มหาสมุทรทั่วโลกกำลัง “มืดลง” ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่อาจเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศครั้งใหญ่ฃ

มหาสมุทรทั่วโลกกำลัง “มืดลง” ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่อาจเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศครั้งใหญ่ฃ
“มหาสมุทรมืด” สัญญาณเตือนโลก! สีทะเลเปลี่ยนจากผลโลกร้อน เสี่ยงกระทบระบบนิเวศและความมั่นคงอาหารในอนาคต

นักวิจัยพบว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มหาสมุทรกว่า 21% ของโลก หรือประมาณ 75 ล้านตารางกิโลเมตร มีสีที่เข้มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในบริเวณกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม มหาสมุทรอาร์กติก แอนตาร์กติกา และทะเลปิดอย่างทะเลบอลติก

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Ocean Darkening หรือ “มหาสมุทรมืด” ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณ Photic Zone หรือชั้นของน้ำทะเลที่แสงส่องถึง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเลกว่า 90% ของทั้งระบบนิเวศ

ทำไมทะเลถึงมืดลง?
ปัจจัยหลักมาจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะ:

ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการชะล้างตะกอนและสารอาหารจากแผ่นดินลงทะเล ส่งผลให้สาหร่ายและแพลงก์ตอนบางชนิดเจริญเติบโตมากผิดปกติ (Algae Bloom) ซึ่งทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี

อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ชั้นผิวน้ำร้อนขึ้นและรบกวนการแพร่กระจายของแสงลงสู่ชั้นลึก ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่ต้องการแสง เช่น แพลงก์ตอนพืช สังเคราะห์แสงได้น้อยลงและลดจำนวนลง

ผลกระทบต่อระบบนิเวศ
สิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งแสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์ เช่น สัตว์ที่หากินในช่วงกลางคืน อาจเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ขึ้นมาใกล้ผิวน้ำมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงอาหาร

แพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร ลดจำนวนลง ทำให้สัตว์ที่กินแพลงก์ตอนได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เมื่อห่วงโซ่อาหารถูกรบกวน ระบบนิเวศทางทะเลก็อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ง่าย และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของมนุษย์ในระยะยาว

แล้วเราจะช่วยกันได้อย่างไร?
ปรากฏการณ์นี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการดูแลระบบนิเวศทางทะเล และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น:

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรและการใช้ที่ดินเพื่อลดการชะล้างสารอาหารลงทะเล
  • สนับสนุนงานวิจัยและการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลอย่างต่อเนื่อง

การรักษาทะเลไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่คือภารกิจร่วมกันของพวกเราทุกคน 

TAGS: #ClimateChange #SaveTheOcean #WeAreGreeners