'สีหนุวิลล์' เป็นชื่อฝรั่งที่ตั้งวไว้ให้ฝรั่งเรียก ส่วนคนเขมรเรียกว่า กรุงพระสีหนุ แปลว่าเมืองใหญ่ (กรุง) ของพระสีหนุ คืออดีตกษัตริย์ชองกัมพูชา ตั้งเพื่อเป็นเกียรติกับพระสีหนุ
แต่ชื่อที่คนทั่วไปเรียกคือ กังปงโสม หรือ กำปงซอม คำว่า โสมหรือซอม (សោម) มีคนแปลว่า พระจันทร์ เพราะในภาษาสันสกฤตคำว่าโสมแปลว่าพระจันทร์
แต่ "ซอม" ยังมีความหมายอีกอย่าง คือ หวายเดาใหญ่ (Korthalsia laciniosa) เป็นไม้ป่าที่คนเขมรเอาทำประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเอาไม้มาร้อยเป็นตับมุงหลังคาหรือฝาบ้าน เส้นหวายเอามาทำหัตถกรรม ส่วนหน่อหวายนี้ก็เอามาทำอาหารได้ หวายนี้มักจะโตในป่าใกล้ๆ กับชายฝั่ง
คำว่าโสมในสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของเจ้าขุนมูลนาย มันดูไม่เข้ากับชื่อภูมิบ้านภูมิเมืองแบบบ้านๆ เพราะคำว่า กำปง (កំពង់) แปลว่าท่าเรือ ซึ่งเป็นคำร่วมตระกูลเดียวกับภาษามลายูว่า กำปง แต่มลายูให้ความหมายว่าหมู่บ้าน แต่เอาจริงๆ แล้วหมู่บ้านก็คือชุมชน ชุมชนต้องมีท่าขึ้นและลงเรือ
ดังนั้นกำปงโสมน่าจะแปลว่า "ท่าเรือของชุมชนหวายเดาใหญ่"
กะพงโสม เมืองที่ญวนและไทยมารบกัน
กำปงโสมไม่ใช่เมืองที่เพิ่งเกิด แต่อยู่ในประวัติศาสตร์เนิ่นนาน ในบันทึกประวัติศาสตร์ของไทยก็เอ่ยถึงเมืองนี้ในชื่อต่างๆ กัน เช่น กระพงโสม กะพงโสม เพราะไทยออกเสียงไม่ถนัด มักจะเรียกเมืองกำปงต่างๆ ของกัมพูชาเป็น "กะพง" กันหมด เช่น กะพงโสม กะพงชนัง (กำปงชนัง) บางครั้งไทยเรียก กะปงโสม กำพงโสม ก็มี
สยามหรือไทยได้ปกครองกัมพูชาเกือบจะเบ็ดเสร็จมาต้ังแต่สมัยธนบุรี ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้ให้พระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพยกทัพเรือตีเมืองกระพงโสม หลังจากตีกระพงโสมได้ก็เข้าตีเมืองกำปอด ทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญของกัมพูชา ในเวลาเดียวกันนักองครามาธิบดี ผู้ปกครองกัมพูชาก็มาอ้อนน้อมต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงยกทัพมาตีด้วยพระองค์เอง พระองค์ก็ให้ปกครองกัมพูชาเหมือนเดิม
ในยุคที่สยามหรือไทยปกครองกัมพูชา ได้แแบ่งกัมพูชาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกปกครองโดยส่วนกลางที่กรุงเทพมหานครร่วมกับตระกูลอภัยวงศ์ คือดินแดนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ หรือส่วนเหนือ ส่วนเขมรที่เหลือ หรือตอนใต้ เรียกว่า "เขมรใหญ่" หรือ "เขมรละแวก" ปกครองโดยกษัตริย์กัมพูชา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกรุงเทพฯ และต้องนอบน้อมต่ออำนาจของกรุงเทพฯ แต่กษัตริย์กัมพูชามีอำนาจการตัดสินใจในเขตแดนของตน กัมปงโสมก็รวมอยู่ในนั้น
แต่ต่อมา กัมปงโสมเป็นเมืองสำคัญในสงครามสยามและด่ายเหวียด หรือเวียดนาม หรือสงครามอานัมสยามยุทธ์ ซึ่งเป็นสงครามที่สยามและเวียดนามแย่งชิงอำนาจการปกครองเหนือกัมพูชา เมื่อเวียดนามเข้ามาปกครองกัมพูชาตอนใต้ และจัดกองทัพในเมืองต่างๆ รวมถึงกำปงโสม
