ผมแทบไม่อยาจะเชื่อหูตัวเองตอนที่กำลังอยู่ในรถแล้วได้ยินปราศรัยของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่บอกในงาน "10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10" ว่า
"ตอนนี้ค่ะ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาลค่ะ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจค่ะ เพราะว่านโยบายทางด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด และก็ทำให้ประเทศของเรามีหนี้ที่สูงมากขึ้นและก็สูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมที่จะเข้าใจ และก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลยค่ะ"
ถ้าไม่ติดที่ว่านั่งอยู่บนแท็กซี่ ผมยกเท้าก่ายหน้าผากไปแล้ว
ในคำพูดของ แพทองธาร ไม่น่าจะมีอะไรที่ถูกต้องเลยสักอย่างเดียว ผมจะไล่เป็นข้อๆ ตามนี้
"กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาลค่ะ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจค่ะ"
แพทองธาร รู้หรือไม่ครับว่าธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไหนๆ ในโลกต้องตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นอิสระจากรัฐบาล แม้ว่ากระบวนการตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางอาจจะทำโดยผู้นำรัฐบาล แต่จะต้องผ่านการรับรองโดยรัฐสภาเสียก่อน ก็เพื่อความโปร่งใส ไม่ให้รัฐบาลควบคุมธนาคารกลางได้
ทำไมถึงไม่ให้รัฐบาลควบคุม? ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้รัฐบาลเอา "เงินเก็บของประเทศ" ไปใช้สุรุ่ยสุร่าย เช่น นึกอยากจะแจกเงินโดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่จริงๆ อำพรางเจตนาเพื่อการหาเสียง เมื่อหาเงินไม่ได้ ก็จะไปรีดไถเอามาจาก "เงินเก็บของคนทั้งประเทศ" ที่ควบคุมไว้โดยแบงก์ชาติ
สำหรับคนปกติก็น่าจะทราบนะครับ ถ้าไม่มีเรื่องสำคัญขนาดบ้านจะถูกยึดหรือคนในครอบครัวจะเป็นจะตาย เงินออมของเราไม่ควรถูกนำมาใช้ตามใจชอบเด็ดขาด
เงินเก็บของบ้านเมืองก็เช่นกัน เงินเหล่านี้มีไว้ "ทุนสำรอง" (Reserve ประเภทต่างๆ เช่นเงินตราต่างประเทศหรือทองคำ) เพื่อรักษาดุลอัตราแลกเปลี่ยนและคอยค้ำเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เอาไว้ เวลาธนาคารจะล้ม (หมายถึงเงินเก็บของประชาชนจะหายไปด้วย) เงินเก็บของแบงก์ชาติก็จะถูกนำออกมาช่วยหนุน ไม่ให้เกิดอาการ Run หรือพังกันเป็นแถบๆ
นี่ผมอธิบายแบบบ้านๆ นะครับ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของการขาดความรู้ระดับบ้านๆ จริงๆ
รู้หรือไม่ครับ ธนาคารกลางแห่งแรกๆ ของโลกการเงินยุคใหม่คือ ธนาคารกลางแห่งประเทศสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve หรือ Fed ชื่อของมันก็บอกชัดอยู่แล้วครับว่าเป็น Reserve หรือที่ออมเงินเงินสำรอง
สำรองเงินจากใคร? ก็สำรองเงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นั่นเอง เพราะก่อนที่จะมี Fed ธนาคารในสหรัฐฯ มักจะไม่สำรองเงินอย่างเป็นระบบ พอมีเงินฝากเข้ามาก็เอาไปลงทุนกันเป็นทอดๆ ซึ่งก็คือการไม่เก็บเงินสำรองเพื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินนั่นเอง
ที่ทำกันแบบนี้เพราะความละโมบล้วนๆ เนื่องจากในยุคนั้นสหรัฐฯ และโลกตะวันตกเพิ่งจะรุ่งเรืองจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและทุนนิยมเริ่มจะเบ่งบาน คนเลยหลงทุนนิยม และลงทุนแบบหน้ามืดตามัว
แต่การลงทุนมีความเสี่ยง เพราะหลายอย่างอิงกับการเดิมพันโดยคาดเดาและการก่อหนี้เพราะความเชื่อ (อันเป็นที่มาของคำว่า "สินเชื่อ") ผลก็คือเมื่อเดาผิดและความเชื่อถูกทำลายเพราะเงินไม่ไหลเข้ามาตามที่คาด ก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนก (Panic) ทำให้ธนาคารชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือ cash flow มีปัญหานั่นเอง
สิ่งที่ตามมาคือคนแห่ไปถอนเงินจากธนาคารเพราะกลัวว่าจะไม่ได้เงินฝากคืน นี่คือจุดเริ่มของการ Run หรือ Bank run นั่นคือธนาคาร run out of money แต่เพราะธนาคารแต่ละแห่งมักจะเอาเงินฝากของตัวเองไปลงทุนในธนาคารที่ใหญ่กว่าด้วย จึงทำให้การ run กลายเป็นโดมิโน คือล้มกันทั้งวงการ
หลังจากที่สหรัฐฯ เกิด Panic แบบนี้บ่อยๆ ก็มีการสุมหัวกันในหมู่นายทุนว่า "เราควรจะการทำเงินฝากกองกลางกันนะ เผื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาอีก" ความคิดแบบนี้นี่แหละที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของ Reserve bank
หลังจากที่พวกนายทุนได้ไอเดียแล้ว ก็ไปเสนอรัฐบาลเพื่อให้เป็นเจ้าภาพ แต่กว่ารัฐบาลจะตั้งธนาคารกลางขึ้นมาได้ก็ใช้เวลาไม่น้อย เพราะติดอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ "จะให้ใครเป็นเจ้าของธนาคารกลาง?"
หนึ่ง ระหว่างให้นายทุนเป็นเจ้าภาพบริหารธนาคาร แต่ปัญหาก็คือพวกนายทุนจะมีอิทธิพลต่อกระแสเงินในชาติมากเกินไป
สอง กับการให้รัฐบาลเป็นผู้บริหารธนาคารกลาง แต่ปัญหาคือ รัฐบาลเอาจะเอาเงินกองกลางไปใช้เป็นประโยชน์ทางการเมืองกับตน
หลังจากที่คิดแล้วคิดอีก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลือกแนวทางแบบหลังคือรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ถ่วงดุลกับแนวคิดแบบแรกด้วยให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นได้ แล้วตั้ง Federal Reserve ขึ้นมา
แต่! มันไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลบงการ Fed ได้เลย เพราะแม้รัฐบาลจะเป็น "เจ้าภาพ" แต่กระบวนการดำเนินการของ Fed เป็นอิสระเพราะรัฐสภาออกกฎหมายกำกับไว้
ใช่แล้วครับคำว่า "รัฐบาล" นี้ไม่ได้หมายความแค่ Government หรือ Executive branch แต่รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการด้วย ที่ช่วยกันประคองไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบงการ Fed ได้
ดังนั้น การแต่งตั้งผู้ว่าการและคณะกรรมการบริหาร Fed จึงคาบเกี่ยวทุกหน่วย นั่นคือ ประธานาธิบดีเสนอชื่อมา แล้วรัฐสภาจะพิจารณาว่าควรอนุมัติหรือไม่ ถ้าอนุมัติก็ให้ทำหน้าที่ไป แล้วคอยรายงานต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา อันป็นตัวแทนเสียงประชาชนที่คละเคล้ากัน ไม่ใช่รายงานกับประธานาธิบดี
แค่รายงานนะครับ ไม่รับคำสั่ง ดังนั้นไม่ใช่ว่า "Fed แตะต้องไม่ได้" แต่ซักไซ้ ตั้งคำถามได้ ถามจี้ๆ แบบ กมธ. คองเกรสก็ทำได้ แต่ไปบอกให้ Fed ทำแบบนี้แบบนั้นไม่ได้
และในขณะเดียวกัน Fed ก็ยังยึดโยงกับธนาคารพาณิชย์ด้วยในการกันเงินสำรองไว้ และในบางกรณี สถาบันการเงินถือหุ้นใน Fed บางสาขาด้วย โดยการถือหุ้นนี้มีสิทธิหนึ่งเสียงในการแสดงความเห็น
นี่คือหลักการของ Federal Reserve ที่เป็นแบบอย่างให้ธนาคารกลาง/แบงก์ชาติยุคใหม่ หัวใจสำคัญคือ "ใครจะมายุ่งไม่ได้ ทุกอย่างตัดสินใจโดยมืออาชีพที่แบงก์ชาติ"
ด้วยระบบนี้ มันจะช่วยป้องกันความละโมบของภาคธุรกิจไม่ให้แบงก์ล้ม และยังป้องกันไม่ให้นักการเมืองละโมบจนคิดจะเอาเงินเก็บของบ้านเมืองมาใช้ตามใจชอบ
เราพูดเรื่องอิสรภาพของธนาคารกลางแล้ว ต่อมา แพทองธาร บอกไล่กันมาติดๆ ว่า อิสรภาพของแบงก์ชาตินั้น "จะเป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจค่ะ"
เอาจริงๆ นะครับ คนที่พูดอะไรแบบนี้กำลังสร้างปัญหาให้ประเทศชาติด้วยซ้ำ
เพราะหน้าที่ของแบงก์ชาติไม่ใช่แค่รักษาดุลการเงินของชาติ แต่ยังต้องรักษาภาวะเงินเฟ้อให้ต่ำโดยอาศัยเครื่องมืออันทรงพลัง นั่นคือ "การขึ้น/ลด อัตราดอกเบี้ย" ทั้งแบงก์ชาติอเมริกันและไทยและที่ไหนๆ ก็ทำกันแบบนี้
เงินเฟ้อและเงินฝืดเป็นปัญหาเศรษฐกิจแท้ๆ เลย และขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยและปริมาณเงินในระบบ ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่แบงก์ชาติที่จะต้องปรับสมดุล
ในขณะที่รัฐบาลมีอำนาจในการใช้เงินเพราะเป็นคนเก็บเงินมาจากประชาชน (ภาษี) รวมถึงการไปกู้เขามารูปแบบต่างๆ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไหน "ไม่รับผิดชอบวินัยการคลัง" นั่นคือใช้เงินไม่ยั้งคิด เงินก็จะไหลเข้าระบบมากเกินไป ขณะเดียวกันเพราะไปกู้เขามาและใช้เงินมือเติบจึงทำให้เป็นหนี้ เรียกว่า "หนี้สาธารณะ" เพราะประชาชนทุกคนต้องแบกรับมัน
เมื่อรัฐบาลเอาแต่ใช้เงินแบบนี้ เงินเฟ้อจึงรุนแรงขึ้น ของแพงขึ้น ประชาชนก็ตายสิครับ ดังนั้นแบงก์ชาติจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงไว้ เพื่อลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และลดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นของประชาชนและธุรกิจ ที่เรียกว่า "หนี้ครัวเรือน"
รัฐบาลที่คิดจะแจกเงินแบบไม่ยั้งคิด เพราะเห็นว่า "เงินซื้อใจประชาชนได้" นอกจากจะดูถูกประชาชนแล้ว ยังทำให้ประชาชนต้องอดอยากเพราะข้าวของแพงด้วย
ผมจะยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาล โจ ไบเดน จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 หรือการผ่านกฎหมายกู้ชีพอเมริกัน (American Rescue Plan Act of 2021) โดยอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 พันล้านดอลลาร์
แม้ว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่ก็เป็นหน้าที่ของ Fed ที่จะต้องออกมาเตือนเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ เพราะเงินจะทะลักเข้าระบบอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้แทรกแซงกัน เมื่อถึง Fed เห็นว่าการกระตุ้นได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแล้ว Fed ก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและสูงมาก โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่ได้โวยวายอะไร
รัฐบาลที่รู้งานเขาเป็นกันแบบนี้ครับ คือรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร ไม่ใช่ทำตัวเป็น "พ่อทุกสถาบัน"
อิสรภาพของธนาคารกลางนั้นเป็นเครดิตของประเทศด้วย เพราะเกิดมีใครไม่รู้เรื่องมาบอกว่า "แบงก์ชาติเสรีเกินไปนะ ต้องให้รัฐบาล (ของเรา) ควบคุมซะบ้าง"
ผลจะเป็นยังไงรู้ไหมครับ? นักลงทุนจะกังวลทันทีว่าประเทศนี้ไม่มีขื่อไม่มีแปเรื่องการเงินการคลัง มี "รัฐบาลมาเฟีย" ที่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ทุกวันนี้ปัญหา corruption ในไทยก็รุนแรงจนนักลงทุนกลัวกันพอดูแล้ว ยังจะมาทำให้ระบบการเงินการคลัง courruted เข้าไปอีก แบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ไร้สติสัมปชัญญะเอามากๆ
โปรดทราบนะครับว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ก็บอกแล้วบอกอีกว่าอิสระภาพของแบงก์ชาติสำคัญยิ่งยวด อย่างที่ คริสตาลินา จอร์จีวา (Kristalina Georgieva) ผู้อำนวยการ IMF เขียนบทความเรื่อง "เสริมสร้างความเป็นอิสระของธนาคารกลางเพื่อปกป้องเศรษฐกิจโลก" และบอกว่า "ความเป็นอิสระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเอาชนะการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในระยะยาว แต่ผู้กำหนดนโยบาย (ของธนาคารกลาง) มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับแรงกดดันท่ามกลางการเลือกตั้งในปีนี้"
ไม่เชื่อผมก็เชื่อผู้อำนวยการ IMF สักนิดก็ยังดี เพราะถ้ารัฐบาลไหนคิดจะทำลายอิสรภาพของแบงก์ชาติ มันจะกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งโลกเลยนะครับ ดังนั้น ใครที่คิดแบบนั้นหรือทำแบบนั้น โปรดทราบว่า จะไม่ใช่แค่จะถูกด่าในไทย แต่จะถูกประณามไปทั้งโลกด้วย
IMF ยังชี้ตัวปัญหาว่า เพราะพวกนักการเมืองจะเลือกตั้ง (รวมถึงพวกหาเสียงกลางเทอมเพื่อรักษาคะแนนนิยม) จึงมักจะกดดันให้แบงก์ชาติทำตามที่ตนต้องการ หรือไม่ก็ทำให้แบงก์ชาติเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน เช่น อยากจะกู้เงินมาแจกแต่ทำไม่ได้เพราะแบงก์ชาติไม่ร่วมมือ ก็จะใส่ความแบงก์ชาติว่า "นี่ไงพี่น้อง แบงก์ชาติเขาขวางเรา แทนที่พวกเราจะให้ท่านได้กินดีอยู่ดี"
การอุปโลกน์ศัตรูเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าตัวเองเป็นพระเอก คือลักษณะหนึ่งของการเมืองแบบ "ประชานิยม" หรือ Populism ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจเพราะมันไม่แฟร์และอำพรางเจตนาที่แท้จริง
ดังนั้น เพื่อไม่ให้พี่น้องถูกเขาหลอกด้วยคำลวง ประเทศของเราจึงต้องส่งเสริม Financial literacy หรือความรู้เรื่องการเงินการลงทุน การคลังของเราและของชาติเยอะๆ
ในอนาคตจะไมได้มีมีเหตุการณ์ "ปล้นแบงก์ชาติ" ขึ้นมาอีก
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
ป.ล.
เขียนมายืดยาวแล้ว ยังไม่ถึงครึ่งของที่ แพทองธาร พูดเอาไว้ ซึ่งเต็มไปด้วยความผิดพลาดมากมาย ผมจะขอทิ้งท้ายสักเล็กน้อย
เช่น "นโยบายทางด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด" (อะไรคือนโยบายการคลังด้านเดียว? เกิดมายังไม่เคยได้ยินมาก่อน คุณอุ๊งอิ๊งต้องการจะสื่อถึงอะไรไม่ทราบ)
แล้วที่บอกว่า "และก็ทำให้ประเทศของเรามีหนี้ที่สูงมากขึ้นและก็สูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล" ประทานโทษเถอะครับ การทำงบประมาณขาดดุลมันเป็นวีรกรรมวีรเวรของแต่ละรัฐบาลนะครับ ไม่ใช่ผลงานของแบงก์ชาติ แต่ว่า "หนี้ที่สูงมากขึ้น" นี่คุณอุ๊งอิ๊งหมายถึงหนี้อะไรครับ สาธารณะหรือว่าครัวเรือน? ถ้าหนี้ครัวเรือนก็เกี่ยวกับแบงก์ชาติ ซึ่งขึ้นการและลดดอกเบี้ยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง หากหนี้ส่วนนี้ยิ่งสูงขึ้นแบงก์ชาติมีส่วนรับผิดชอบ แต่หนี้สาธารณะ (ที่เพื่อไทยกำลังจะก่อ) ไม่เกี่ยวกัน จะมาพูดตีขลุมแบบนี้ไม่ได้นะครับ
"ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมที่จะเข้าใจ และก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลยค่ะ"
ประโยคสุดท้ายนี้ฟังแล้วเหมือนอ้อนวอน (ไม่ยอมที่จะเข้าใจ) แต่ก็เหมือนข่มขู่ (ไม่ยอมให้ความร่วมมือ) ซึ่งฟังแล้วไม่ "ไม่น่าฟัง" เพราะคนระดับหัวหน้าพรรครัฐบาล "ไม่ควรพูด" แต่รวมๆ แล้วยังไม่เท่ากับบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถ้าแบงก์ชาติไม่ช่วยล่ะก็ "ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลยค่ะ"
ก็อย่างที่ถามไว้ข้างต้นล่ะครับว่า หนี้อะไร? และแบงก์ชาติไปเกี่ยวอะไรกับหนี้พวกนั้น?
สรุป ทั้งข้อความที่กระทบไปถึงแบงก์ชาติของ แพทองธาร ได้กลายเป็นหายนะทางการเมืองของเพื่อไทยไปแล้ว เรารู้กันว่าคุณเศรษฐา ทวีสิน มักจะ beef คือ มีเรื่องบ่นแบบหาเรื่องกับแบงก์ชาติบ่อยๆ แต่หลังจากกรณี แพทองธาร นายกฯ จะหาเรื่องแบงก์ชาติไม่ได้ง่ายๆ แล้วนะครับ เพราะคนที่จะเข้าข้างท่านคงจะหาไม่ได้แล้ว