อินโดนีเซียสั่งบล็อคแอปของ Temu เพื่อปกป้องธุรกิจ SMEs ในประเทศ

อินโดนีเซียสั่งบล็อคแอปของ Temu เพื่อปกป้องธุรกิจ SMEs ในประเทศ

สำนักข่าว Tempo ของอินโดนีเซีย รายงานว่า บูดี อารี เซเตียดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารของอินโดนีเซียกล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่า อินโดนีเซียได้ขอให้บริษัท Alphabet ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ Google และบริษัท Apple ทำการบล็อกแอพลิเคชั่น Temu จากร้านค้าแอปพลิเคชัน (application stores) ที่ให้บริการในประเทศ เพื่อไม่ให้สามารถดาวน์โหลดได้ในประเทศอินโดนีเซีย 

คำขอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารของอินโดนีเซีย ดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ของประเทศแต่เนิ่นๆ จากการถูกคลื่นสินค้าราคาถูกที่เสนอขายโดย Temu เข้าถล่มตลาดของประเทศ  

จากรายงานของ Google จากบริษัทการลงทุนของรัฐสิงคโปร์ Temasek Holdings และจาก Bain & Co. คาดว่าอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซียจะขยายตัวเป็นประมาณ 160,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 จาก 62,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารของอินโดนีเซียชี้ว่า รูปแบบธุรกิจของ Temu ซึ่งเชื่อมต่อผู้บริโภคโดยตรงกับโรงงานในจีนเพื่อลดราคาสินค้าอย่างมีนัยสำคัญคือ "การแข่งขันที่ไม่เป็นผลดี (ต่อตลาด)"

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะปิดกั้นการลงทุนใดๆ ขอ Temu ในอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีท่าทีแบบนี้ออกมา แต่ตอนนี้ยังไม่มีชาวอินโดนีเซียคนใดซื้อสินค้าผ่าน Temu

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียบังคับให้ TikTok ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ByteDance จากจีน ต้องปิดบริการอีคอมเมิร์ซที่ให้บริการผ่าน TikTok ในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้วเพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ค้าและผู้ใช้ในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหานี้ TikTok จึงตกลงที่จะเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในหน่วยงานอีคอมเมิร์ซของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี GoTo ในอินโดนีเซีย เพื่อคงอยู่ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่า อินโดนีเซีนมีแนวทางที่แข็งกร้่าวขึ้นในการปกป้องธุรกิจและการลงทุนของประเทศ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย อากุส กูมิวัง  กล่าวว่า จะไม่อนุญาตให้จำหน่าย iPhone 16 ในประเทศอินโดนีเซียเว้นแต่ Apple จะต่ออายุใบรับรองข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นหรือ TKDN และปฏิบัติตามพันธกรณีในการลงทุนในอินโดนีเซีย

จากการรายงานของ SoyaCincau ในการจะได้รับการรับรอง TKDN ผลิตภัณฑ์ของ Apple จะต้องผ่านเกณฑ์ค่า Domestic Component Level (อัตราส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศ) ขั้นต่ำที่ 40% ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหมายความว่าผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone 16 จะต้องผลิตจากส่วนประกอบที่มาจากอินโดนีเซียอย่างน้อย 40%  

Photo by Stefani Reynolds / AFP
 

TAGS: #Temu