ต่อแต่มาชาวเขมรลุกฮือต่อต้านเวียดนาม และมีการไล่ฆ่าคนเวียดนามในเมืองต่างๆ รวมถึงกำปงโสม แล้วต่อมาชาวเขมรและสยามยึดเมืองนี้ได้ เมืองนี้ถูกใช้เป็นเมืองท่าในการขนส่งยุทธปัจจัยของกองทัพสยาม และเป็นที่อพยพผู้คนจากกัมพูชามาขึ้นเรือที่นี่แล้วเดินทางไปยังจันทบุรี อันเป็นท่าเรือสำคัญของสยาม
แต่ในช่วงสงครามนั้น บ้านเมืองร้างไป กำปงโสมมีสภาพเหมือนป่าเพราะภัยสงคราม อีกทั้งผู้คนในเมืองเขมรต่างก็อดอยากเพราะภัยสงคราม ทำให้กองทัพไทยที่นำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชาต้องไปซื้อข้าวถึงเมืองลาวมากินมาใช้ในเขมร ร้อนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงพระราชทานข้าวลงไปช่วย แต่ก็ทรงไม่พอพระทัยแม่ทัพนายกองของสยามที่รบไม่ชนะเวียดนามเด็ดขาด ตรัสว่า "ครั้งนี้จะให้ไปส่งข้าวที่เมืองกำปอด ไปมายากเกลือกจะไม่เป็นการงาน ทรงเข็ดสติปัญญานายทัพนายกองเสียแล้ว ถ้าได้ส่งแต่เพียงเมืองกะพงโสมค่อยไกลๆ กลิ่นอุจจาระปัสสาวะญวนเข้ามา พอจะกดขี่ให้เอาข้าวเกลือออกไปส่ง ลองดูตามบุญตามกรรมอีกสักครั้งหนึ่ง"
หมายความว่าแม้ว่าจะทรงจะพระราชทานเสบียงอาหารไปให้ แต่ทรงกังวลว่าถ้าจะส่งลงไปถึงท่าเรือเมืองกำปอดที่อยู่ใต้ลงไปใกล้กับเวียดนาม อาจจะเสี่ยงเกินไป แต่ถ้าจะส่งไปกำปงโศมยังพอไกลจาก "กลิ่นอุจจาระปัสสาวะญวน" หรือการรบกวนของพวกเวียดนาม นั่นแสดงว่าในเวลานั้นสยามควบคุมกำปงโสมได้
กังปงโสมเป็นเมืองท่าชื่อสีหนุวิลล์
ในเวลาต่อมา เมืองเขมรใหญ่พ้นจากสถานะเมืองประเทศราชของไทย กลายเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเมือเขมรตอนบนตกเป็นของฝรั่งเศสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้น กำปงโสมก็เป็นเมืองท่าไปตามปกติ แต่ไม่ได้มีความสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์ของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อีก เนื่องจากท่าเรือสำคัญของ "อินโดจีนฝรั่งเศส" อยู่ในเขตเวียดนาม และการเดินทางขนส่งเน้นเส้นทางแม่น้ำโขง (ที่ผ่านใจกลางกัมพูชา) ออกไปที่เมืองท่าของเวียดนาม
แม้ว่าจะเป็นท่าเรือได้ แต่สินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มาที่กำปงโสมแต่ผ่านไปที่กำปอดที่อยู่ด้านใต้ลงไป กำปงโสมจึงเป็นเมืองที่ถูกลืมเป็นเมืองท่าแบบบ้านๆ แถมยังมีแต่ป่าดงแน่นขนัด จนกระทั่งถึงปี 1960 โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วในปี 1953 เจ้าสีหนุซึ่งสละตำแหน่งกษัตริย์ลงมาเล่นการเมืองและผลักดันนโยบาย "สังคมราษฎร์นิยม" คือแนวคิดสังคมนิยมและชาตินิยม ก็ผลักดันท่าเรือใหม่ที่กำปงโสม และปั้นให้เป็นปากทางออกของกัมพูชาสู่โลกภายนอก
ท่าเรือมีแล้วและยังทางหลวงเชื่อมต่อที่สร้างในปี 1955 โยงกัมปงโสมเข้ากับพนมเปญ ในเวลาเดียวกันก็มีการสร้างฐานทัพเรือเรียมที่อยู่ใต้ลงไประหว่างกำปงโสมกับกำปอด และเมื่อเมืองท่าเจริญรุ่งเรือง อุตสาหกรรมก็ตามมา เช่น ปูนซีเมนต์ โรงหมักเบียร์ (ซึ่งยังคงมีโรงหมักระดับชาติอยู่ที่นี่) และ "อุตสาหกรรมค้าเนื้อสด" นั่นคือการค้าประเวณีที่เฟื่องฟูเพราะการเป็นท่าเรือ เช่นเดียวกับท่าเรือทั่วโลก
