ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงจะลงคะแนนเลือก "คณะเลือกตั้ง" (Electoral college) โดยกระบวนการดังกล่าวมีการอธิบายไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ จำนวนคะแนนเสียงคณะเลือกตั้งที่ใช้โดยแต่ละรัฐจะเท่ากับจำนวนคณะผู้แทนรัฐสภาของรัฐนั้น ซึ่งก็คือจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มี 2 คนเท่ากันทุกรัฐบวกกับจำนวนผู้แทนราษฎรของรัฐนั้น
แต่ละรัฐจำนวน 50 รัฐจะแต่งตั้งคณะเลือกตั้งโดยใช้ขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐนั้น นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 23 ยังให้สิทธิแก่เขตปกครองกลางของโคลัมเบีย (กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) ในการเลือกตั้งผู้เลือกตั้ง 3 คน ดังนั้นจึงมีคณะเลือกตั้งทั่วประเทศรวมเป็น 535 คน
นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 1824 รัฐส่วนใหญ่เลือกคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยอาศัยระบบ Winner-take-all system นั่นคือ สมาชิกคณะเลือกตั้งจากพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ถือว่าได้ที่นั่งของสมาชิกคณะเลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด
การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องได้คะแนนเสียงข้างมาก (270 เสียงขึ้นไป) หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมาก สภาผู้แทนราษฎรจะจัดให้มีการเลือกตั้งชั่วคราวเพื่อเลือกประธานาธิบดี และวุฒิสภาจะจัดให้มีการเลือกตั้งรองประธานาธิบดี
กระบวนการแก้ไขภาวะคะแนนเสียงเท่ากัน มีดังนี้
หากไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมด (ตั้งแต่ปี 1964 เป็นต้นมา 270 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง) ตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 12 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องประชุมทันทีเพื่อเลือกประธานาธิบดี ในกรณีนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีสิทธิ์เลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากผู้สมัคร 3 คนที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด (ในทางปฏิบัติคือผู้สมัครเพียง 2 คนเท่าน้ัน ที่จะมีคะแนนเท่ากันที่ 269-269) คณะผู้แทนแต่ละรัฐจะลงคะแนนเสียงเป็นกลุ่ม โดยแต่ละคณะผู้แทนจะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเพียงเสียงเดียว (เขตโคลัมเบียไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง)
ผู้สมัครที่เข้าชิงในรอบนี้จะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของผู้แทนรัฐ (นั่นคือต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 26 เสียง) จึงจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี คณะผู้แทนจากรัฐทั้งหมดอย่างน้อยสองในสามต้องเข้าร่วมจึงจะลงคะแนนเสียงได้ หากไม่ครบเงื่อนไขดังกล่าว สภาจะต้องลงคะแนนเสียงต่อไปจนกว่าจะเลือกประธานาธิบดีได้ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรเข้ามารับหน้าที่เลือกประธานาธิบดีเพียงสองครั้งเท่านั้น คือ ในปี 1801 และในปี 1825
และในกรณีที่ หากไม่มีผู้สมัครรองประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมด วุฒิสภาจะต้องประชุมเพื่อเลือกรองประธานาธิบดี วุฒิสภาจะเลือกจากผู้สมัคร 2 คนที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากัน ครั้งเดียวที่วุฒิสภาเลือกรองประธานาธิบดีคือในปี 1837
ถ้ายังเลือกประธานาธิบดีไม่ได้ในเวลาที่กำหนดไว้ จะเกิดอะไรขึ้น
ตามมาตรา 3 ของการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 20 ระบุว่าหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เลือกประธานาธิบดีคนใหม่ทันเวลาสำหรับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (เที่ยงวันตามเวลา EST ของวันที่ 20 มกราคม) ว่าที่รองประธานาธิบดีคนใหม่จะกลายเป็นประธานาธิบดีรักษาการจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ มาตรา 3 ยังระบุด้วยว่ารัฐสภาอาจกำหนดโดยกฎหมายว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีรักษาการหากไม่มีประธานาธิบดีคนใหม่หรือรองประธานาธิบดีคนใหม่ทันเวลาสำหรับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
ภายใต้กฎหมายการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี 1947 ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะกลายเป็นประธานาธิบดีรักษาการ จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่หรือวุฒิสภาจะเลือกรองประธานาธิบดีคนใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์ทั้งสองนี้ไม่เคยเกิดขึ้น
Photo - แฮร์ริสและทรัมป์เสมอกัน 3 ต่อ 3 ขณะที่ชาวเมืองดิ๊กซ์วิลล์ นอตช์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเวลาเที่ยงคืนที่ห้องนั่งเล่นของ Tillotson House ที่ Balsams Grand Resort ซึ่งถือเป็นการลงคะแนนเสียงครั้งแรกในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ดิ๊กซ์วิลล์ นอตช์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 มีผู้ลงคะแนนเสียง 6 คนในดิ๊กซ์วิลล์ นอตช์ โดย 4 คนเป็นรีพับลิกัน และอีก 2 คนไม่ประกาศตนว่าเลือกพรรคไหน (ภาพโดย Joseph Prezioso / AFP)