ทุนของจีนกับการปฏิบัติอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย
กระแสวิตกต่อการเข้ามาของทุนจีนและสินค้าจีนในประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหลายประการ เช่น การคิดว่า "ทุนจีน" ทั้งหมดจะเป็น "ทุนจีนเทา" ซึ่งความจริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน และเอาเข้าจริงทั้งสองทุนนั้น "อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้" เพราะทุนจีนเทากำลังถูกทางการจีนกวาดล้างอย่างหนัก โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ซึ่งพวกทุนจีนเทาใช้เป็นฐานที่มั่น
แต่ในไทยมีการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของ "ทุนจีนน้ำดี" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และทุนเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมของไทย และมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ความเข้าใจผิดอีกเรื่องก็คือ ถึงแม้จะเป็น "ทุนจีนน้ำดี" แต่คนไทยบางคนก็ยังเชื่อแบบผิดๆ ว่าทุนเหล่านี้เข้ามาอาศัยเป็นฐานกอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว มีการปล่อยข่าวว่าบริษัทจีนไม่จ้างคนไทย ใช้แต่คนชาติเดียวกันเองหรือไม่ก็คนต่าวด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย และโยกผลกำไรกลับประเทศตัวเองไปทั้งหมด ในทำนอง "ทุนศูนย์เหรียญ"
แต่เรื่องนี้เป็น "มายาคติ" (Myth) หรือความเชื่อผิดๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงของไทย ในฐานะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตช้าที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งทุนนอกยังเริ่มย้ายออกจากประเทศ ทำให้ไทยขาดพลวัตร (Dynamics) หรือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เมื่อทุนจีนถูกตั้งข้อสงสัยแบบผิดๆ จึงทำให้นักลงทุนชาวจีนเริ่มวิตกกับท่าทีของคนไทย แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับนักลงทุนจีนได้เผยกับ The Better ว่าขณะนี้ นักลงทุนจีนเริ่มกังวลกับทัศนคติของคนไทยที่มีต่อการลงทุนกับจีน และคนไทยมีจิตใจที่ต้อนรับนักลงทุนจีนหรือไม่?
ความกังวลนี้คนไทยควรกังวลด้วย เพราะเท่ากับว่า "เรากำลังไล่เงินออกจากกระเป๋าตัวเอง" ในช่วงเวลาที่ไทยกำลังเผชิญกับความขัดสนทางเศรษฐกิจ
ในช่วงเวลานี้เองที่ทีมข่าว The Better ได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมและสัมภาษณ์กระบวนการลงทุนและการทำงานของบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนและไทยที่มีส่วนสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย นั่นคือ SAIC Motor – CP Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SAIC Motor ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของจีน กับบริษัท CP ของไทย และรถยนต์แบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของบริษัทคือ MG
SAIC Motor – CP ถือเป็นตัวอย่างของการลงทุนที่ลงตัวระหว่างทุนจีนและทุนไทย โดยมีการร่วมทุนในลักษณะเกือบครึ่งต่อครึ่ง จากการเสวนากับทีมงานและผู้บริหารของบริษัท ทำให้ทราบว่า การร่วมทุนลักษณะนี้คือโมเดลที่ดีทีสุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
คำถามสำคัญที่ทีมงาน The Better ต้องการความชัดเจนจากบริษัทจีน (แม้ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับไทยด้วยก็ตาม) ก็คือ บริษัทนี้มีการจ้างงานคนไทยมากแค่ไหน และมีอัตราส่วนการจ้างงานเท่าไร? คำถามนี้แม้จะไม่ครอบคลุมบริษัทจีนทุกแห่งในไทย แต่อย่างน้อยก็สามาารถขจัดข้อสงสัยบางประการลงไปได้
ต่อข้อซักถามนี้ SAIC Motor – CP ตอบว่า พนักงานในบริษัทมีคนไทยในสัดส่วนถึง 97.7% ส่วนอัตราส่วนที่เหลือเป็นคนจีน ซึ่งมีจำนวนเพียง 26 คนหรือมีสัดส่วน 2.5% ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานเสียเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีการจ้างงานคนงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเลย
ที่สำคัญก็คือ พนักงานคนไทยเป็นผู้ทำการผลิตทั้งหมด ฝ่ายจีนได้การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้พนักงานคนไทยทำมานานแล้ว และการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอนาคตของยานยนต์ในไทย และที่ SAIC Motor – CP คือโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของไทยอีกด้วย
มีสิ่งเดียวที่ฝ่ายไทยต้องพึ่งพาจีน คือการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า แต่โดยสรุปแล้ว SAIC Motor – CP กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากจีน เพื่อสร้างโรงงานแบตเตอร์รี่ของไทยเอง ที่มีความคุ้มทุน และพร้อมตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
จากการพูดคุยกับทีมงานและผู้บริหารของ SAIC Motor – CP ทำให้ทราบถึงสภาวะการณ์ยานยนต์ในไทยและเพื่อนบ้าน พบว่าทางบริษัทได้จัดจำหน่ายรถยนต์สันดาปในประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ในขณะที่ในไทยมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ BEV และ PHEV และ Hybrid เป็นหลัก
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เนื่องจากความนิยมในรถที่ใช้พลังไฟฟ้าหรือพลังงานลูกผสมเพิ่มขึ้นมาในไทย ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซ) สูง ไทยจึงเข้าสู่ "การปฏิบัติรถยนต์ไฟฟ้า" ได้เร็วกกว่าเพื่อนบ้าน ส่วนเพื่อนบ้านของไทยยังนิยมรถยนต์สันดาป เพราะค่าน้ำมันถูกกว่าไทยนั่นเอง จากการเปิดเผยของ SAIC Motor – CP ทำให้ทราบว่า พัฒนากรของรถยนต์ไฟฟ้าในมาเลเซียและอินโดนีเซียยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะต้นทุนราคาพลังงานถูกนั่นเอง
แต่ไทยมีสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่บทใหม่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และโชคดีที่ไทยไม่ได้เป็นแค่ "ฐานการผลิต" แต่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจากจีนเพื่อเป็นผู้ผลิตโดยตรง
ที่สำคัญคือ เราทราบว่า SAIC Motor มีการลงทุนในอินโดนีเซียและอินเดียด้วย แต่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถทัดเทียมกับความพร้อมของไทยในเรื่อยานยนต์ได้ เพราะไทยมีประสบการณ์สูงในเรื่องนี้ อีกทั้ง SAIC Motor – CP ยังปั้นบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองกับการลงทุนของตน แต่ในขณะเดียวกันบุคคลากรเหล่านี้กลับกลายเป็นที่ต้องการของค่ายรถยนต์อื่นๆ อย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้ถึงความสำเร็จของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาากจีนในไทย
การเป็นผู้ผลิตโดยตรงผ่านการร่วมทุนพร้อมกับรับเทคโนโลยีจากจีนนี่เองที่จะเป็นจุดแข็งของไทยในอนาคต ถามว่าเพราะเหตุใด?
