ทำไมพรรคการเมืองประชานิยม ถึงชอบเป็นศัตรูกับแบงก์ชาติ?

ทำไมพรรคการเมืองประชานิยม ถึงชอบเป็นศัตรูกับแบงก์ชาติ?

'ประชานิยม' คืออะไรกันแน่?
ดูเหมือนว่าไทยประเทศไทย คำว่า 'ประชานิยม' จะโยงกับพรรคการเมืองภายใต้อิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร อย่างแยกไม่ออก ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยล้วนแต่ถูกเรียกว่า 'รัฐบาลประชานิยม' โดยมีภาพลักษณ์ของการแจกลด แลก แจก แถม "เพื่อประชาชน" โดยไม่สนใจเรื่องวินัยทางการคลังมากนัก

แต่ความหมายของ 'ประชานิยม' (Populism) ในทางการเมือง ไม่ใช่แค่การใช้เงินเพื่อซื้อใจประชาชน แต่หมายถึงการอ้างว่าพรรคการเมืองนั้น "ทำเพื่อประชาชน" หรือ "เป็นพวกเดียวกับประชาชน" การอ้างแบบนี้จะต้องมีการคู่ตรงข้ามหรือ 'ศัตรู' ขึ้นมา แล้วทำให้เกิดกระแสในหมู่ประชาชนว่าคู่ตรงข้ามนั้นเป็นผู้ที่ขัดขวางความก้าวหน้าของประชาชน หรือนัยหนึ่งคือขัดขวางรัฐบาลประชานิยม

ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองประชานิยมสร้าง 'ศัตรูของประชาชน' เพื่อที่จะให้ประชาชนที่เป้นคนเดินดินธรรมดามีความรู้สึกร่วมด้วย ศัตรูนั้นจะต้องถูกสร้างภาพให้เป็นพวก 'ชนชั้นสูง' หรือ 'the elite' ที่อยู่คนละโลกกับ 'the people' ในการเคลื่อนไหวเพื่อทำลายเป้าหมาย พรรคประชานิยมจึงมักใช้วาทกรรมที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาแตกต่างจากชนชั้นสูง (ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีฐานะสูงส่งจริงๆ แต่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาให้เกิดความเข้าใจผิด) 

ตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองประชานิยม ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน/เงินได้ง่ายๆ เพื่อที่ตัวเองจะได้รับคะแนนนิยม ก็ไปกดดันให้ธนาคารชาติลดดอกเบี้ย แต่เนื่องจากธนาคารชาติเห็นว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้ประชาชนกู้เงินได้ง่ายขึ้นโดยที่กำลังการชำระหนี้มีน้อย ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนมหาศาล และอาจทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ ดังนั้นธนาคารชาติจึงปฏิเสธที่จะลดดอกเบี้ย ทำให้พรรคการเมืองประชานิยมไม่พอใจ และปลุกเร้าประชาชนว่าธนาคารชาติ เป็นพวกอยู่บนหอคอยงาช้าง (the elite) ไม่เคยรับรู้ปัญหาปากท้องประชาชน 

ประชานิยมยังมีอีกความหมายในทางเศรษฐกิจ คือหมายถึงพรรค/รัฐบาลที่เน้นแจกเงินให้ประชาชนโดยไม่พิจารณาความเหมาะสมของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ หรือ "ไม่ได้ให้ความสำคัญของปัญหาการขาดดุลและเงินเฟ้อ" (ดูอ้างอิง) เพียงเพื่อจะต้องการ "ซื้อใจประชาชน" ผลก็คือ ปริมาณเงินในระบบมีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง เช่น ในอเมริกาใต้ หรืออาจถึงขั้น 'อภิมหาเงินเฟ้อ' (Hyperinflation) ในบางประเทศ

ทำไมประชาชนนิยมงัดข้อแบงก์ชาติ
บทความทางวิชาการชิ้นหนึ่งทำการศึกษา 'การแทรกแซง' ของพรรคการเมือง/รัฐบาลประชานิยมต่ออิสรภาพของธนาคารชาติ นั่นคือบทความเรื่อง Populism and De Facto Central Bank Independence ตีพิมพ์ในวารสาร Comparative political studies เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 โดยทำการวิเคราะห์งานวิเคราะห์รายงานข่าวและดาต้าในประเด็นนี้โดยใช้ AI

บทความนี้ชี้ว่า "ในขณะที่รัฐบาลรูปแบบต่างๆ พยายามโน้มน้าวธนาคารกลางของตน แต่แรงกดดันจากสาธารณะมีแนวโน้มมากกว่ามากภายใต้ระบอบประชานิยม นอกจากนี้ ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจยังเผยให้เห็นว่าเมื่อเผชิญกับรัฐบาลประชานิยมที่เอาจริงเอาจัง ธนาคารกลางมักจะมียอมอ่อน (ต่อแรงกดดัน) มากกว่าที่สถานะทางกฎหมายที่กำหนด (อำนาจหน้าที่ของธนาคารกลาง) ไว้มาก"

การกดดันธนาคารกลางมักจะเน้นที่เรื่องอัตราดอกเบี้ย "อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากตลาดการเงินสามารถสกัดไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลางของตนได้" นั่นหมายความว่า แม้รัฐบาลประชานิยมจะกดดันธนาคารชาติแค่ไหน แต่ถ้าตลาดทุนและนักลงทุนไม่เอาด้วย การกดดันก็อาจจะล้มเหลวได้เหมือนกัน 

งานวิจัยนี้ยกตัวอย่างของประเทศไทยในเดือนเมษายน 2556 แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดจากการที่ผู้นำประชานิยมข่มขู่ที่จะปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นรแท้จริงแล้วมีอิสรภาพมากกว่าธนาคารกลางของสวีเดน ธนาคารแห่งชาติของเดนมาร์ก หรือธนาคารกลางของเนเธอร์แลนด์เสียอีก 

แต่ "แม้ (แบงก์ชาติ) จะมีสถานะทางกฎหมายถึงขนาดนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้น กิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นประชานิยม กล่าวกับบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 19 เมษายนว่า ด้วยความไม่พอใจกับระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน เขาจึง "คิดที่จะเปลี่ยนแปลงผู้ว่าการ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) คือ (ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ทุกวัน” 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชี้ว่าถึงรัฐบาลประชานิยมของไทยต้องการจำปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ แต่พรรคฝ่ายค้านตอบโต้ด้วยการยกเอานักลงทุนมาขู่ "ขณะที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณ์ จาติกวณิช เตือนว่า การประกาศดังกล่าวอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน" และปรากฏว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ก็ดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีเต็ม

แรงประชานิยมหรือจะสู้พลังนักลงทุน
งานวิจัยสรุปว่า แม้ว่ารัฐบาลประชานิยมจะกดดันธนาคารชาติได้สำเร็จ "แต่แค่ตลาดต่างประเทศเหลือบตามองเพียงชั่วขณะก็สามารถทำให้ประชานิยมได้กลับมามีวินัยได้" นั่นหมายความว่า ถ้าตลาดทุนต่างประเทศเริ่มตะหงิดๆ กับการกดดันธนาคารชาติ แรงกดดันก็จะสวิงกลับไปที่รัฐบาลประชานิยม ทำให้ฝ่ายประชานิยมกลับมา "มีวินัย" หรืออยู่กับร่องกับรอยโดยไม่แทรกแซงธนาคารกลาง

ถึงแม้ว่างานวิจัยยอมรับว่า "แม้ว่าเราจะพบว่ารัฐบาลดูเหมือนจะจับตาดูตลาดการเงิน แต่รายงานของเราไม่ได้ตรวจสอบว่าตลาดเหล่านี้มีปฏิกิริยาอย่างไร" กระนั้นก็ตาม "เราพบว่าวินัยของตลาดการเงินมีความสำคัญ โดยช่วยให้นายธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นอิสระได้ แม้ว่าพื้นฐานทางกฎหมายจะไม่ได้รับความเคารพก็ตาม" 

รายงานพิเศษโดย ทีมข่าวต่างประเทศ The Better 

TAGS: #แพทองธาร #ชินวัตร #ธนาคารแห่งประเทศไทย