยกูร์เป็นกรณีบังคับให้ไทยต้องเลือกข้างเท่านั้น
ไม่เลือกจีน ก็เลือกตะวันตก ส่วน "ประเทศที่สาม" ก็ไม่มีอยู่จริง เพราะเป็นประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองโลกเช่นกัน
หากไทยส่งอุยกูร์ให้ตะวันตก จีนก็จะตอบโต้ไทย แม้แต่ส่งให้ประเทศที่สาม จีนก็จะตอบโต้ไทยเช่นกัน
เพราะอะไร? เพราะการส่งอุยกูร์ให้ตะวันตก ชาวอุยกูร์เหล่านี้จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อจีนในทันทีในฐานะผู้เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน แม้ชาติตะวันตกจะอ้างว่ารับอุยกูร์เหล่านี้ไว้ด้วยเหตุผลด้าน "มนุษยธรรม" ก็ตาม แต่แก่นแท้แล้วอุยกูร์เหล่านี้คือ "มีด" ที่ตะวันตกลับคมเอาไว้คอยทิ่มแทงจีน
หากส่งให้ปรเทศที่สาม เช่น ตุรกี ชาวอุยกูร์เหล่านี้ยิ่งเป็นภัยต่อจีนเพราะมีหลักฐานว่าอุยกูร์ในตุรกีเป็นทั้งพวกแบ่งแยกดินแดนและพวกที่เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย นี่ยิ่งเป็นภยันตรายต่อจีนเข้าไปอีก
ดังนั้น หากไทยส่งอุยกูร์ให้ตะวันตก จีนจะมองว่าไทยส่งเสริมให้ตะวันตกใช้ชาวอุยกูร์เพื่อบ่อนทำลายเอกภาพแห่งรัฐของจีน (แต่ต่างกับตะวันตกตรงที่จีนยังไม่เคยแสดงท่าทีจะตอบโต้ไทย)
หากไทยส่งตัวให้จีน ผลก็อย่างที่เห็นคือตะวันตกรุมประณามไทยและหลังจากนี้คงจะหาทางทำอะไรสักอย่างกับไทย ไหนจะเสี่ยงที่จะเจอกับการก่อการร้ายอีก (ซึ่งก็น่าคิดว่าถ้าชาวอุยกูร์หนีอกจากประเทศพวกนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการาาย แล้วพวกก่อการร้ายจะเล่นงานไทยทำไม?) นักการเมืองไทยที่เป็นเดือดเป็นร้อนก็ออกมาวิ่งวุ่นทุกวันเพื่อ "เตือน" (หรือขู่?) ว่าไทยจะต้องพบกับหายนะเป็นแน่
ถ้าพิจารณาดูดีๆ แล้ว จะเห็นว่าไม่ว่าจะส่งตัวให้ฝ่ายใดไทยก็จะต้องรับผลลัพธ์ที่ร้ายแรงพอๆ กัน แต่ไทยกลับเลือกส่งตัวอุยกูร์ให้จีน
รัฐบาลก็คงจะเป็นห่วงประเทศเหมือนกับนักการเมืองเป็นห่วงอุยกูร์นั่นเอง ทั้งสองฝ่ายมีความห่วงเหมือนกัน แต่เหตุผลในการห่วงต่างกัน
นักการเมืองที่ห่วงเรื่องอุยกูร์ มองเห็นประโยชน์จากการเอียงไปทางตะวันตกมากกว่า
ส่วนรัฐบาลไทย มองเห็นประโยชน์จากการเอียงไปทางจีนมากกว่า
ดังนั้น ผมจึงบอกว่ากรณีนี้ได้แต่ "เลือกข้างเท่านั้น" ไม่มีทางประนีประนอมได้ และผู้ที่มีอำนาจสั่งการได้เลือกที่จะเอียงไปทางจีน ไม่ว่าฝ่ายเอียงตะวันตกจะร้องแรกแหกกระเชอแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะ "ไม่มีอำนาจสั่งการ" และรัฐบาลก็จะไม่ยอมอ่อนข้อให้
แม้แต่เสียงของประชาชนในโซเชียลมีเดียลก็ไม่ได้เอียงไปทางตะวันตก แม้จะไม่เอียงไปทางจีนก็ตาม เพราะฟังดูแล้วคนไทยอยากจะปัดปัญหานี้ไปให้พ้นๆ ตัวมากกว่า
การเลือกข้างนี้ ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ แต่ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มันเป็น "เรื่องของความผิดและความถูกต้อง" ให้ได้ เป็นเพราะนักการเมืองเหล่านี้มองโลกแบบ "ขาวดำ" "ดีชั่ว" "มารและเทพ" อันเป็นการเมืองแบบ Liberalism เช่น มองว่ารัสเซียชั่วเพราะรุกรานยูเครน จีนชั่วเพราะคนอุยกูร์หนีออกมา ไทยชั่วเพราะส่งอุยกูร์กลับไปให้จีน
