เมื่อวันที่ 25 กันยายน สำนักข่าว TASS ของทางการรัสเซีย รายงานว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้วางแนวทางการเปลี่ยนแปลในหลักการนิวเคลียร์ของรัสเซีย
เอกสารดังกล่าวซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า "หลักการพื้นฐานของนโยบายรัฐเกี่ยวกับการยับยั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์" ซึงแม้จะระบุว่าเป็น "การยับยั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์" แต่กลับวางรากฐานแนวทางการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้การตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เป็นมาตรการที่รุนแรงเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศ และยิ่งการที่พัฒนาทางภูมิรัฐศาสตร์ล่าสุดและภัยคุกคามและความเสี่ยงทางการทหารที่เกิดขึ้นใหม่ ยิ่งทำให้รัสเซียจำเป็นต้องมีการทบทวนเอกสารดังกล่าว
ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งรัสเซียเกี่ยวกับประเด็นการยับยั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ปูตินได้สรุปขอบเขตพื้นฐานของเอกสารที่ปรับปรุงใหม่นี้ ได้มีการร่างฉบับใหม่แล้ว แต่ประธานาธิบดียังไม่ได้อนุมัติ
TASS ได้รวบรวมข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงในหลักการใช้นิวเคลียร์
- เอกสารที่แก้ไขมีรายชื่อประเทศและพันธมิตรทางทหารที่อยู่ภายใต้การยับยั้งด้วยนิวเคลียร์ที่กว้างขึ้น
- เพิ่มรายการเพิ่มเติมในรายการภัยคุกคามทางทหาร ซึ่งการทำให้รัสเซียต้องปราบปรามและต้องใช้การยับยั้งด้วยนิวเคลียร์
- การรุกรานรัสเซียโดยประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่มีประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าร่วมหรือสนับสนุน ถูกเสนอให้มองว่าเป็นการโจมตีรัสเซียร่วมกัน
- ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการบินขึ้นของเครื่องบินยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีจำนวนมากไปยังรัสเซีย หรือการยิงขีปนาวุธร่อน โดรน อาวุธความเร็วเหนือเสียงไปยังดินแดนของตน อาจตีความได้ว่าเป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์โดยรัฐบาลรัสเซีย
- รัสเซียสงวนสิทธิ์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกรณีที่มีการรุกรานตนเองและเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตร
- ภัยคุกคามร้ายแรงต่ออำนาจอธิปไตยของรัสเซียด้วยอาวุธธรรมดาจะเพียงพอสำหรับการตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์
จุดยืนของรัสเซีย
- รัสเซียมีทัศนคติที่รับผิดชอบต่อปัญหาอาวุธนิวเคลียร์และพยายามป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์แพร่กระจายไปทั่วโลก
- ไตรภาคีนิวเคลียร์ (Nuclear triad คืออาวุธนิวเคลียร์ 3 ประเภท) ยังคงเป็นเครื่องป้องกันที่สำคัญสำหรับความมั่นคงของรัสเซียและเป็นเครื่องมือในการรักษาสมดุลของโลก
- หลักปฏิบัติเรื่องการใช้นิวเคลียร์ฉบับปัจจุบันได้รับการอนุมัติในเดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งมาแทนที่เอกสารฉบับก่อนหน้าที่คล้ายคลึงกันซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้มาประมาณหนึ่งทศวรรษ
- หลักคำสอนกำลังได้รับการปรับปรุงตามผลงานวิเคราะห์ที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ คณะมนตรีความมั่นคง และหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา
- การปรับปรุงทั้งหมดได้รับการคำนวณ ปรับเทียบ และปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับภัยคุกคามและความท้าทายทางทหารในปัจจุบันที่รัสเซียต้องเผชิญ
ฝ่ายอเมริกันเริ่มตื่นตระหนก
ในเวลาต่อมามีปฏิกิริยาจาก เออร์เนสต์ เจฟฟรีย์ โมนิซ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวอเมริกันและอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาล ปัจจุบัน คือ ประธานร่วมและซีอีโอของ Nuclear Threat Initiative (NTI) ซึ่งป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และมุ่งเน้นที่การลดภัยคุกคามจากนิวเคลียร์และชีวภาพที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ
เออร์เนสต์ เจฟฟรีย์ โมนิซ มีแถลงการณ์ระบุว่า การปรับแนวทางการใช้นิวเคลียร์ขอรัสเซีย "เพิ่มความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ให้สูงขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคมืดมนที่สุดของสงครามเย็น"
เขากล่าวว่า "หลักปฏิบัติที่ปรับปรุงใหม่ยังทำให้เกิดความไม่แน่นอนใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายเกี่ยวกับนโยบายและการตอบสนองทางทหารของรัสเซีย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการคำนวณผิดพลาดและความขัดแย้งที่กว้างขึ้น การใช้ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ของรัสเซียเพื่อข่มขู่ประชาคมโลกไม่ให้สนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของยูเครนในการป้องกันตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้"
พร้อมกับเรียกร้องให้ "ผู้นำโลก รวมถึงผู้ที่รักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลรัสเซีย จะต้องสามัคคีกันเพื่อชี้แจงให้ประธานาธิบดีปูตินทราบอย่างชัดเจนว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ส่งผลร้ายแรง โดยเฉพาะต่อรัสเซียเอง" และบอกว่า "หากรัสเซียหรือประเทศอื่นใดใช้อาวุธนิวเคลียร์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้และจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติทั้งหมด ไม่มีประเทศใดสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ ทุกประเทศต่างมีความสนใจที่จะนำโลกไปสู่เส้นทางที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น"
มันคือคำเตือนไปถึงชาวโลก
ในเวลาต่อมา รัฐบาลรัสเซียกล่าวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ว่าหลักปฏิบัตินิวเคลียร์ฉบับปรับปรุงใหม่ควรได้รับพิจารณาว่าเป็นคำเตือนแก่ชาติตะวันตก
"ต้องถือว่าเป็นสัญญาณเฉพาะ สัญญาณที่เตือนประเทศเหล่านี้ถึงผลที่ตามมาหากพวกเขาเข้าร่วมในการโจมตีประเทศของเราด้วยวิธีการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาวุธนิวเคลียร์" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินกล่าวกับผู้สื่อข่าว
แต่เอาเข้าจริง นี่ไม่มใช่แค่การเตือนไปถึงชาติตะวันตก เพราะหากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ ชาติตะวันตกที่มีนิวเคลียร์ก็ต้องใช้มันตอบโต้ด้วย และหลังจากนั้นก็คงตามมาด้วยสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ
จากนั้นโลกทั้งโลกก็จะพังพินาศไปด้วย