แค่โหมโรงเลือกตั้งใหม่ ก็วิ่งวุ่นกันทั้งวงการ จนเกิดศัพท์ฮิตการเมืองที่ควรไปทำความรู้จักกันไว้ ว่ามีคำอะไรเป็นศัพท์ยอดฮิตติดปากกันบ้าง
การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ พรรคการเมืองต่างเตรียมพร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งกันอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ได้ทุ่มสรรพกำลังหวังกวาดส.ส.ให้มากที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายขั้นสูงสุดนั้นคือการได้เข้าสู่อำนาจรัฐ โดยการได้เป็นรัฐบาล
การแข่งขันทางการเมืองที่ดุเดือดในเวลานี้จึงมักจะมีคำศัพท์ทางการเมืองใหม่บ้างเก่าบ้างที่จะถูกพูดถึงบ่อยครั้งในระหว่างการเลือกตั้ง และในปี2566 นี้ มีคำศัพท์ฮิตทางการเมืองที่เริ่มพูดถึงกันมากแล้วมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้
อันแรกเกี่ยวกับผู้สมัคร โดยมีการแบ่งเกรดผู้สมัครส.ส. เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการดูแลของพรรคการเมือง ซึ่งจะมีคำว่า "ส.ส.เกรดเอ" หมายถึง ส.ส.ปัจจุบันที่เป็นตัวเต็งมีโอกาสจะได้รับการเลือกตั้งสูง ซึ่งทางพรรคจะอุดหนุนดูแลดีเป็นพิเศษ
"ผู้สมัครส.ส.เกรดบี" ส่วนใหญ่จะเป็นอดีตส.ส. หรืออดีตผู้สมัครส.ส.สอบตกคะแนนดีเกือบได้เป็นส.ส.รวมถึง ลูก หลาน ญาติพี่น้อง ส.ส.ตระกูลดัง อีกทั้งยังรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นดัง อย่าง นายกฯอบจ.มีโอกาสชนะเลือกตั้ง 60 %-70 % ซึ่งทางพรรคจะอุดหนุนเงินเพื่อใช้ในการเลือกตั้งน้อยกว่าผู้สมัครเกรดเอ
"ผู้สมัครส.ส.เกรดซี" ส่วนใหญ่ ผู้สมัครส.ส.หน้าใหม่ แต่มีหน่วยก้านดีมีการศึกษาลูกหลานคนดัง และคนดังในพื้นที่นักการท้องถิ่น อาทิ ประธานสภาจังหวัด สจ.นายเทศมนตรี นายกอบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่มากบารมี พรรคอุดหนุนเงินในระดับหนึ่ง ซึ่งผู้สมัครส.ส.ในทุกระดับทางพรรคจะทำโพลวัดความนิยมเป็นระยะ
"แกนนำหลัก แกนนำรอง" เป็นลำดับชั้นหัวคะแนนที่พรรคการเมืองไปจัดตั้ง ซึ่งถ้าเป็นคนใกล้ชิดผู้สมัครถือเป็นแกนนำหลัก ส่วนแกนนำรองส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายของแกนนำหลักที่จะลงไปอยู่ในชั้นปฏิบัติการการหาเสียงหาคะแนน
"ฝากเลี้ยง" เป็นกลยุทธ์ของแกนนำกลุ่มการเมืองซึ่งได้ฝากส.ส.หรือผู้สมัครส.ส.ของตนเองไปอยู่กับอีกพรรคหนึ่ง เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง คือขอให้ลูกน้องหรือเด็กในคาถาได้เป็นส.ส.ก่อนให้มีที่ยืนก่อน โดยแยกกันไปเติบโตก่อนแต่ใจยังผูกพันกัน ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุความจำเป็นทางพื้นที่เพราะขืนลงสู้กับพรรคที่มีกระแสแรงอาจจะต้องเสียเงินมากและเสี่ยงสอบตกอีก สู้ย้ายพรรคไปลงกับพรรคที่มีกระแสดีโอกาสชนะโดยไม่เจ็บตัวมีมากกว่า และถ้าได้เป็นส.ส.แล้วสามารถโหวตหรือออกเสียงในสภา ตามลูกพี่สั่งได้ แม้อาจจะถูกประนามว่าเป็น "งูเห่า"แต่ก็ไม่สิ้นสภาพส.ส.
"งูเห่า" คือ ส.ส.แปรพักต์ ย้ายขั้ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีส.ส.ในลักษณะดังกล่าวหลายคนได้แหกมติพรรคของตัวเอง และได้ย้ายพรรคหลังใกล้หมดวาระสภา
"ยิง"หมายถึงศัพท์ในการซื้อเสียง ซึ่งมีการพูดกันในหมู่นักการเมืองและหัวคะแนนคนสำคัญว่า พื้นที่นี้พื้นที่นั้นต้องยิงให้เข้าถึงจะชนะเลือกตั้ง หรือสอบตกเพราะยิงไม่เข้า หรือชนะเลือกตั้งเพราะยิงแม่น
"พื้นที่สู้"เป็นการนิยามของพรรคการเมืองที่วางแผนทุ่มเงินสู้เต็มที่ในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งเพื่อชัยชนะ อาทิ มีการพูดว่าในพื้นที่อีสาน พื้นที่สู้ของพรรคมี 20 เขต แต่หวัง 8 เขต
"กิโล"หน่วยเรียกแทนเงิน 1ล้านบาทซึ่งมีที่มาจำนวนแบงค์พันน้ำหนัก1กิโลกรัมเท่ากับ1ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นักการเมืองมักพูดกันว่าพรรคนั้นพรรคนี้แจกเงินครึ่งกิโล หรือรับมา 1โล หรือ 5กิโล
"กล้วย" เป็นการใช้เรียกแทนการแจกเงินหรือปัจจัยรางวัลเพื่อจูงใจ ให้ส.ส.หรือนักการเมืองโหวตให้ หรือมาอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้มีอำนาจ โดยจะมีการให้ผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีการแจกกล้วยกันมาก
"อมเงิน"เกิดขึ้นส่วนในช่วงเลือกตั้งที่ ส.ส.หรือหัวคะแนนได้รับเงินไปแล้วจากพรรคหรือจากผู้สมัครส.ส.ไม่ยอมจ่ายไปยังเครือข่ายหรือสมาชิก หรือมีบางกรณีแกนนำพรรคบางคนไปรับเงินจากพรรคแล้วจ่ายให้ลูกพรรคไม่ครบตามจำนวนโดยเก็บเข้ากระเป๋าตัวเองส่วนเรียกการกระทำลักษณะนี้ว่า "อมเงิน"
ทั้งหมดนี้เป็นคำศัพท์ทางการเมืองเพียงส่วนเท่านั้นซึ่งกว่าจะเลือกตั้งเสร็จอาจมีคำศัพท์ใหม่มาให้ได้คุ้นหูกันอีกเพียบ