เปิดที่มาของวิกฤตในสหรัฐฯ เมื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลกทะลักชายแดนตอนใต้เพื่อหนีเข้าประเทศ

เปิดที่มาของวิกฤตในสหรัฐฯ เมื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลกทะลักชายแดนตอนใต้เพื่อหนีเข้าประเทศ
เปิดเส้นทางไปตายเอาดาบหน้า เมื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลกแห่กันมาที่ชายแดนตอนใต้ของสหรัฐฯ 

ขณะที่การข่มเหงทางการเมืองและเชื้อชาติเลวร้ายลงยิ่งขึ้นในมอริเตเนียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา แบร์รีก็มองหาทางหนี

จากการสอบถามกลุ่มสนทนาบนโซเชียลมีเดียเพื่อหาวิธีในการอพยพย้ายถิ่นฐานอย่างลับๆ ในไม่ช้า เขาก็พบวิธี ในขณะที่คนอื่นๆ เอาชีวิตไปเสี่ยงกับการเดินทางทางทะเลที่ใช้เวลายาวนานในเรือที่มีรูรั่วอยู่เต็มไปหมดเพื่อมุ่งหน้าไปยุโรป แต่เขาพบว่ายุโรปไม่ใช่ทางเลือกเดียว ยังมีการลักลอบเข้าสหรัฐอเมริกา โดยผ่านทางเม็กซิโก

การเดินทางของแบร์รี (ซึ่งเขาขอให้ระบุชื่อด้วยชื่อแรกเท่านั้น) ใช้เส้นทางทางบกจากเม็กซิโกในเดือนกรกฎาคม สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นที่กำลังเกิดขึ้นกับชายแดนตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่ตอนนี้กลายเป็นปลายทางสากลสำหรับผู้ขอลี้ภัยจากดินแดนอื่นๆ ด้วย แทนที่จะมีแค่เพียงผู้อพยพจากประเทศละตินอเมริกาเหมือนแต่ก่อน 

แบร์รีไม่เพียงแต่ตัดยุโรปออกไปเท่านั้น แต่ยังไม่ได้ลักลอบเข้าเมืองโดยผ่านเมืองชายฝั่งที่มีผู้อพยพหนาของสหรัฐอเมริกาด้วยซึ่งตามปกติเป็นจุดที่ผู้อพยพมักจะใช้กัน หลังจากใช้เส้นทางชายแดนตอนใต้แล้ว เขาเดินทางไปยังโคลัมบัส เมืองหลวงทางตะวันตกตอนกลางของรัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นบ้านของผู้พลัดถิ่นชาวมอริเตเนียที่กำลังขยายตัวโตอย่างรวดเร็ว

“ผมแค่อยากได้เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการแสดงออกของผมกลับคืนมา” แบร์รีอดีตพนักงานองค์กรพัฒนาเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าว โดยอ้างถึงการปราบปรามนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงเมื่อปีที่แล้วโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศมอริเตเนีย ทางแอฟริกาตะวันตกที่ขึ้นชื่อเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองผิวสี

ในขณะที่ประเทศร่ำรวยพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคของการอพยพย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก ทางการประเทศต่างๆ ก็มักมุ่งจับตาไปที่เส้นทางทะเลที่เสี่ยงอันตรายจากแอฟริกาไปยังยุโรป และกระแสผู้อพจากประเทศในละตินอเมริกาที่ยากจน (เช่น เม็กซิโก ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์) มุ่งขึ้นเหนือมายังสหรัฐฯ 

แต่จากการข้ามแดนเกือบ 2.5 ล้านครั้งซึ่งบันทึกโดยกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2023 พบว่ามีผู้คน 1.26 ล้านคนที่มาจากนอกประเทศต้นทางตามปกติอย่างเม็กซิโก ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์ 

นั่นหมายความว่ามีพลเมืองจากประเทศ "อื่นๆ" หนีเข้าสหรัฐฯ มากขึ้นถึง  234% จากปี 2021 หรือประมาณ 378,000 คนที่ข้ามชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ 

โดยเฉพาะชาวแอฟริกัน มีการข้ามแดนมากกว่า 58,000 ครั้งถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนในปี 2023  ซึ่งเพิ่มขึ้น 346% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ประมาณ 15,000 คนในจำนวนนี้เป็นชาวมอริเตเนียเช่นเดียวกับแบร์รี ซึ่งเป็นตัวเลขชาวแอฟริกันมากกว่าปีที่แล้ว ที่ใมีคนจากทั่วทั้งทวีปแอฟริกาที่เดินทางข้ามทวีปมายังสหรัฐฯ 13,000 คน

เส้นทาง 'กึ่งถูกกฎหมาย' ผ่านตุรกี 
ผู้คนนับหมื่นจากแดนไกลอย่างจีน อินเดีย และรัสเซีย ที่มาถึงบริเวณชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ คนเหล่านี้ไม่มีแรงผลักดันที่เฉพาะเจาะจงในการพยายามลักลอบเข้าเมือง 

อย่างน้อยการอพยพย้ายถิ่นส่วนใหญ่ก็ถูกกฎหมายในตอนแรก เช่น แบร์รีบินไปตุรกีก่อน จากนั้นจึงบินไปอเมริกาใต้ ก่อนที่จะออกเดินทางทางบกมุ่งสู่ทางเหนือไปยังสหรัฐฯ เส้นทางเหล่านี้ได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียและมีการปรับปรังแก้ไขเส้นทางอยู่ตลอดเวลา และตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชายแดนสหรัฐฯ เส้นทางพวกนี้กำหนดโดย "ตัวแทนการท่องเที่ยวที่อ้างว่าทำถูกกฎหมาย" ในแอฟริกาตะวันตก

