แก๊งหลอกโอนเงินจะไม่หมดไป ถ้าประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังปล่อยให้จีนเทากบดาน

แก๊งหลอกโอนเงินจะไม่หมดไป ถ้าประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังปล่อยให้จีนเทากบดาน
นี่คือตอนที่ 1 ของซีรีส์รายงานพิเศษ ตีแผ่ขบวนการอาชญากรอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังใช้เพื่อนบ้านของไทยเป็นแหล่งกบดานเพื่อทำร้ายคนไทย 

เบื้องหลังของเหตุการณ์

  • แต่ละวันในประเทศไทยจะมีข่าวผู้เสียหายถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกโอนเงินจำนวนหลายราย ยังไม่นับผู้ที่ถูกหลอกให้คลิกลิ้งก์ต้องสงสัยที่ส่งมาโดยแก๊งอาชญากรอิเล็กทรอนิกส์ จนกระทั่งเสียเงินมหาศาล ทั้งๆ ที่มีผู้เสียหายมากมายขนาดนี้ แต่ทางการไทยก็ยังจัดกับอาชญากรเหล่านี้ไม่ได้
  • นั่นก็เพราะฐานที่มั่นของแก๊งอาชญากรเหล่านี้ตั้งอยู่ตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง ทำให้การปราบปรามทำได้ลำบาก ยกเว้นกรณีของเมียนมา ซึ่ง 'แก๊งจีนเทา' ถูกกวาดล้างโดยกองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่น โดยเชื่อว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากจีน เนื่องจากจีนมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก
  • อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อาชญากรอิเล็กทรอนิกส์ในเมียนมาหนีการตามล่า แต่ยังมีฐานที่มั่นอีกแห่งหนึ่งที่ยังไม่ถูกกวาดล้างอย่างเด็ดขาด นั่นคือ กัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกบดานของแก๊งเหล่านี้ นั่นคือ ที่่เมืองกำปงโสมหรือสีหนุวิลส์ ที่อยู่ริมอ่าวไทย และเมืองปอยเปต ที่อยู่ติดกับไทย

กัมพูชาเต็มไปด้วยซ่องโจรไซเบอร์
เมื่อเดือนมกราคม 2024 สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เผยแพร่รายงานที่ชื่อ "คาสิโน การฟอกเงิน ธนาคารใต้ดิน และอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้: ภัยคุกคามที่ซ่อนเร้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น" ระบุว่า ผู้ประกอบการคาสิโนได้ย้ายฐานปฏิบัติการให้ลึกเข้าไปในเขตการปกครองที่มีการควบคุมอย่างหลวมๆ และมีความเสี่ยงสูงรวมถึงกัมพูชา, สปป. ลาว และฟิลิปปินส์ รวมถึงพื้นที่ชายแดนหลายแห่งที่ควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธในเมียนมา เพื่อขยายสายธุรกิจของพวกเขาให้รวมถึงการฉ้อโกงทางไซเบอร์"

นั่นหมายความว่า ยิ่งพื้นไหนที่ไม่มีการควบคุมที่เข้มงวด เช่น ที่กัมพูชา จะมีอาชญากรรมไซเบอร์ไปซ่องสุมเป็นจำนวนมาก โดยอาชญากรรมพวกนี้จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจคาสิโน โดยใช้คาสิโนบังหน้าเพื่อทำธุรกิจสีเทานั่นเอง ดังนั้น ยิ่งคาสิโนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ธุรกิจชั่วร้ายที่มาพร้อมๆ กับคาสินก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น จำนวนคาสิโนที่ได้รับใบอนุญาตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 101 แห่งในปี 2564 เป็น 174 แห่งในปี 2566 หลังจากสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 193 แห่งในปี 2562 (เทียบเขตบริหารพิเศษมาเก๊าเหลือเพียง 30 แห่งภายในสิ้นปี 2565 หลังจากที่จีนเริ่มเข้มงวดกับการพนันและการข้ามไปเล่นพนันที่มาเก๊า) 

ที่ไหนบ้างจีนเทาใช้เป็นฐานที่มั่นในกัมพูชา?
จากรายงานของ UNODC พบว่าไม่ใช่แค่คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ใช้กัมพูชาเป็นฐานที่มั่นธุรกิจสีเทา แต่ยังมีคนไต้หวันอีกด้วย และไม่ใช่แค่สีหนวิลส์หรือปอยเปต แต่ที่ไหนทีมีคาสิโนในกัมพูชา ดูเหมือนว่าที่นั่นจะมีซ่องโจรของพวกอาชญากรรมไซเบอร์ซ่อนตัวอยู่ด้วย 

