Evergreen Shipping ฟาดโบนัสจุก 52 เดือน สวนทาง EVA Air ได้แค่ 3 เดือน สะท้อนธุรกิจขนส่งทางเรือดาวรุ่ง แต่สายการบินรอฟื้น
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของสายการบินอีวีเอ แอร์ (EVA Air) และชิปปิ้งขนส่งทางเรือเอเวอร์กรีน มารีน (Evergreen Marine) ทั้งสองธุรกิจขนส่งนี้มีอยู่ในเครือเดียวกันคือเอเวอร์กรีน กรุ๊ป (Evergreen Group) สัญชาติไต้หวัน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1975 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจขนส่งทางเรือ ทางอากาศ โลจิสติกส์กระจายสินค้า และธุรกิจโรงแรม
สำหรับเอเวอร์กรีน มารีน ถือเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนมูลค่าทางการตลาดมากที่สุดของทั้งเครือ ทั้งยังเป็นบริษัทชิปปิ้งรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีกำไรสุทธิกว่า 9.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้น92% เมื่อเทียบกับเป็นรายปี โดยผลกระกอบการอันแข็งแกร่งได้อานิสงค์จากอัตราค่าระวางสินค้าเรือที่เพิ่มสูงขึ้นช่วงครึ่งแรกของปี 2022 เนื่องจากความตึงตัวด้านห่วงโซ่อุปทานจากปัจจัยสงครามรัสเซียอยู่เครน
ส่งผลให้ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เอเวอร์กรีน มารีน ประกาศมอบโบนัสสิ้นปีให้ให้พนักงานสูงสุด 52 เดือน รายงานข่าวจาก Liberty Times สื่อท้องถิ่นไต้หวันระบุว่า พนักงานเอเวอร์กรีนมารีนจะได้รับโบนัสสิ้นปีเฉลี่ยที่ 10 ถึง 45 เดือนขึ้นอยู่กับตำแหน่ง แต่ก็มีรายงานว่าพนักงานบางรายได้รับโบนัสสูงถึง 52 เดือน โบนัสที่พนักงานเอเวอร์กรีนมารีนได้รับในปีนี้ ถือว่าสูงกว่าโบนัสช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทเคยแจกโบนัสพนักงานสูงสุดที่ 40 เดือน
เซี่ยฮุ่ยเฉวียน (Hsieh Huey-chuan) ประธานใหญ่ของกลุ่มเอเวอร์กรีน มองว่าแนวโน้มธุรกิจชิปปิ้งในปี 2023 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จะโตขึ้นมากน้อยเพียงใดยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสงครามรัสเซียยูเครนว่าจะยืดเยื้อเพียงใด ซึ่งจะส่งผลต่ออุปสงค์ด้านการขนส่งทั่วโลกโดยตรง
- สวนทางธุรกิจสายการบิน
เมื่อเทียบกับธุรกิจขนส่งทางอากาศที่ภายใต้เครือเดียวกันอย่าง อีวีเอ แอร์ พนักงานของสายการบินกลับได้รับโบนัสเพียง 3 เดือน พนักงานบางตำแหน่งได้โบนัสเพียงแค่เดือนเดียว ส่งผลให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาฝ่ายภาคพื้นของสายการบินประท้วงหยุดงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่พอใจต่อจำนวนโบนัสที่ได้รับ ทำให้เทศกาลวันหยุดยาวมีสัมภาระและผู้โดยสารของสายการบินอีวีเอ แอร์ ตกค้างที่สนามบินนานาชาติเถาหยวนเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าเที่ยวบินขนส่งสินค้าและผู้โดยสารต้องเผชิญความล่าช้า แต่สายการบินกลับไม่มีการยกเลิกเที่ยวบินแต่อย่างใด โดยเมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา พนักงานของ Evergreen Airline Services (บริษัทในเครือของ EVA Air) จำนวน150 คนพร้อมใจลาหยุดงานในวันเดียว เพื่อประท้วงโบนัสและค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เที่ยวบินขนส่งสินค้าและผู้โดยสารล่าช้าในวันนั้น ในวันนั้น 79 เที่ยวบินขาเข้าและออกจากสนามบินนานาชาติไทเปเถาหยวน ล่าช้าโดยเฉลี่ย 100 นาที ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารราว 4,100 คน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พนักงานอีวีเอไม่พอใจเรื่องโบนัส ในปีที่แล้วมีรายงานว่าพนักงานกว่า 1 ใน 4 ของบริษัทลาออก เนื่องจากต้องรับภาระงานที่หนักมากขึ้นในช่วงโควิดระบาด ประกอบกับยังไม่มีแนวโน้มที่ไต้หวันจะเปิดประเทศ ทั้งนี้ หากย้อนไปดูผลประกอบการช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา หลายสายการบินทั่วเอเชีย เผชิญปัญหาผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาด
เคลวิน เลา นักวิเคราะห์จาก Daiwa Capital Markets Hong Kong มองว่า แม้ไต้หวันจะเปิดประเทศในเวลาไล่เลี่ยกับญี่ปุ่น แต่แนวโน้มของสายหลักของไต้หวันอย่าง ไชน่า แอร์ไลน์ (China Airlines) และอีวีเอ แอร์ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เนื่องจากทั้งสองสายการบินยังต้องพึ่งพาเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวนมาก ดังนั้นรายได้จากตั๋วโดยสารจึงฟื้นตัวได้ช้ากว่าสายการบินของญี่ปุ่น ซึ่งมีเส้นทางบินระหว่างประเทศและเส้นทางบินในประเทศจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ฮ่องกงมองว่า ในปี 2023 อาจเป็นปีที่แนวโน้มอุตสาหกรรมสายการบินจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หลังจากที่จีนประกาศปลดล็อกการเข้าประเทศ 8 มกราคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการเดินทางทางอากาศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะมีกำไรสุทธิ 4.7 พันล้านดอลลาร์หรือ 1.6 แสนล้านบาท ในปี 2023 คาดว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 4 พันล้านคนที่พร้อมเดินทางในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจสายการบินที่จะเร่งการฟื้นตัวกลับมา หลังชะงักงันมานานกว่า 3 ปี
ภาพ : AFP