ทีมงาน The Better ได้ซักถามถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เพราะล่าสุดทั้งสองฝ่ายตั้งภาษี EV จากจีนในอัตราที่สูงมาก แต่ในเวลาเดียวกัน หากจีนย้ายฐานการผลิต EV มายังไทย ไทยจะได้ประโยชน์หรือว่าจะเผชิญกับกำแพงภาษีไปด้วย?
ทาง SAIC Motor – CP กล่าวว่า รถยนต์ของบริษัทที่ผลิตในไทย ล้วนแต่ใช้วัสดุในไทย และใช้ส่วนประกอบที่ผลิตโดยซัพพลายเออร์ในไทยทั้งสิ้น โดยมีการร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ๆ ในเมืองไทย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้าง "กระบวนการทำให้เป็นของท้องถิ่น" หรือ Localization เพื่อทำให้รถยนต์แบรนด์ของบริษัทเป็นรถยนต์ที่ผลิตในไทยเต็มรูปแบบ แม้ว่าเจ้าของแบรนด์จะเป็นจีนและทุนร่วมจะมาจากจีน แต่รถเหล่านั้นผลิตที่ไทย โดยคนไทย และใช้เทคโนโลยีในไทยที่ได้รับการถ่ายทอดจากจีน
กระบวนการ Localization นี่เองที่จะทำให้รถยนต์ไทยค่ายจีนสามารถเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้โดยไม่เผชิญกับกำแพงภาษี ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของไทย เพราะสหภาพยุโรปเป็นตลาด EV ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และสหภาพยุโรปยังวางมาตรการ "กำจัด" การใช้รถยนต์สันดาปออกไปจากท้องถนนด้วย
นี่เป็นโอกาสทองของไทยหรือไม่? คำตอบจาก SAIC Motor – CP คือ "บริษัทหลักในจีนจะระดมการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย"
ดังนั้น หากไทยจับตาสถานการณ์โลกให้ดีและวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ไทยก็จะสามารถดึงทุนจีนเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และนำผลผลิตจากทุนจีนร่วมทุนไทยไปส่งออกยังตลาดต่างๆ ได้
พูดกันตามตรงก็คึอ ในอนาคตจีนและสหรัฐฯพร้อมกับชาติตะวันตกอื่นๆ จะทำสงครามการค้ากันรุนแรงขึ้น และทุนจีนจะต้องพยายามหาแหล่งการลงทุนอื่นนอกเหนือจากประเทศตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกัน ทุนเหล่านั้นก็จะลงมาที่ไทย แต่เพราะสถานการณ์ที่บีบบังคับ ทำให้ทุนจีนจะต้องร่วมทนกับทุนไทยเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่เป็นคู่กรณีได้ โมเดลนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ SAIC Motor – CP และมันคือโอกาสทองของไทยอย่างแท้จริง
ในสถานการณ์ที่ win-win แบบนี้ ควรควรจะถนอมเอาไว้ และป้องกันมันจากการถูกทำลายโดยข้อมูลที่ผิดเพี้ยนและกระแสต่อต้านที่ไม่อิงกับข้อเท็จจริง เพราะผู้ได้รับประโยชน์ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่เป็นทุกฝ่ายทั้งเจ้าของเงินทุนกึ่งหนึ่งและเจ้าของสถานที่และทุนอีกกึ่งหนึ่ง
แม้แต่ฝ่ายที่เป็นคู่กรณีกับจีนก็จะเบาใจลง เพราะการกีดกันจีนจะทำให้สินค้าและบริการในประเทศเหล่านั้นแพงขึ้นอย่างมากด้วย แต่อาศัยการร่วมทุนจีน-ไทย จะช่วยแบ่งเขาความตึงเครียดในระบยบเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง
นี่คือข้อเท็จจริงและความจริง ที่คนไทยต้องรู้เรื่อง "ทุนจีน"!
รายงานโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better