ในเดือนพฤศจิกายน สหรัฐฯ คว่ำบาตรผู้ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำชาวเม็กซิกันที่ขนส่งชาวคิวบาและชาวเฮติไปยังนิการากัว ซึ่งมีนโยบายวีซ่าที่หย่อนยาน ทำให้ผู้คนมักจะเข้าไปที่นั่นก่อนจะมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกาทางบก

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ความพยายามของยุโรปในการปิดกั้นเส้นทางข้ามทะเลทรายซาฮาราและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนหน่วยยามชายฝั่งลิเบียเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพในทะเล อาจผลักดันผู้คนให้มุ่งหน้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น

“คุณได้เห็นวิธีที่พวกเขาลาดตระเวนในพื้นที่นั้นแล้ว และตอนนี้ผู้คนต่างก็ใช้เส้นทางที่แตกต่างออกไป” ดาอูดา เซเซย์ ผู้อำนวยการเครือข่ายระดับชาติของ African Communities Together องค์กร  ที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐฯ กล่าว

'อยากมาถูกกฎหมาย' 
ที่เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ มีชุมชนชาวมอริเตเนียมาเป็นเวลาสองทศวรรษแล้ว แต่เดิมพวกเขาประกอบด้วยผู้ลี้ภัย เช่นเดียวกับครอบครัวของ ฮูเลเย ทิอัม  ประธานเครือข่ายมอริเตเนียเพื่อสิทธิมนุษยชน

เขาบอกกับ AFP ว่าจำนวนประชากรชาวมอริเตเนียในเมืองนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จาก 4,000 คนเป็น 7,000 คนเป็น 8,000 คน

“คุณไม่มีทางรู้ว่าพวกเขาจะมาที่นี่ จนกว่าพวกเขาจะมาถึงแล้ว” ฮูเลเย  ชายวัย 42 ปี กล่าว ซึ่งบางครั้งเขาต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับข้อความเสียง 25 ข้อความจากผู้ที่ถามคำถามเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานบน What'sApp

ในขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นฐานกำลังปั่นป่วนการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ มากขึ้นก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2024

หน่วยพิทักษ์แห่งชาติเท็กซัสและหน่วยตระเวนชายแดนของรัฐบาลกลางกำลังทะเลาะกันเรื่องการควบคุมชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก และโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันที่กำลังมาแรง กำลังสร้างความหวาดกลัวเรื่องการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นหัวใจสำคัญของการรณรงค์หาเสียงที่เน้นความเป็นฝ่ายขวาสุดโต่งของเขา

อิบราฮิมา ซึ่งเป็นชาวมอริเตเนียอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาถึงเมืองซินซินนาติในรัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้พลัดถิ่นขนาดใหญ่และขณะนี้กำลังเติบโต กล่าวว่าเขา "ต้องการมาอย่างถูกกฎหมาย"

ชายหนุ่มวัย 38 ปีรายนี้ค้นหาทุนไปศึกษาต่อที่ยุโรปแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเขาถูกจับได้ในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่บ้าน และบอกว่าเขาถูกจับกุมและทรมาน

เขามีพี่ชายที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ อยู่แล้ว แต่แทนที่จะผ่านกระบวนการอันยาวนานในการร้บผู้อพยพตามปกติตามขั้นตอนของกฎหมาย เขาเลือกที่จะเดินทางข้ามผ่านเม็กซิโกและขอลี้ภัย

“ผมต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของอเมริกา” อิบราฮิมากล่าว

เขากำลังรอใบอนุญาตทำงา  ในขณะที่การยื่นคำร้องขอลี้ภัยของเขายังไม่คืบหน้าไปไหน ต้องติดอยู่ในกระบวนการที่ชะงักงัน

สำหรับตอนนี้ "เราไม่มีสิทธิ์ทำงาน...แต่เราก็ยอมรับ"

Text - Agence France-Presse
Photo by Patrick T. Fallon / AFP

UPDATE

  • เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พรรครีพับลิกันได้ถอดถอนรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ อเลฮานโดร มายอร์กาส จากเหตุผู้อพยพจำนวนมากข้ามชายแดนทางใต้อย่างผิดกฎหมาย นับเป็นสถานการณ์ที่ดุเดือดที่สุดนับตั้งแต่พรรครีพับลิกกันทำการโจมตีเจ้าหน้าที่จากพรรคเดโมแครตรายนี้เป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากวิกฤตผู้อพยพ
  • สภาผู้แทนราษฎรที่นำโดยพรรครีพับลิกันผ่านสองมติที่กล่าวหาว่า มายอร์กาส “จงใจปฏิเสธอย่างเป็นระบบ” ที่จะบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง และ “ละเมิดความไว้วางใจของสาธารณะ” แต่แม้ว่าจะถูกมติถอดถอนในสภานี้ แต่เชื่อว่าเขาจะพ้นผิดจากการลงมติโดยวุฒิสภาที่นำโดยพรรคเดโมแครต
  • ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ตำหนิสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรครีพับลิกันที่ถอดถอน อเลฮานโดร มายอร์กัส รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ โดยเขากล่าวว่าเป็นตัวอย่างที่ "โจ่งแจ้ง" ของการเมืองแบบแบ่งพรรคพวกที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ
  • “ประวัติศาสตร์จะไม่ปราณีต่อสภาผู้แทนราษฎรสำหรับการกระทำที่โจ่งแจ้งที่จะแบ่งพรรคแบ่งพรรคอย่างไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งเป้าไปที่ข้าราชการผู้มีเกียรติ เพื่อเล่นเกมการเมืองเล็กๆ น้อยๆ” ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตระบุในแถลงการณ์
TAGS: #สหรัฐ #สงครามกลางเมืองสหรัฐ