GC เปิดเกมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงกลั่นชีวภาพครบวงจร

GC เปิดเกมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงกลั่นชีวภาพครบวงจร
GC รุกตลาดน้ำมัน SAF ป้อนพันธมิตรสายการบิน ต่อยอดผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ

นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยถึง โครงการโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ครบวงจร  เป็นนวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง โดยพัฒนาเทคโนโลยีของโรงกลั่นชีวภาพโดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ร่วมกับน้ำมันดิบสู่การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF)  SAF เชิงพาณิชย์โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่

ทั้งนี้เฟสแรกมีกำลังการผลิต 6 ล้านลิตรต่อปี และจะขยายเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,000 ตันต่อปีในระยะแรก และ 60,000 ตันต่อปีในระยะที่สอง หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการแปรรูปวัสดุชีวภาพ แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินไทยจะสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ปัจจุบันได้เริ่มผลิต SAF เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยวิธีการผลิตร่วมแบบ Co-processing เปลี่ยนโครงสร้างน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็นพลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอย่างยั่งยืน พร้อมกับได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification – Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบิน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80%* เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป

ขณะเดียวกันได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ที่มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายประเทศจึงออกกฎหมายและมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ทำให้แนวโน้มการตลาดของ SAF เติบโตอย่างรวดเร็ว GC ได้สร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจผ่าน 3 จุดแข็งหลัก ได้แก่ 1. โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยรองรับการผลิตเชิงพาณิชย์  2. บุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านโรงกลั่นน้ำมัน

 และ3. การบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำน้ำมันพืชใช้แล้วภายในประเทศมาผลิตเป็น SAF เชิงพาณิชย์  โดยมีกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน  4  ประเภทประกอบด้วย

ICAO CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation): เป็นโครงการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน โดยมีข้อกำหนดให้สายการบินใช้ SAF เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ASTM D7566: มาตรฐานสากลที่กำหนดคุณสมบัติของ SAF ซึ่งสามารถผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิมได้ถึง 50%

EU Renewable Energy Directive (RED II): กำหนดให้ SAF เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบินของสหภาพยุโรป

FAA and EASA Regulations: องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) มีแนวทางในการส่งเสริมการใช้ SAF และกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงดังกล่าว

นอกจากนี้ GC ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอีกกว่า 10 ชนิด สะท้อนการสร้าง "ความแตกต่างอย่างยั่งยืน" ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนากระบวนการ Co-processing ที่สามารถใช้งานร่วมกับหน่วยกลั่นเดิมได้ นำน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ GC ได้เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Bio-Propylene สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติกแข็ง ของเล่นเด็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ Bio-BD (Bio-Butadiene) ใช้ในยางรถยนต์และรองเท้ากีฬา และ Bio-PTA (Bio-Purified Terephthalic Acid) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET โดยขณะนี้มีตลาดปลายทางในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตามลำดับ

GC ยังต่อยอด Bio-Naphtha ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก Bio-PE (Bio-Polyethylene) สำหรับผลิตถุงพลาสติก ฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์อาหาร และ Bio-MEG (Bio-Monoethylene Glycol) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET อีกด้วย อีกทั้งโรงกลั่นชีวภาพของ GC มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและของเสียในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณสมบัติเทียบเท่าวัสดุจากฟอสซิล แต่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญช่วยลดปัญหาของเสีย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายของ GC ในการเป็นผู้นำธุรกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของ GC ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลด้านความยั่งยืนอย่าง ISCC PLUS (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนในกระบวนการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ ช่วยให้แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าปลายทางสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมั่นใจ

นายทศพร   กล่าวว่า สำหรับแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน SAF จาก  6 ล้านลิตรเป็น 24 ล้านลิตรต่อปี หรือพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Polymers/Chemicals) จำนวน 80,000 ตันต่อปี  ขณะนี้ขอติดตามสถานการณ์ของตลาด SAF และการแข่งขันของอุตสาหกรรมประเภทนี้ก่อน เพราะความต้องการใช้ SAF ยังอยู่ในภาคสมัครใจของสายการบิน ขณะที่ราคาขาย SAF ในตลาดสิงคโปร์ยังสูงกว่าน้ำมัน Jet A-1 ประมาณ 2 เท่า

อย่างไรก็ตามด้านการจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตน้ำมัน SAF จะใช้จากน้ำมันพืชใช้แล้วในประเทศ  แต่ถ้าในอนาคตมีความต้องการมากขึ้นก็จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นสิงคโปร์ ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

พันธมิตรเชิงกลยุทธ์: ความร่วมมือระหว่าง GC กับพันธมิตรสำคัญอย่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR การบินไทยหรือ TG และสายการบินบางกอก แอร์เวย์ ในการนำ SAF ไปใช้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนการขยายการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายฐานการตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

 

 

 

TAGS: #GC #SAF #ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