แต่คนที่มีคติการเมืองแบบนี้มองไม่เห็น (หรือทำเป็นมองไม่เห็น) ว่า ที่รัสเซียรุกรานยูเครนเพราะนาโตเล่นการเมืองเชิงรุก? และมองไม่เห็นว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงและขบวนการก่อการร้ายของชาวอุยกูร์
คู่ตรงข้ามของการเมืองแบบ Liberalism คือการเมืองแบบ Realism คือ ประเทศนั้นๆ จะต้องมองผลประโยชน์ส่วนตน (self-interest) และไม่เอาเรื่องค่านิยมต่างๆ นานา มาพิจารณา รวมถึงเรื่องค่านิยมที่เป็นมโนคติและเป็นสัมพัธ (คือต่างคนต่างมีนิยามที่ต่างกัน) เช่น สิทธิมนุษยชน ซึ่งตะวันตกก็มองสิทธิมนุษยชนในแง่มุมหนึ่ง ส่วนจีนและเอเชียก็มีอีกนิยามหนึ่ง
ตอนนี้ Liberalism ที่อุดมคติจ๋ามันล้าสมัยไปแล้วในยุคที่การเมืองโลกแบบ Realism กำลังกลับมาแข็งแกร่งอีก และแต่ละประเทศไมได้มองเรื่อง "ความร่วมมือไร้พรมแดน" อีกต่อไป แต่มองว่าตัวเองจะได้อะไรกับการตัดสินใจแบบนี้มากกว่า
มองในแง่การเมืองเรื่องอำนาจ นักการเมืองฝ่ายที่ห่วงอุยกูร์/เอียงตะวันตกไม่มีอำนาจที่จะสั่งการ นี่ถือเป็นความจนตรอกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับฝ่ายเสรีนิยมทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ตอนนี้แม้แต่พลกำลังในการเถียงทรัมป์ก็ยังไม่มี ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ดู ดูรัฐบาลทรัมป์ไล่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยออกไป
ทรัมป์ก็มีข้ออ้างของเขาเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" ในการทำที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชนแบบนั้น
ไทยก็มีข้ออ้างเช่นกันเรื่อง "ผลประโยชน์ของชาติ" เพียงแต่ไทยถูกประณามเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะไทยใช่ประเทศมหาอำนาจที่ใช้ "หลักกู" ประณามชาติอื่นเมื่อเสียประโยชน์ แต่ตัวเองทำในสิ่งที่ส่งผลต่อชาวโลกมากมายยิ่งกว่า
กรณีของไทยกับอุยกูร์เราจะเห็นว่า สหรัฐฯ ใช้หลัก Liberalism มาด่าไทย แต่พอจะไล่ผู้อพยพออกไปกลับใช้แนวทางแบบ Realism - นี่จึงไม่ใช่หลักการ แต่เป็นหลักกูแท้ๆ
หากดูกรณีของสหรัฐฯ สมัยของทรัมป์เป็นตัวอย่าง เราก็จะตระหนักว่า "มาตรฐานศีลธรรมการเมืองโกไม่มีอยู่จริง"
ดังนั้น ถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่เรื่องถูกและผิด มันเป็นเรื่องของการบริหารอำนาจและจังหวะทางการเมือง
สมมติว่าถ้าวันนี้ นักการเมืองฝ่ายที่ห่วงอุยกูร์/เอียงตะวันตกได้เป็นรัฐบาล แล้วตัดสินใจส่งอุยกูร์ไปให้ตะวันตก ก็คงถูกฝ่ายตรงข้ามประณามว่าเป็น "ทาสรับใช้ตะวันตก" และคงจะถูกวิจาณ์ไม่น้อยว่าทำให้ไทยตกที่นั่งลำบากในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอีกฝ่าย
เหมือนกับที่ตอนนี้รัฐบาลถูกด่าว่า "เป็นข้ารับใช้จีน" นั่นแหละ ไม่ได้ต่างกันเลย
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2023 แสดงให้เห็นผู้คนกำลังแสดงการเต้นรำของชาวอุยกูร์ในยาร์กันต์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (ภาพโดย Pedro PARDO / AFP)