กำปงโสม ยังมีข้อได้เปรียบกว่าเมืองท่าอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้มีแค่คลังสินค้าและโรงงาน แต่ยังมีชายหาดที่สวยงามตามธรรมชาติที่ยาวเหยียด ทรายค่อนข้างละเอียดและสะอาด และพื้นที่รอบๆ ยังมีป่าเขาลำเนาไพรและป่าโกงกงริมทะเลที่กว้างใหญ่ เหมือนสวรรค์ของการพักผ่อนดีๆ นี่เอง
แต่กำปงโสมกลายเป็นจุดปะทะสำคัญเมื่อกัมพูชาเกิดสงครามกลางเมือง เพราะที่นี่ไม่ใช่แค่ท่าเรือ แต่ยังเป็นที่รับส่งและคลังน้ำมัน ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำคัญ ทั้งเขมรฝ่ายต่างๆ และพวกอเมริกันต่างก็ต้องการยึดครองที่นี่ โดยเฉพาะพวกอเมริกันจำเป็นต้องใช้กำปงโสมเป็นท่าเรือยุทธปัจจัย เพราะในเวลานั้นนอกจากจะมีสงครามกลางเมืองกัมพูชาแล้ว ยังมีสงครามเวียดนามที่ดำเนินไปพร้อมๆ กัน
แต่หลังจากผ่านความวุ่นวายหลายปี ในที่สุดที่ฝ่ายเขมรแดงก็เข้าปกครองส่วนใหญ่ในกัมพูชาได้ รวมถึงที่กำปงโสม โดยการตัดเส้นทางเชื่อมกำปงโสมกับพนมเปญลงเสียก่อน จากนั้นค่อยๆ ยกทัพไปยึดพนมเปญ แต่ในยุคเขมรแดง กำปงถูกทิ้งระเบิดปูพรมไปด้วยอยู่ช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีมายาเกวซ (Mayaguez incident) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรือ SS Mayaguez ของสหรัฐฯ ถูกเขมรแดงโจมตีระหว่างเดินทางมายังไทยที่เกาะตาง ที่นอกชายฝั่งกำปงโสม ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องระดมนาวิกโยธินเพื่อชิงเรือและลูกรเอคืน พร้อมกับส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดกำปงโสม เพื่อป้องกันไม่ให้เขมรแดงเสริมกำลังทัพมาที่เกาะตางได้
เนื่องจากเขมรแดงได้รับความช่วยเหลือจากจีน จีนจึงส่งทีมงานมาช่วยพัฒนากำปงโสมในช่วงนี้ และนี่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนมีอิทธิพลเหนือกำปงโสม อย่างไรก็ตาม เพราะเขมรแดงใช้แนวทางกำจัดศัตรูการปฏิวัติและปัญญาชน ทำให้การพัฒนาเดินหน้าไม่ได้ การพัฒนากำปงโสมจึงเป็นอัมพาตไป หลังจากที่เวียดนามรุกรานกัมพูชา กำปงโสมก็กลายเป็นสมรถูมิอยู่พักหนึ่ง เพราะเวียดนามพยายามยึดจากเขมรแดง พอยึดได้ก็เสียไปอีก จนกระทั่งควบคุมท่าเรือสำคัญแห่งนี้ได้ในที่สุด
สวรรค์แดนกัญชาและจีนกลับมาอีกครั้ง
หลังจากที่เวียดนามถอนทัพออกไปและการเข้ามาของสหประชาชาติ ก็ถึงเวลาของการฟื้นฟูกำปงโสม แต่เมืองนี้ก็ยังไม่ใช่ท่าเรือในสายตาของการค้าโลก มันยังคงเป็นแค่ท่าเรือบ้านๆ เมืองบ้านๆ ท่ามกลางป่าเขา และอาคารที่ปรักหักพังจากยุคก่อน หลังจากกัมพูชาปกครองตนเองได้อีกครั้ง ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหนุ่ม ฮุน เซน ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนชื่อ "กำปงโสม" เป็น "สีหนุวิลล์" เพื่อเป็นเกียรติแก่ "วีรกษัตริย์" คือเจ้านโรดม สีหนุ
สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย คือชายหาดที่สวยงามของสีหนุวิลล์ ในขณะที่ท่าเรือของสีหนุวิลล์ก็ยังทำหน้าที่ของมันไป นักท่องเที่ยวจากภายนอกก็เริ่มเข้ามา ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และต้นทศวรรษที่ 2000 ในเมืองเริ่มมีโรงแรมและเกสต์เฮาส์แบบง่ายๆ เหมือนบรรยากาศแบบเมืองท่องเที่ยวระดับรองๆ ในไทย ในที่ริมชายหาดบางแห่งมีแค่ร้านอาหารที่แบ่งพื้นที่เป็นเกสต์เฮาส์ง่ายๆ แบบเพิงพัก บางจุดมีเพียงเก้าอี้ชายหาดกลางเก่ากลางใหม่ ชายหาดบางแห่งไม่มีผู้คนเลยด้วยซ้ำ
ความบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมาเที่ยวที่นี่ บางคนเดินทางต่อไปยังหมู่เกาะต่าางๆ นอกชายฝั่งซึ่งมีชายหาดที่ขาวสะอาดแต่ไร้ผู้คน เช่น เกาะรง บางเกาะเคยเป็นฐานทัพมาก่อน เช่นเกาะตาง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นขอเขมรแดง แต้กฒีชายหาดที่ไม่ธรรมดา
สิ่งที่ไม่ธรรมดาอีกอย่างคือ "กัญชา" นักท่องเที่ยวไม่ได้มาแค่อาบแดดและเล่นน้ำ แต่ตามๆ กันมาเพื่อตามหากกัญชาคุณภาพเยี่ยมของสีหนุวิลล์ พวกเขาจะซื้อจากคนท้องถิ่นที่เสนอขายกันแบบซึ่งๆ หน้าและสูบมันที่ชายหาดหรือในผับริมทะเลโดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องใด เพราะในเวลานั้น สีหนุวิลล์คือสวรรค์ของแบคแพ็คเกอร์อย่างแท้จริง
แต่ทุกสิ่งเปลี่ยนไปในเวลาอันรวดเร็วเมื่อถึงทศวรรษที่ 2010 กลางๆ เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลฮุน เซน เริ่มเปิดโอกาสให้ทุนจีนเข้ามาพัฒนาเมือง ในเวลาไม่นาน สีหนุวิลล์ ก็เปบี่ยนจากเมืองเงียบๆ และไม่มีตึกสูง กลายเป็นเมืองโหวกเหวกโวยวายและมีแต่ตึกระฟ้าเต็มไปหมด คนท้องถิ่นเริ่มหายหน้าไป คนจีนเริ่มเข้ามาแทนที่ ชายหาดที่เคยมีแต่บ้านหลังคาเพิง ตอนนี้กลายเป็นโรงแรมสูงหลายชั้น และชายหาดที่ไม่เคยมีคน ก็เต็มไปด้วย "คนจีน"
ภาพที่เห็นได้ชัดคือ ในวันที่สีหนุวิลล์ยังเป็นเมืองชายหาดเงียบๆ และท่าเรือหงอยๆ ในปี 2008 มีเงินลงทุนจากจีนมายังกัมพูชาแค่ 76 ล้านดอลลาร์ แม้เงินจีนจะเพิ่มทุกปี แต่ไม่ได้ก้าวกระโดดอะไร และสีหนุวิลล์ก็ยังเป็นสวรรค์ของนักเดินทางเหมือนเดิม
จนกระทั่ง สีจิ้นผิง ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนในปี 2012 และผลักดันโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ในปี 2013 เงินลงทุนในกัมพูชาของจีนก็ก้าวกระโดดจาก 286.8 ในปี 2013 ล้านดอลลาร์เป็น 553.9 ล้านดอลลาร์ ในปี 2014 หรือเพิ่มกว่าเท่าตัว หลังจากนั้นก็เพิ่มในอัตรานั้นตลอดมา
จนกระทั่งในปี 2017 ภาพของเมืองเดิมๆ ก็หมดสิ้นลง พร้อมๆ กับเมืองที่โตขึ้นและเต็มไปด้วยคนจีน ทั้งจีนขาวจีนดำและจีนเทา ทำให้สีหนุวิลล์กลายเป็นฐานที่มั่นหลักของธุรกิจสีเทาทั้งการพนันทั้งบนดินและออนไลน์ผิดกฎหมายและธุรกิจสแกมเมอร์ ซึ่งเมืองนี้ก็ยังคงเป็นซ่องโจรธุรกิจสีเทาอยู่เช่นเดิม
แต่เบื้องหลังโลกสีเทาของสีหนุวิลล์นั้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องคุยกันยาวๆ
Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP