ในคืนวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567 กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ซึ่งเป็นกองทัพหลักของอิหร่าน ร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธฮูษีในเยเมน ซึ่งเป็นพันธมิตรกัน เปิดการโจมตีอิสราเอลที่มีชื่อรหัสว่า "ปฏิบัติการสัญญาความจริง" โดยใช้โดรน เรือ และขีปนาวุธ การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การที่อิสราเอลทิ้งระเบิดสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรยเมื่อวันที่ 1 เมษายน นี่เป็นการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงครั้งแรกระหว่างทั้งสองประเทศนับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล
เบื้องหลังสถานการณ์
อิหร่านเป็นพันธมิตรของกลุ่มฮามาสที่โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 และยังเป็นพันธมิตรของกลุ่มฮิซบอลลอฮ์ในเลบานอนที่โจมตีอิสราเอลทางตอนเหนือเพื่อช่วยกลุ่มฮมาส นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมคือกลุ่มฮูษีที่คอยโจมตีเรือของอิสราเอลและชาติตะวันตกที่แล่นผ่านทะลแดงแถบเยเมน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567 อาคารเสริมสถานกงสุลอิหร่านที่อยู่ติดกับสถานทูตอิหร่านในดามัสกัส ประเทศซีเรีย ถูกโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย รวมถึงนายพลจัตวาโมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี ผู้บัญชาการอาวุโสของกองกำลังกุดส์ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ( IRGC) และเจ้าหน้าที่ IRGC อีกเจ็ดคน
ไม่นานหลังจากการโจมตี อิหร่านสาบานว่าจะแก้แค้น โดยมีรายงานบ่งชี้หตุการณ์นี้ว่าอาจนำไปสู่การโจมตีทางอากาศ อิหร่านอ้างว่าอาคารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณสถานทูต ขณะที่อิสราเอลยืนยันว่าเป็นอาคารที่หน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านใช้ และตั้งอยู่นอกบริเวณที่มีรั้วกั้นของสถานทูต หลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศประณามการโจมตีดังกล่าว สหรัฐอเมริกา ปฏิเสธการมีส่วนร่วมหรือความรู้ก่อนหน้านี้
ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ต่างเตือนอิหร่านว่าอย่าโจมตีอิสราเอล เพราะหากมีการโจมตีดังกล่าว อาจนำไปสู่การตอบโต้ทางทหารต่ออิหร่านโดยชาติตะวันตก
สถานการณ์โจมตีล่าสุด
13 เมษายน - อิหร่านส่งโดรนและขีปนาวุธ โจมตีอิสราเอลในตอนค่ำของวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567 ตามเวลาท้องถิ่น การโจมตีดังกล่าวประกอบด้วย "โดรนหลายสิบลำ" ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่อิสราเอลและสหรัฐฯ และขีปนาวุธหลายลูก ตามข้อมูลของสำนักข่าวอิหร่าน IRNA เจ้าหน้าที่อิสราเอลประเมินว่ามีการปล่อยโดรนประมาณ 100 ลำ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าโดรนและขีปนาวุธ 400 ถึง 500 ลำถูกส่งมทจากอิรัก ซีเรีย เลบานอน และเยเมน ซึ่งมีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน แต่ส่วนใหญ่อาวุธส่งมาจากอิหร่าน และมีข้อมูลวิดีโอที่เผยแพร่บางส่วนระบุถึงการใช้โดรน Shahed 136 อิสราเอลเผยว่ามีเป้าหมายทางทหารถูกโจมตี 3 แห่ง ส่วนเครื่องบินรบของอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิสราเอล ยิงโดรนอิหร่านไม่ระบุจำนวนตก ตามข้อมูลของเจ้าอเมริกันและช่อง 12 ของอิสราเอล
14 เมษายน - ช่วงเช้าตรู่ของวันตามเวลาท้องถิ่น มีเสียงระเบิดดังสนั่นในนครเยรูซาเล็มชองอิสราเอล ขณะที่เสียงไซเรนการโจมตีทางอากาศดังไปทั่วอิสราเอล เวสต์แบงค์ และทะเลเดดซี แต่ไม่ทราบว่าเสียงระเบิดดังกล่าวเป็นการสกัดกั้นหรือการโจมตีด้วยขีปนาวุธ และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 รายในอิสราเอล ส่วนขีปนาวุธและโดรน 300 ลูกถูกอิสราเอลสกัดเอาไว้ได้ 99%
สรุปสถานการณ์ ณ วันที่ 14 เมษายน ทูตของอิหร่านประจำสหประชาชาติกล่าวว่าการโจมตีดังกล่าว "ถือว่ายุติได้" กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลรายงานว่าอิหร่านยิงขีปนาวุธมากกว่า 300 ลูก รวมทั้งโดรนประมาณ 170 ลำและขีปนาวุธมากกว่า 120 ลูก โดยส่วนใหญ่ สกัดเอาไว้ได้สำเร็จ ส่วนใหญ่สกัดโดยรบบป้องกัน Arrow 3 และระบบสกัดกั้น David's sling รวมแล้วมีเด็กชาวเบดูอินสัญชาติอิสราเอลคนเดียวเท่นนั้นที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ คนอื่นๆ อีก 31 คนมีอาการป่วยจากความวิตกกังวลหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยโดยไม่ได้ตั้งใจขณะรีบไปยังพื้นที่คุ้มครอง
ต่อมา ทางการจอร์แดนเผยว่าได้สกัดกั้น "วัตถุบินได้" ที่รุกล้ำน่านฟ้าของตนในคืนที่ผ่านมา ขณะที่อิหร่านส่งโดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลจอร์แดนระบุว่า “วัตถุบินบางประเภทที่เข้ามาในน่านฟ้าของเราเมื่อคืนนี้ได้รับการจัดการและถูกโจมตีโดยตรง” โดยเน้นว่ากองทัพจอร์แดน “จะเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ... ไปสู่อันตรายหรือการละเมิดใดๆ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
ต่อมา ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี ของอิหร่าน เตือนอิสราเอลและพันธมิตรเมื่อว่าอย่ากระทำการใดๆ ที่ "ไม่ยั้งคิด" หลังอิหร่านทำการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธต่ออิสราเอล เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสของซีเรียจนมีผู้เสียชีวิต โดย ไรซี กล่าวในแถลงการณ์ว่า “หากระบอบไซออนิสต์ (อิสราเอล) หรือผู้สนับสนุนแสดงพฤติกรรมที่ไม่ยั้งคิด พวกเขาจะได้รับการตอบโต้ที่เด็ดขาดและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
ต่อมา นาโต (NATO) ประณามการโจมตีอิสราเอลของอิหร่านว่าเป็น "การยกระดับ" ความไม่สงบในภูมิภาค และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ โดยโฆษกของนาโต คือ ฟาราห์ ดักห์ลัลลาห์ กล่าว “เราขอประณามการยกระดับ (ความรุนแรง) ของอิหร่านในเวลาชั่วข้ามคืน ขอเรียกร้องให้อดกลั้น และเรากำลังติดตามการพัฒนาอย่างใกล้ชิด จำเป็นอย่างยิ่งที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะต้องไม่ลุกลามจนเกินควบคุม”