ที่สีหนุวิลล์ ทางการกัมพูชาและจีนเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างจีนเทาที่นั่นมาตั้งแต่ปี 2560  ต่อมา ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกัมพูชาได้ดำเนินการตรวจค้นครอบคลุมบ่อนการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางไซเบอร์ที่ต้องสงสัยหลายแห่งในเมืองสีหนุวิลล์และพนมเปญ และยังพบการคุมขังที่ผิดกฎหมาย การทรมาน และการค้าประเวณี เหยื่อประกอบด้วยคนงานที่มีทักษะจำนวนมากซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ ที่ถูกล่อลวงให้เข้าประเทศผ่านโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย โดยสัญญาว่าจะจ้างงานค่าตอบแทนสูงในคาสิโนและโรงแรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วถูกหลอกและค้ามนุษย์ในสถานที่ที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด 

คนเหล่านี้จะถูกบังคับให้ทำอาชญากรรมโรมานซ์สแกมและการหลอกลวงการลงทุนที่ใช้สกุลเงินดิจิทัล เหยื่อหลายพันรายที่ได้รับการช่วยเหลือภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าว รวมถึงชาวบังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมา ไต้หวัน ไทย รัสเซีย และเวียดนาม เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดโทรศัพท์มือถือมากกว่า 8,000 เครื่อง คอมพิวเตอร์ 804 เครื่อง และยึดหนังสือเดินทางและอาวุธจำนวนมาก

รายได้มหาศาลเข้าสู่กระเป๋าของบางคนในกัมพูชา
รายงานของ UNODC ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มอาชญากรจำนวนมากขึ้นได้จัดตั้งปฏิบัติการฉ้อโกงทางอาญาทางไซเบอร์อย่างกว้างขวางในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่ามีผู้ถูกกลุ่มอาชญากรไซเบอร์พวกนี้ควบคุมตัวเอาไว้มากกว่า 220,000 แล้วบังคับให้ทำกิจกรรมการฉ้อโกงทางไซเบอร์และการหลอกลวงต่างๆ โดยมีฐานปฏิบัติการในกัมพูชาและเมียนมา

ธุรกิจหลอกหลวงประชาชนที่ทำโดยการจับคนมาทำงานทาสนี้สร้างผลกำไรมหาศาล รายงานระบุโดยไม่เอ่ยชื่อประเทศว่า "ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงประเทศหนึ่งประเทศเดียว การประมาณการชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการฉ้อโกงทางไซเบอร์สร้างรายได้ประมาณ 300 ถึง 400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันต่อคนงานหนึ่งคน โดยผ่านคนงานประมาณ 500,000 คน อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลอื่นประมาณการว่าจำนวน (แรงงาน) ดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 80,000 ถึง 100,000 คน จากข้อมูลนี้ แม้แต่ด้วยการประมาณการที่ต่ำที่สุด (ธุรกิจนี้) จะให้ผลตอบแทนคร่าวๆ ระหว่าง 7,5000 ถึง 12,5000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศที่ต่ำกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564" 

รายงานนี้ไม่เอ่ยชื่อประเทศ แต่ประเทศที่มี GDP ที่ต่ำกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หรือจากบางข้อมูลประเมินว่าว่าจะมีมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 คือ ประเทศกัมพูชา

อีกข้อมูลที่น่าตกใจก็คือ ในประเทศกัมพูชาเพียงประเทศเดียว รัฐบาลอินโดนีเซียรายงานว่าได้พาตัวชาวอินโดนีเซียจำนวน 1,100 คนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกจ้างงานโดยบริษัทฉ้อโกงทางไซเบอร์กลับประเทศในปี 2566 แต่นี่คือตัวเลขที่จับต้องได้ไม่กี่ตัวเลข เพราะถ้าจะนับรวมทั้งภูมิภาคยังไม่มีความขัดเจนว่ามีผู้คนมากแค่ไหนที่ถูกค้ามนุษย์ไปเป็นแรงงานทาสเพื่อแก๊งต้มตุ๋นไซเบอร์ 

แต่กระนั้นก็ตาม ตัวเลขพวกนี้สะท้อนว่ากัมพูชาเป็นแดนสวรรค์ของแก๊งจีนเทาที่ใช้ธุรกิจคอลเซนเตอร์ลหอกลวงผู้คนจนสร้างเม็ดเงินมหาศาล

คำถามก็คือ ทำไมผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของกัมพูชาถึงปล่อยให้คนพวกนี้ทำมาหากินอยู่ได้? 

Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

TAGS: #จีนเทา #แก๊งคอลเซนเตอร์